Demopædia

พจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษา

ฉบับปรับให้เป็นเอกภาพ ปรับปรุงครั้งที่สอง ภาษาไทย
http://th-ii.demopaedia.org
เอกสารนี้สร้างขึ้นเมื่อ 04/08/2021
การใช้เนื้อหาทั้งหมดเป็นไปตามเงื่อนไข Attribution-Share Alike 3.0 Unported (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0/)

สารบัญ

คำนำ

อารัมภบทต่อพจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษาพิมพ์ครั้งที่สอง ฉบับปรับให้เป็นเอกภาพและนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์

การปรับพจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษาให้เป็นเอกภาพ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้ดูจะเป็นเรื่องจำเป็นเมื่อนำพจนานุกรมนี้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แทนการพิมพ์บนกระดาษ ฐานข้อมูลของดีโมพีเดียได้แสดงว่ามีศัพท์สำคัญหลุดหายไปจากฉบับที่พิมพ์ในภาษาต่าง ๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 (ภาษาฝรั่งเศส 1981 อังกฤษ 1982 สเปนในปี 1985 และเยอรมัน ในปี 1987) ในปี 1988 ฉบับภาษาอะราบิคและฉบับสามภาษา อังกฤษ-ฝรั่งเศส-อะราบิค ได้ปิดช่องว่างบางส่วนด้วยการเปรียบเทียบการแปลภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ก็ไม่ได้แปลศัพท์ใหม่อีก 92 คำที่พิมพ์ในฉบับภาษาเยอรมัน ฉบับภาษาจีน (1994) ภาษาญี่ปุ่น (1994) ภาษาเช็ค (2005) ที่แปลจากภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับฉบับที่เผยแพร่อยู่เพียงบนเว็บไซต์เป็นภาษารัสเซีย (2008) ปอร์ตุเกส (2008) และโปลิช (2010) ในอีกด้านหนึ่ง ฉบับภาษาอิตาเลียนที่พิมพ์บนเว็บไซต์ในปี 2010 คล้อยตามไปกับฉบับภาษาฝรั่งเศส ขออธิบายด้วยตัวอย่างต่อไปนี้ ผลที่ตามมาของศัพท์ที่ไม่ได้แปลและความสำคัญของฉบับที่ปรับให้เป็นเอกภาพแล้ว : ศัพท์ภาษาฝรั่งเศสว่า “Nourrisson” ซึ่งยังคงเก็บไว้โดยคณะกรรมาธิการบัญญัติศัพท์ของสหประชาชาติ (Committee on International Demographic Terminology) ในทศวรรษที่ 1980 และซึ่งปรากฏอยู่ในทุกภาษาของพจนานุกรมพหุภาษาฉบับพิมพ์ครั้งแรกไม่ได้ปรากฏอยู่ในฉบับภาษาอังกฤษฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2

ดังนั้นพจนานุกรมฉบับปรับให้เป็นเอกภาพที่กำลังจะพิมพ์ออกมานี้จึงใส่ศัพท์คำนี้เข้าไปในทุกภาษา nourrisson ในภาษาฝรั่งเศส lactante ในภาษาสเปน Brustkind ในภาษาเยอรมัน kojenec ในภาษาเช็ค lattante ในภาษาอิตาเลียน ฯลฯ หรือถ้าสามัญนามไม่มีอยู่ในภาษาใดภาษาหนึ่ง เช่นในภาษาอังกฤษ ก็จะต้องมีวลีที่จะอธิบายศัพท์คำนั้น เด็กที่ยังอยู่กับอกแม่ (child at the breast) ใช้ในฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ครั้งแรกของปี 1958 และถูกใส่เข้าไปอีกครั้งในฉบับปรับให้เป็นเอกภาพ ซึ่งทำให้ฉบับภาษาใหม่ ๆ ที่แปลจากภาษาอังกฤษสามารถเก็บคำที่น่ารักนี้ไว้ ถ้าเหล่าเบบี้รุ่นนั้นทั้งหลายไม่รังเกียจคำนี้ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนผ่านทางประชากร !

ในการแปลพจนานุกรมให้เป็นภาษาเอเซียใหม่อีกหลายภาษากำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเนื่องจากความสำคัญทางประชากรของทวีปนี้ การปรับให้เป็นเอกภาพเป็นเรื่องที่ต้องทำก่อนที่จะดำเนินการแปลครั้งใหม่ การปรับให้เป็นเอกภาพดังกล่าวเป็นกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่เกี่ยวกับทุกภาษา ที่ได้พิมพ์มาก่อนหน้าแล้ว และฉบับภาษาฝรั่งเศสที่ได้ ปรับให้เป็นเอกภาพ ฉบับแรกได้พิมพ์เผยแพร่ในการประชุมประจำปีของสมาคมสถิติอิตาเลียนครั้งที่ 46 ในเดือนมิถุนายน ที่กรุงโรม ฉบับภาษาฝรั่งเศสปิดช่องว่างเพราะพจนานุกรมฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ของปี 1981 ที่เหลือชุดสุดท้ายได้จำหน่ายไปในราคาสัญลักษณ์เพียง 1€ ที่การประชุม IUSSP ณ เมืองตูร์ (Tours) (2005) พจนานุกรมฉบับภาษาอิตาเลียนก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงเช่นกันเพราะฉบับพิมพ์ครั้งแรกในปี 1959 แล้วไม่เคยมีการปรับปรุงอีกเลย

พจนานุกรมฉบับปรับให้ผสานกลมกลืนน่าจะพิมพ์เสร็จในไม่ช้า หรือต่อไปในวันหน้าใน 12 ภาษาที่เคยพิมพ์เป็นหนังสือ และออนไลน์ในฉบับดั้งเดิม เช่นเดียวกับฉบับภาษาเอเซียใหม่อีก 6 ภาษา

ถึงแม้ว่าจะเป็นที่น่าเสียดายที่ฉบับปรับให้ผสานกลมกลืนนี้จะไม่ใช่ฉบับใหม่ ซึ่งทำให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยศัพท์ใหม่ ๆ ของประชากรศาสตร์ในสมัยปัจจุบัน อย่างเช่นคำว่า อนามัยเจริญพันธุ์ ความพิการและการพึ่งพา การย้ายถิ่นระหว่างประเทศ หน้าต่างทางประชากรศาสตร์ ประชากรลดลง การเกษียณ ฯลฯ แต่การเปรียบเทียบระหว่างฉบับพิมพ์ทั้งสองครั้งได้แสดงให้เราเห็นว่า ศัพท์สำคัญ ๆ ในศาสตร์เกี่ยวกับประชากรทั้งหมดได้มีอยู่ในฉบับพิมพ์ครั้งแรกแล้ว คณะกรรมาธิการบัญญัติศัพท์ของสหประชาชาติในช่วงทศวรรษที่ 1950 ได้เลือกสรรศัพท์ต่าง ๆ เหล่านั้นมาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อนำมาให้คำนิยามในสาขาของเราและส่วนใหญ่นิยามเหล่านั้นก็ยังถูกต้อง

เราอาจเสียดายที่ไม่ได้เอาคำที่เลิกใช้กันแล้วหรือแม้กระทั่งคำที่ไม่เหมาะสมออกไป เอเตียง แวน เดอวอลล์ (Etienne van de Walle) ผู้เขียนหลักของพจนานุกรมฉบับภาษาอังกฤษครั้งที่สองของปี 1982 ได้บอกผมในที่ประชุม ณ เมืองตูร์ เมื่อปี 2005 ไม่นานก่อนที่เขาจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรว่าเขาปรารถนาที่จะร่วมในการปรับปรุงพจนานุกรมฉบับใหม่นี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาศัพท์เกี่ยวกับพันธุกรรมซึ่งเป็นศัพท์หรือทฤษฎีที่ในปี 1981 มีเพียงความสนใจทางประวัติศาสตร์เท่านั้นออก การเปลี่ยนแปลงต่อฉบับเริ่มแรกเกิดขึ้นน้อยมากทั้งนี้เพื่อรักษาน้ำใจดั้งเดิมของทศวรรษที่ 1980

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเหตุผลให้มีการพิมพ์หนังสือพจนานุกรมฉบับปรับให้เป็นเอกภาพ หนังสือจะพิมพ์เผยแพร่เมื่อการปรับให้เป็นเอกภาพในภาษานั้น ๆ เสร็จสมบูรณ์แล้ว การปรับให้เป็นเอกภาพนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จสำหรับการพิมพ์ครั้งที่สาม

การพิมพ์หนังสือดิจิตอลจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ถูกลงมากแม้จะมีคนต้องการมากขึ้น ฉะนั้นงานของโจเซฟ ลามารัง (Joseph Larmarange) นักประชากรศาสตร์จากสถาบันวิจัยและพัฒนา (Research and Development Institute-IRD) ที่ทำงาน ณ หน่วยวิจัยผสม CEPED ทำให้เราสามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์พจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษา (http://demopaedia.org/tools) ไม่ว่าฉบับปรับให้เป็นเอกภาพใดในรูปแบบอิเลคทรอนิกต่าง ๆ (HTML PDF หรือ EPUB) ทั้งยังเป็นไปได้ที่จะสั่งซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ตามคำสั่ง เว็บไซต์เป็นแหล่งหนึ่งสำหรับการทำให้เกิดพจนานุกรมฉบับที่ “เป็นปัจจุบัน” ขึ้นมาก หรือแม้กระทั่งเป็นแหล่งดัชนีคำในหลาย ๆ ภาษา

ถ้าการพิมพ์เพื่อเผยแพร่อย่างกว้างขวางดูจะไม่มีเหตุผลเพียงพอสำหรับภาษาที่ได้พิมพ์ไปแล้วในอดีต การพิมพ์ “ตามคำสั่ง” ดูเหมือนจะสนองต่อความต้องการได้ดีกว่า โดยเฉพาะเมื่อพจนานุกรมทำเป็นหลายภาษาในรูปแบบเหมือน ๆ กัน นอกจากนั้น การพิมพ์ “ตามคำสั่ง” ยังรวมการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือเปลือกนอกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับเราดูเหมือนว่าผู้เขียนหลักของพจนานุกรมพหุภาษา คืนกลับไปสู่งานเริ่มแรกของคณะกรรมธิการประชากรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมี พอล แวซอง (Paul Vincent) เป็นประธาน ตัวของพอลเองส่วนหนึ่งก็นับว่าเป็นหนึ้การปฏิวัติระบบการทำดัชนีด้วยการให้หมายเลขย่อหน้า ซึ่งปรากฏในงานของจอห์น เอ็ดวิน โฮล์มสตรอม (John Edwin Holmstrom) เขาพิสูจน์ในหนังสือเรื่อง “Report on Interlingual Scientific and Technical Dictionaries” ที่เขียนเมื่อปี 1949 ว่า ศัพท์พิเศษเฉพาะต่าง ๆ ในพจนานุกรมเล่มหนึ่งไม่เพียงพอเมื่อพจนานุกรมเล่มนั้นรวมภาษามากกว่าสองหรือสามภาษา

ดังนั้น ชื่อผู้เขียนพจนานุกรมนี้จึงเป็นพหุและพหุภาษาด้วย ชื่อบุคคลในรายละเอียดได้เอ่ยถึงไว้ในอารัมภบทของพจนานุกรมทั้งสองฉบับซึ่งพิมพ์มาก่อนฉบับปรับให้เป็นเอกภาพทุกภาษาเล่มที่เผยแพร่อยู่ในปัจจุบันนี้ ถ้าเราต้องเอ่ยชื่อผู้แต่งที่เราควรชื่นชม พอล แวซอง (Paul Vincent) สำหรับฉบับภาษาฝรั่งเศสพิมพ์ครั้งแรกชองปี 1958 ยูยีน กรีเบนิก (Eugene Grebenik) สำหรับฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ครั้งแรกของปี 1958 ลุย อองรี (Louis Henry) สำหรับฉบับภาษาฝรั่งเศสพิมพ์ครั้งที่สองของปี 1981 เอเตียง แวน เดอ วอลล์ (Etienne van de Walle) สำหรับฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ครั้งที่สองของปี 1982 และ กิลเลอโม เอ แมกซิโอ (Guillermo A. Macció) สำหรับฉบับภาษาสเปนพิมพ์ครั้งที่สอง ฉบับภาษาเยอรมันพิมพ์ครั้งที่สองได้รับการประสานงานโดย ชาลอต ฮอน (Charlotte Höhn) ในปี 1987

ความที่มีผู้ร่วมสร้างพจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษาหลายคนเช่นนี้ นำเราย้ายสถานะของการพิมพ์พจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษาทุก ๆ ฉบับไปอยู่ภายใต้ใบอนุญาต “Creative Commons Share Alike” เนื่องจากการนำพจนานุกรมที่พิมพ์บนกระดาษฉบับก่อน ๆ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ งานใหม่ใด ๆ ที่ทำเหมือนกันและพิมพ์เผยแพร่ออนไลน์ซึ่งอนุญาตให้พิจารณาถึงผลงานของผู้เขียนแต่ละคนจึงเกี่ยวข้องกับรายชื่อของทุกคน มีข้อสังเกตด้วยว่าซอฟท์แวร์ Media Wiki ซึ่งวิกิพีเดียใช้อยู่ ก็ถูกนำมาใช้โดยดีโมพีเดียทั้งในการเรียกข้อมูลจากพจนานุกรมมาดู และการบรรณาธิกรณ์ก็อยู่ภายใต้ใบอนุญาต CCSA เช่นกัน

เมื่อเรารู้เรื่องการจัดการเล็กน้อยของดีโมพีเดียซึ่งเหมือนกับของวิกิพีเดีย เราก็สามารถที่จะเปรียบเทียบสาระของฉบับพิมพ์ครั้งแรกกับฉบับปรับให้เป็นเอกภาพได้โดยง่าย สาระที่พิมพ์ด้วยระบบดิจิตอลใช้หมายเลขย่อหน้าเดียวกัน (101 102 ฯลฯ) แต่ละหมายเลขจัดรวมไว้ในหน้าเดียวกัน (เช่น หน้า 10 http://th-ii.demopaedia.org/wiki/10) ถ้าผู้อ่านต้องการจะรู้เหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนนำเอาสูตรใหม่มาใช้ หน้าอภิปรายจะแจกแจงรายการปัญหาที่เกิดขึ้น และการตัดสินใจในการแก้ปัญหานั้นๆ (เช่น http://th-ii.demopaedia.org/wiki/Talk:10) สมาชิกของสมาชิกวิชาชีพเกี่ยวกับการศึกษาทางประชากรทุกคนที่เป็นหุ้นส่วนกับโครงการดีโมพีเดียอาจมีส่วนร่วมในการอภิปรายนี้ โครงการนี้ได้เปิดให้สมาชิกของ IUSSP แล้ว ในไม่ช้าก็จะเปิดให้กับสมาชิกของสมาคมประชากรแห่งอเมริกา (PAA) และอื่นๆ ในโครงการ การแก้ไขบรรณาธิกรณ์ข้อความในพจนานุกรม (ไม่ใช่ในหน้าอภิปราย) ยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้เขียนไม่มากนัก

โครงการดีโมพีเดียยังมีเป้าหมายที่จะเชิญนักประชากรศาสตร์โดยอาชีพทั้งหลายให้มาช่วยปรับพจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษาให้ทันสมัยผ่านทางเวทีวิกีนี้ แต่ขณะนี้ยังเป็นก้าวแรกที่จะสร้างหน้าใหม่ๆ แม้กระทั่งบทใหม่ๆ อย่างเช่น “อนามัยเจริญพันธุ์” อย่างที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว เราเชื่อว่าเป็นการง่ายกว่าที่จะนำโครงสร้างคล้ายๆ กับของวิกิพีเดียที่เปิดกว้างขึ้น เพื่อที่จะทำให้ความแนบนัยระหว่างภาษาต่างๆ ไม่เป็นสิ่งจำเป็น URL ของสารานุกรมฟรีนี้คือ http://fr.demopaedia.org สำหรับภาษาฝรั่งเศส และ http://en.demopaedia.org สำหรับฉบับภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับ http://ko.demopaedia.org สำหรับภาษาเกาหลี http://th.demopaedia.org สำหรับภาษาไทย ฯลฯ

หน้าใหม่ ๆ ที่จะค่อย ๆ ถูกสร้างขึ้นควรทำให้เราขยายขอบเขตสาขาวิชาของเรามีศัพท์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น และนำเสนอพจนานุกรมพหุภาษาฉบับพิมพ์ครั้งที่สามในวันข้างหน้า

เป้าหมายของศาสตร์คือการแบ่งปันผลการศึกษาแก่เพื่อนร่วมชาติและเพื่อนร่วมงานทั่วโลก และดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องแปลศัพท์วิชาการอย่างดีและเป็นที่เข้าใจ เพื่อที่สื่อมวลชน ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา จะใช้ศัพท์เหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง เราขอให้ข้อสังเกตว่าในบางประเทศ เช่น สวีเดน ไม่มีพจนานุกรมฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง ซึ่งให้ความประทับใจว่าศัพท์วิชาการไม่จำเป็นต้องปรับให้ใหม่ในภาษาสวีดีชนอกจากภาษาอังกฤษเท่านั้น ในทางตรงข้าม ได้มีการแสดงความต้องการอย่างชัดเจนในที่ประชุม IUSSP ที่เมืองมาราเกซโดยนักวิชาการชาวเอเซีย ผู้ซึ่งภายใต้ความกดดันจากนักศึกษาในประเทศของตนที่อ่อนภาษาอังกฤษและกำลังดิ้นรนให้มีคำแปลศัพท์ประชากรศาสตร์ภาษาอังกฤษ (แม้กระทั่งศัพท์เก่า ๆ) เพื่อนำมาใช้ในแวดวงประชากรของตน วันนี้ในประเทศอินเดีย มีหลายภาษาที่ใช้พูดกันโดยผู้คนเกิน 70 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนรวมของคนที่มีภาษาแม่เป็นภาษาฝรั่งเศส ภาษามาลายาลามมีคนพูดในรัฐเคราลาอย่างน้อยเป็นจำนวนมากพอ ๆ กับคนไทยที่พูดภาษาไทย หวังว่าเวทีวิกินี้จะเป็นโอกาสพหุภาษาที่จะอภิปรายความเข้าใจเกี่ยวกับมโนทัศน์ใหม่ ที่สื่อกันในวารสารวิชาการภาษาอังกฤษ รวมทั้งในการรประชุมวิชาการนานาชาติที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสหรือภาษาสเปน และการประชุมระดับชาติที่ใช้หลายภาษาต่างกัน

โครงการนี้ไม่อาจสำเร็จได้หากปราศจากการสนับสนุนของฝ่ายประชากรของสหประชาชาติ โดยบุคคลคือ เฮเนีย ซโวนิก (Hania Zlotnik) ผู้เป็นผู้อำนวยการจากปี 2005 ถึง 2012 การสนับสนุนนี้เป็นในรูปของการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการดีโมพีเดีย ที่กรุงปารีส (2007) และที่มาราเกซ (2009) ขอบคุณเป็นพิเศษต่อเซอร์เกย์ อิวานอฟ (Sergey Ivanov) (UNDP) ผู้จัดการร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ 2 ครั้ง และเป็นผู้เขียนร่างแรกของฉบับภาษารัสเซีย คริสตินา จิยูดิซี (Cristina Giudici) และเอเลนา แอมโบรเสตตี (Elena Embrosetti) ผู้เขียนฉบับภาษาอิตาเลียนซึ่งพิมพ์เสร็จไปเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งสองได้สร้างการเป็นหุ้นส่วนระหว่างมหาวิทยาลัยลาซาเปียนซา (University La Sapienza) กับคณะกรรมการชาวฝรั่งเศสของ IUSSP ที่จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องเทคโนโลยีวิกิ ที่กรุงโรมในปี 2011 ซึ่งรวมการสอนเรื่องดีโมพีเดียครั้งแรกโดย ลอเร็นท์ ตูเลอมอง (Laurent Toulemon) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งแรกที่ปารีสเข้าไว้ด้วย เราปลาบปลื้มเป็นที่สุดกับความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศส-อิตาเลียน ซึ่งขับเคลื่อนการพัฒนาของโครงการดีโมพีเดีย โดยเฉพาะที่เชียงใหม่เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2012 การประชุมเชิงปฏิบัติการเชียงใหม่ได้รับทุนจาก INED จัดร่วมกับ เจราดีน ดูเธ่ (Géraldine Duthé) (INED) และจัดการในท้องที่โดย โซฟี เลอ เคอ (Sophie Le Coeur) (IRD/INED) โจเซฟ ลามารัง (Joseph Larmarange) และเอเลนา แอมโบรเสตตี (Elena Embrosetti) เป็นโอกาสในการฝึกอบรมนักประชากรศาสตร์อาวุโส 13 คน เรื่องเทคโนโลยีดีโมพีเดีย/วิกิ เพื่อที่จะผลิตพจนานุกรมฉบับปรับให้เป็นเอกภาพในภาษาเอเซียใหม่อีก 6 ภาษา (เกาหลี อินโดนีเซีย มาเลย์เซีย เนปาล ไทย และเวียดนาม) พวกเขาควรจะทำงานนี้สำเร็จทันการประชุมของ IUSSP ครั้งต่อไปที่เมืองปูซาน ในเดือนสิงหาคม 2013

ขอขอบคุณคริสติน แกนดริลล์ (Christine Gandrille) เลขานุการของคณะกรรมการแห่งชาติฝรั่งเศส (French National Committee) ของ IUSSP ผู้ช่วยสแกนและแก้ไขประเด็นต่าง ๆ มากมายอันเนื่องมาจากความรู้ที่ขาดมาตรฐานของหลายภาษา และขอบคุณฟรองซัว กูบรี (Françoise Gubry) และมาร์ติน เดอวิลล์ (Martine Deville) บรรณารักษ์ของ CEPED และ INED ตามลำดับ สำหรับการวิจัยเรื่องงานพิมพ์พจนานุกรม อย่างเช่นฉบับภาษาอะราบิค และคำแนะนำในเรื่องพจนานุกรม และขอบคุณสำหรับการบรรณาธิกรณ์ดัชนีคำ

ท้ายสุด ผมขอขอบคุณคณะกรรมการแห่งชาติฝรั่งเศสซึ่งผมได้รับเกียรติให้เป็นผู้นำการประชุมจนถึงเดือนมกราคม 2012 และสมาชิกทั้งหมดของคณะกรรมการชุดนี้ทั้งสามชุดติดต่อกัน ที่ได้ช่วยในการเริ่มและดำเนินโครงการดีโมพีเดียตั้งแต่ปี 2005 เว็บไซต์ของโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก INED ที่ได้จัดเซิร์ฟเวอร์ให้ ในปี 2012 IUSSP ได้สร้างกลุ่มผู้สนใจจนกระทั่งโครงการดีโมพีเดียสามารถเข้าไปอยู่ในเวทีสากล

Nicolas Brouard
Director of research at INED
Coordinator of the IUSSP Demopædia project
กรกฎาคม 2013

ประวัติการทำพจนานุกรมประชากรศาสตร์ของประเทศไทย

แม้ว่าวิชาประชากรศาสตร์จะมีการเรียนการสอนในประเทศไทยมากว่า 50 ปีแล้ว แต่คำศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในวิชานี้ก็ยังไม่เป็นเอกภาพทีเดียวนัก ประชากรศาสตร์มีพัฒนาการมาจากประเทศตะวันตก ศัพท์ที่ใช้อยู่ในวิชานี้ที่นำมาแปลเป็นภาษาไทยส่วนมากหรืออาจเรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดมาจากภาษาอังกฤษ ศัพท์ประชากรศาสตร์ภาษาอังกฤษต้องนำมาบัญญัติเป็นภาษาไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยังมีศัพท์เป็นจำนวนมากเมื่อเรียกเป็นภาษาไทยแล้วไม่สอดคล้องตรงกัน ต่างสำนักต่างสถาบัน ก็เรียกศัพท์ภาษาอังกฤษคำเดียวกันด้วยภาษาไทยที่ต่างกันออกไป

นอกจากศัพท์ประชากรศาสตร์ภาษาไทยเป็นจำนวนมากที่เรียกไม่เหมือนกันแล้ว วิชานี้ยังขาดพจนานุกรมหรือสารานุกรมที่นิยามและอธิบายคำศัพท์เหล่านั้นไว้ในแหล่งเดียวกัน โดยเฉพาะคำอธิบายศัพท์ที่ง่ายต่อการเข้าใจของบุคคลที่ไม่ใช่นักประชากรศาสตร์โดยอาชีพ นักเรียน นักศึกษา นักสื่อมวลชน นักวิชาการในสาขาอื่น ๆ และบุคคลทั่วไป ซึ่งควรจะได้รับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของประชากรโดยผ่านคำศัพท์ต่าง ๆ ทางประชากรศาสตร์ ปัญหาเกี่ยวกับศัพท์บัญญัติทางประชากรศาสตร์ที่ไม่เป็นเอกภาพ และการขาดคำอธิบายศัพท์เหล่านั้น อาจเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการพัฒนาศาสตร์สาขานี้ในประเทศไทย

คู่มือประชากร

ที่จริงแล้วได้มีความพยายามที่จะบัญญัติศัพท์ประชากรศาสตร์และคำอธิบายศัพท์เหล่านั้นเป็นภาษาไทยมานานแล้ว ความคิดที่จะอธิบายศัพท์ประชากรศาสตร์ที่ใช้กันอยู่บ่อย ๆ และมีความสำคัญต่อความเข้าใจปรากฏการณ์ทางประชากรได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เมื่อโครงการเผยแพร่ข่าวสารและการศึกษาด้านประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “คู่มือประชากร”1 ซึ่งแปลจากหนังสือเรื่อง Population Handbook : International Edition, 1980 ของสำนักอ้างอิงทางประชากร (Population Reference Bureau) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา คู่มือประชากรให้คำอธิบายง่าย ๆ ของศัพท์ประชากรศาสตร์หลายคำโดยมีเป้าหมายว่านักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเป็นผู้อ่าน

ใน พ.ศ. 2529 สถาบันประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แปลพจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษา (Multilingual Demographic Dictionary) ให้เป็นภาษาไทย ได้ผลงานออกมาเป็นหนังสือชื่อ “อภิธานศัพท์ประชากรศาสตร์” ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดยนพวรรณ จงวัฒนา2

ต่อมาใน พ.ศ. 2532 สถาบันประชากรศาสตร์ ได้นำหนังสือเล่มนี้ให้ราชบัณฑิตยสถานรับรอง ซึ่งคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง3ได้เริ่มพิจารณาครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 การพิจารณาใช้เวลาเกือบ 7 ปี จึงแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เมื่อคณะกรรมการฯ ได้รับรองแล้วจึงพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ศัพท์ประชากรศาสตร์ อังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน" (พ.ศ. 2539 และ 2548)

โครงการนิยามศัพท์การวิจัยทางประชากรและสังคม

ใน พ.ศ. 2545 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มโครงการบัญญัติและนิยามศัพท์ประชากรศาสตร์ขึ้น ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานนิยามศัพท์การวิจัยทางประชากรและสังคม4 โดยมีศาสตราจารย์ ปราโมทย์ ประสาทกุล เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ตั้งแต่จัดตั้งคณะทำงานจนถึงกลางปี 2547 คณะทำงานได้บัญญัติและให้คำนิยามศัพท์ทางด้านประชากรศาสตร์ ระเบียบวิธีวิจัย และสังคมศาสตร์อื่น ๆ ไว้แล้วประมาณ 1,200 คำ ศัพท์เหล่านี้ได้พิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม” และใส่ไว้ในเว็บไซต์ของสถาบันฯ ในชื่อ http://www.popterms.mahidol.ac.th

พจนานุกรมประชากรศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมประชากรศาสตร์5 ขึ้นใน พ.ศ. 2548 โดยมีศาสตราจารย์ สมบูรณ์ สุขสำราญ เป็นประธาน หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือ บัญญัติศัพท์ในสาขาวิชาประชากรศาสตร์และให้ความหมายของศัพท์เหล่านั้น ตั้งแต่เริ่มตั้งคณะกรรมการจนถึงปลายปี 2555 คณะกรรมการฯ ได้บัญญัติศัพท์ได้ 781 คำ ศัพท์บัญญัติและนิยามของศัพท์เหล่านี้จะพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “พจนานุกรมประชากรศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ซึ่งกำหนดพิมพ์เสร็จภายใน พ.ศ. 2556 นี้

ดีโมพีเดีย ภาษาไทย

สืบเนื่องจากการประชุมสหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เรื่องประชากร (IUSSP) ที่เมืองมาราเกซ ใน พ.ศ. 2552 โครงการปรับปรุงพจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษา โดยสื่อผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่าดีโมพีเดีย ได้ประกาศแผนที่จะเพิ่มภาษาของประเทศในทวีปเอเชียอีก 6 ภาษา คือ ภาษาเกาหลี อินโดนีเซีย มาเลย์ เนปาล ไทย และเวียดนาม

สำหรับพจนานุกรมภาคภาษาไทย รองศาตราจารย์ สุรีย์พร พันพึ่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์ปราโมทย์ ประสาทกุล และรองศาสตราจารย์ ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ นักประชากรศาสตร์ผู้มีประสบการณ์การ ทำงานพจนานุกรมด้านประชากร ทั้งในโครงการนิยามศัพท์การวิจัยทางประชากรและสังคม ของสถาบันฯ เอง และในการจัดทำพจนานุกรมประชากรศาสตร์ ของราชบัณฑิตยสถาน มาก่อนแล้ว ได้เข้าร่วมโครงการนี้กับสถาบันประชากรศาสตร์แห่งชาติ (Institut National d’Études Démographiques – INED) แห่งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนำโดย Nicolas Brouard อาจารย์ทั้งสองได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการที่เชียงใหม่ เมื่อ 30 สิงหาคม – 1 กันยายน 2555 เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิควิธีของวิกิที่ใช้ในการทำดีโมพีเดีย และทั้งสองได้ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจกับงานนี้จนมั่นใจได้ว่า พจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษา ฉบับปรับให้เป็นเอกภาพ ฉบับภาษาไทย จะสำเร็จทันเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 ตามกำหนดที่จะมีพิธีเปิดตัวดีโมพีเดียอีก 6 ภาษาในการประชุมของสหพันธ์ฯ ที่เมืองปูซาน เกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 26-31 สิงหาคม 2556 นี้

ดีโมพีเดีย ภาษาไทย ต้องขอขอบคุณคุณแคสป้า พีค (Caspar Peek) ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA) ที่ได้อนุมัติเงินทุนเพื่อสนับสนุนงานดีโมพีเดีย ภาคภาษาไทยนี้

ขอบคุณ รองศาสตราจารย์ สุรีย์พร พันพึ่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้การสนับสนุนโครงการฯ นี้มาโดยตลอด

ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล
รศ.ดร.ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
กรกฎาคม พ.ศ. 2556

  1. หนังสือคู่มือประชากร พิมพ์เมื่อกันยายน พ.ศ. 2524 ปราโมทย์ ประสาทกุล เป็นบรรณาริการ คณะผู้จัดทำมี จรรยา เศรษฐบุตร, วาทินี บุญชะลักษี, กฤตยา อาชวนิจกุล, อุไรวรรณ คนึงสุขเกษม, อมรา สุนทรธาดา, ภาณี วงษ์เอก, ทวีศักดิ์ เศวตเศรณี, จักราทิตย์ ธนาคม
  2. คณะกรรมการพิจารณารับรองศัพท์ประชากรศาสตร์ เพื่อพิมพ์เป็นหนังสืออภิธานศัพท์ประชากรศาสตร์ ประกอบด้วย รศ.ดร.พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติ (ประธานกรรมการ) ศ.ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์, ศ.ดร.สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์, รศ.นพ.มล.ตะวันฉาย ศิริวงศ์ ณ อยุธยา, รศ.ดร.เพ็ญพร ธีระสวัสดิ์, รศ.ดร.นิพนธ์ เทพวัลย์, รศ.ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์, รศ.นพวรรณ จงวัฒนา (กรรมการและเลขานุการ) นางศศิพรรณ ทัศนะเทพ (ผู้ช่วยเลขานุการ)
  3. คณะกรรมการฯ ที่พิจารณารับรองศัพท์ประชากรศาสตร์ประกอบด้วย ศ. ดร.บุญพฤกษ์ จาฏามระ นายกราชบัณฑิตยสถาน (ที่ปรึกษา) ศ.ดร.ประยูร กาญจนดุล (ประธานกรรมการ) นายจำนงค์ ทองประเสริฐ, ศ.ไชยยศ เหมะรัชตะ, ศ.ประภาศน์ อวยชัย, ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร, ศ.สุมน อมรวิวัฒน์, นายอดิศักดิ์ ทองบุญ, ศ.ดร.อมร รักษาสัตย์, ศ.ดร.อำนัคฆ์ คล้ายสังข์ ผู้แทนคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย รศ.สุภาพ ภู่ประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชา มีผู้แทนสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ศ.นิคม จันทรวิทุร ผู้แทนสถาบันประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.เทียนฉาย กีระนันท์, รศ.ดร.เพ็ญพร ธีระสวัสดิ์, รศ.นพวรรณ จงวัฒนา ผู้อำนวยการกองธรรมศาสตร์และการเมือง นางเพ็ญแข คุณาเจริญ เจ้าหน้าที่ราชบัณฑิตยสถาน นางสาวอุทัย สร้างสาม (กรรมการและเลขานุการ) นางสาวสุกัญญา เวชนุเคราะห์ และนางสาวหิรัญญา บุญจำรูญ (กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ)
  4. คณะทำงานนิยามศัพท์การวิจัยทางประชากรและสังคม ประกอบด้วย ศ. ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล (ประธานคณะทำงาน) ศ.เกียรติคุณ ดร.บุญเลิศ เลียวประไพ, รศ.ดร.อุไรวรรณ คนึงสุขเกษม, รศ.ดร.วรชัย ทองไทย, รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา, รศ.ดร.อรพินทร์ พิทักษ์มหาเกตุ, ผศ.ดร.ภาณี วงษ์เอก, ผศ.ดร.พิมลพรรณ อิศรภักดี, ผศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต, ผศ.ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง, อ.ยุพิน วรสิริอมร, อ.อัญชลี วรางค์รัตน์, อ.ดร.รศรินทร์ เกรย์, อ.ดร.ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์, นายเกรียงศักดิ์ โรจน์คุรีเสถียร, นางสุภาณี ปลื้มเจริญ, นางจิรกิต บุญชัยวัฒนา, นางณัชชา มณีวงศ์, นางสาวจงจิตต์ ฤทธิรงค์, นางสาวอุทัยทิพย์ รักจรรยาบรรณ
  5. คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ประชากรศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ประกอบด้วย ศ.ดร.จุมพล สวัสดิยากร (กรรมการที่ปรึกษา) ศ.ดร.พัทยา สายหู (กรรมการที่ปรึกษา) ศ.ดร.สมบูรณ์ สุขสำราญ (ประธานกรรมการ) รศ.ดร.นิพนธ์ เทพวัลย์, นางเพ็ญแข คุณาเจริญ, ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล, รศ.ดร.ชาย โพธิสิตา, รศ.ดร.ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์, ศ.ดร.ภัสสร ลิมานนท์, รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ, รศ.ดร.สุดสวาท ดิศโรจน์, รศ.ดร.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิพงษ์, นางจำเรียง จันทรประภา, นางแสงจันทร์ แสนสุภา, นางสาวจินดารัตน์ โพธิ์นอก (กรรมการและเลขานุการ) นางสาวอิริยา เลาหตีรานนท์, นายประภาส แก้วสวรรค์ (กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ)

บทที่ 1 • แนวคิดทั่วไป

101

วิชาประชากรศาสตร์1 เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประชากรมนุษย์ในเรื่องขนาด โครงสร้าง2 และพัฒนาการ โดยพิจารณาในด้านปริมาณของลักษณะทั่วไปของประชากรเหล่านั้น แกนของการศึกษาด้านประชากร8 ในความหมายกว้างที่สุดจะรวมสหสาขาวิชา อย่างเช่น ประชากรศาสตร์เศรษฐศาสตร์ (104-1) ประชากรศาสตร์สังคม (104-2) พันธุกรรมศาสตร์ประชากร (104-4) ประชากรศาสตร์ประวัติศาสตร์ (102-1) ประชากรศาสตร์คณิตศาสตร์ (102-6) และรวมความรู้จากสาขาวิชากฎหมาย การแพทย์ วิทยาการระบาด (423-6) สังคมวิทยา จิตวิทยา ภูมิศาสตร์ และปรัชญา ในศัพท์ของสถิติ การรวบรวมของส่วนประกอบที่ปรากฏชัดทั้งหมดอาจเรียกว่าประชากร3 ซึ่งมีความหมายเหมือนกับคำว่ายูนิเวิร์ส3 อย่างไรก็ตาม ในทางประชากรศาสตร์ ศัพท์คำว่าประชากร4 จะใช้เพื่อหมายถึงผู้อยู่อาศัย5ทั้งหมดในพื้นที่หนึ่ง แม้ว่าในบางโอกาสคำนี้อาจใช้เพื่อหมายถึงบางส่วนของผู้อยู่อาศัยเท่านั้น [ตัวอย่างเช่น ประชากรวัยเรียน (cf.346-7) ประชากรวัยสมรส (cf.514-2)] กลุ่มเช่นนั้นเรียกให้ถูกต้องว่าประชากรย่อย6 คำว่าประชากรมักใช้เพื่อแสดงถึงขนาด7 ได้แก่จำนวนรวม7ของกลุ่มรวมตามที่ได้อ้างถึงใน 101-4

102

สาขาย่อยภายในวิชาประชากรศาสตร์มีชื่อเรียกพิเศษเฉพาะสะท้อนวัตถุประสงค์หรือระเบียบวิธีของสาขาย่อยเหล่านั้น ประชากรศาสตร์ประวัติศาสตร์1ศึกษาเรื่องประชากรในอดีตเมื่อมีบันทึกที่เขียนไว้ ในกรณีที่ไม่มีแหล่งข้อมูลเป็นบันทึก การศึกษาประชากรสมัยโบราณมีชื่อเรียกว่าประชากรศาสตร์โบราณคดี2 ในประชากรศาสตร์เชิงพรรณนา3 จำนวน การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ โครงสร้าง และการเปลี่ยนแปลงของประชากรมนุษย์จะถูกอธิบายด้วยการใช้สถิติประชากร4 หรือสถิติทางประชากรศาสตร์4 การศึกษาความสัมพันธ์เชิงปริมาณในกลุ่มปรากฏการณ์ทางประชากรด้วยกัน แยกออกจากความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์อย่างอื่นเรียกว่าประชากรศาสตร์เชิงทฤษฎี5 หรือประชากรศาสตร์พิสุทธิ์5 เพราะมีการใช้วิธีทางคณิตศาสตร์ต่างๆ ในทางปฏิบัติวิชานี้มีเอกลักษณ์ว่าเป็นประชากรศาสตร์คณิตศาสตร์6 งานวิจัยที่ประยุกต์ใช้เครื่องมือของการวิเคราะห์ทางประชากรศาสตร์ (103-1) กับประชากรจริงมักเรียกว่าการศึกษาทางประชากรศาสตร์7 การศึกษานี้สามารถเจาะจงไปที่สถานการณ์ทางประชากรปัจจุบัน8 หรือเงื่อนไขทางประชากรปัจจุบัน8 ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางประชากรและตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงนั้นในระหว่างระยะเวลาสั้นๆ และเมื่อไม่นานมานี้ สาขาวิชาที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดเน้นหนักอยู่ที่ด้านตัวเลขของปรากฏการณ์และบางครั้งจะอ้างถึงในชื่อว่าประชากรศาสตร์รูปนัย9 เมื่อประยุกต์เข้ากับเพียงเรื่องขนาดและโครงสร้างของประชากรเท่านั้น ตรงข้ามกับศัพท์ที่กว้างกว่าการศึกษาประชากร10 ที่รวมการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ทางประชากรและปรากฏการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ หรืออย่างอื่นเข้าไว้ด้วย

103

การวิเคราะห์ทางประชากรศาสตร์1เป็นสาขาของประชากรศาสตร์รูปนัย ที่ควบคุมผลกระทบของขนาดและโครงสร้างประชากรที่มีต่อปรากฏการณ์ทางประชากร2 ด้วยการแยกผลกระทบของตัวแปรทางประชากรแต่ละตัวออกจากผลกระทบของตัวแปรอื่น ๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดจากผลกระทบของตัวแปรอื่น ๆ เรียกว่าปรากฏการณ์ก่อกวน3 สาขาย่อยนี้ยังศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทางประชากรต่าง ๆ และปฏิสัมพันธ์ของตัวแปรเหล่านี้ที่ก่อให้เกิดรูปโครงสร้างประชากรขึ้นมา มีความแตกต่างระหว่างการวิเคราะห์เชิงรุ่น4 หรือการวิเคราะห์รุ่นวัย4 ซึ่งมุ่งเจาะจงไปที่รุ่น (cf.117-2) ที่กำหนดไว้ชัดเจน ที่ติดตามศึกษารุ่นนี้ไปเรื่อย ๆ กับการวิเคราะห์แบบตัดขวาง5 หรือการวิเคราะห์ช่วงเวลา5 ซึ่งมุ่งเจาะจงไปที่ปรากฏการณ์ทางประชากรที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แน่นอน (อย่างเช่นในปีปฏิทินหนึ่ง) ในกลุ่มประชากรหลาย ๆ รุ่น
  1. การวิเคราะห์รุ่นวัยเป็นรูปแบบหนึ่งของการวิเคราะห์ระยะยาว (longitudinal analysis) ซึ่งเป็นการศึกษากลุ่มคนที่มีคุณลักษณะเหมือนกัน การวิเคราะห์แผง (panel analysis) ที่ติดตามศึกษาบุคคลคนเดียวกัน

104

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ทางประชากรในฝั่งหนึ่งกับปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมอีกฝั่งหนึ่งก่อรูปวิชานี้อีกสาขาหนึ่ง ศัพท์คำว่าประชากรศาสตร์เศรษฐกิจ1และประชากรศาสตร์สังคม2ได้ถูกใช้โดยนักวิชาการหลายคน ประชากรศาสตร์ยังเกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องคุณภาพประชากร3 คำว่าคุณภาพประชากรอาจใช้ด้วยการอ้างอิงถึงลักษณะส่วนตัวและลักษณะทางสังคมทุกชนิด ในความหมายที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย คำนี้หมายถึงการกระจายและการถ่ายทอดของลักษณะทางกรรมพันธุ์ (910-3)ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุกรรมประชากร4 นิเวศวิทยามนุษย์5คือการศึกษาการกระจายและการจัดองค์กรของชุมชนด้วยความสนใจต่อปฏิบัติการของกระบวนการร่วมมือและแข่งขันกัน และมีบางส่วนในเนื้อหาวิชาเหมือนกับวิชาประชากรศาสตร์ ในสาขาการวิจัยและระเบียบวิธีวิจัยยิ่งสานพันกันในกรณีของประชากรศาสตร์กับภูมิศาสตร์มนุษย์7 เช่นเดียวกับวิชาชีวมาตร6 หรือชีวเมตริกซ์6 และวิทยาการระบาด8ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้วิธีการทางสถิติกับรูปแบบต่างๆ ของการวิจัยทางการแพทย์และชีววิทยา
  1. พันธุกรรมประชากรต่างจากพันธุกรรมมนุษย์ซึ่งเกี่ยวกับการถ่ายทอดคุณลักษณะที่สืบทอดกันได้ในคน พันธุกรรมประชากรเป็นการศึกษาเรื่องการกระจายและการถ่ายทอดลักษณะที่สืบทอดกันได้ในพืช สัตว์ และประชากรมนุษย์
  2. ศัพท์คำว่าชีวสถิติ (biostatistics) จะเห็นได้บ่อยๆ และมีความหมายเหมือนกับคำว่าชีวมาตร (biometry)

105

ในสุดท้ายนี้ ยังมีการศึกษาทฤษฎีประชากร1 คำนี้ต้องไม่สับสนกับคำว่าประชากรศาสตร์เชิงทฤษฎี (102-5) ทฤษฎีประชากรประสงค์ที่จะอธิบายหรือทำนายปฏิกิริยาระหว่างการเปลี่ยนแปลงในประชากรกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา และอื่นๆ ทฤษฎีประชากรรวมการอธิบายเชิงแนวความคิดล้วนๆ ทฤษฎีประชากรบางครั้งก่อรูปเป็นฐานของนโยบายประชากร2 (cf. §930) ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อให้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงประชากร

110

หน่วยสถิติ1 พื้นฐานที่ใช้ในวิชาประชากรศาสตร์คือบุคคล2 หรือคน2 คำว่าหัว2 ที่เคยใช้กันในอดีต เดี๋ยวนี้กลายเป็นคำล้าสมัยไปเสียแล้ว ครัวเรือน3 ซึ่งเป็นหน่วยเศรษฐกิจ-สังคม ประกอบด้วยบุคคลที่อาศัยอยู่ด้วยกัน มีการให้นิยามทางสถิติของคำว่าครัวเรือนต่างกันไป ตามนิยามซึ่งแนะนำให้ใช้เป็นมาตรฐานสากล คำว่าครัวเรือนจะประกอบด้วยกลุ่มของบุคคลซึ่งใช้ที่อยู่อาศัย (120-1) เดียวกันและกินอาหารมื้อหลักด้วยกัน ในอดีต เคยมีการใช้คำว่าครัว3 ซึ่งแสดงว่าในอตีต สมาชิกของครัวเรือนเคยใช้กองไผกองเดียวกัน การจำแนกประเภทครัวเรือนก็แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและแต่ละการศึกษา การจำแนกประเภทส่วนมากจะแยกความแตกต่างระหว่างครัวเรือนสองประเภท ครัวเรือนส่วนบุคคล4 และครัวเรือนกลุ่มรวม5 บุคคลเดียวอาศัยอยู่ตามลำพังเรียกว่าเป็นครัวเรือนคนเดียว6 ผู้อาศัย7คือบุคคลที่ไม่ได้เป็นคนรับใช้ในบ้านและไม่สัมพันธ์เป็นญาติกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครัวเรือน และกินอาหารเป็นประจำกับครัวเรือน ต่างจากผู้พัก8 หรือผู้เช่าห้อง8 ที่ไม่ได้กินอาหารมื้อประจำกับครัวเรือน ทั้งผู้อาศัยและผู้พักอาจจะรวมหรือไม่รวมไว้ในครัวเรือนเพื่อวัตถุประสงค์ทางสถิติ
  1. ครัวเรือนส่วนบุคคลเรียกว่าครัวเรือนครอบครัวเมื่อสมาชิกของครอบครัวมีความสัมพันธ์กัน
  2. ครัวเรือนกลุ่มรวมอาจรวมครัวเรือนสถาบันซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่อาศัยอยู่ในสภาบันที่ได้จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ (เช่นโรงพยาบาล เรือนจำ ฯลฯ) และอาจรวมถึงบุคคลที่ไม่มีความสัมพันธ์กันที่อาศัยอยู่ในที่พักกลุ่ม (120-1*) นอกเหนือไปจากสถาบัน อย่างไรก็ตาม คำนิยามสากลที่แนะนำให้ใช้ศัพท์คำว่าครัวเรือนและประชากรครัวเรือนจำกัดอยู่เฉพาะครัวเรือนส่วนบุคคล และคนที่อาศัยอยู่ที่อื่นจะเรียกว่าบุคคลที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในครัวเรือน

111

เมื่อครัวเรือนส่วนบุคคล (110-4) มีบุคคลหลายคนอยู่ด้วยกันเรียกว่าเป็นสมาชิกของครัวเรือน1 และสมาชิกคนหนึ่งจะเป็นหัวหน้าครัวเรือน2 ยังไม่มีเกณฑ์ที่ยอมรับกันทั่วไปว่าใครจะเป็นหัวหน้าครัวเรือน ในบางกรณี หัวหน้าครัวเรือนอาจเป็นผู้หารายได้หลัก3 ก็ได้ ในแบบสอบถามสำมะโนส่วนมาก จะมีคำถามหนึ่งที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์4 (114-3*) ของสมาชิกของครัวเรือนกับหัวหน้าครัวเรือน คำถามนี้ทำให้สามารถสามารถแยกความแตกต่างระหว่างกลุ่มต่างๆ ในครัวเรือนประสม5 หรือ ครัวเรือนผสม5 ซึ่งมีสมาชิกที่มากกว่าครัวเรือนทางชีววิทยา หรือครัวเรือนเดี่ยว (113-1) ครัวเรือนรวมอาจแยกออกเป็นแกนเดี่ยว6 หลายครอบครัว ซึ่งรวมแกนเดี่ยวปฐมภูมิ7 และแกนเดี่ยวทุติยภูมิ8 แกนเหล่านี้เรียกกันทั่วไปว่าครอบครัว (112-1) ครอบครัวปฐมภูมิ9 เป็นครอบครัวของหัวหน้าครัวเรือนตามนิยาม ครอบครัวอื่นๆ เรียกว่าครอบครัวทุติยภูมิ10 ขนาดครัวเรือน11 หมายถึงจำนวนบุคคลที่รวมอยู่ในครัวเรือน
  1. ศัพท์คำว่าหัวหน้าครัวเรือนบางครั้งใช้เพื่อหมายถึงหัวหน้าของครัวเรือน ศัพท์คำว่าหัวหน้าเห็นได้บ่อยๆ อย่างเช่นในคำว่าอัตราส่วนหัวหน้าซึ่งเป็นอัตราส่วนของจำนวนหัวหน้าครัวเรือนตามอายุ เพศ และลักษณะอื่นๆ ต่อประชากรในกลุ่มเดียวกันนั้น
  2. ครัวเรือนแกนเดี่ยวอาจเรียกว่าหน่วยครอบครัวสมรสก็ได้

112

ครอบครัว1 (cf. § 113 and § 115) เป็นหน่วยที่ต่างออกไป ซึ่งต้องแยกความแตกต่างจากครัวเรือน (110-3) ด้วยความระมัดระวัง นิยามเบื้องต้นของคำว่าครอบครัวจะอ้างถึงความสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่หรือเกิดขึ้นจากการแต่งงาน การสืบทอดพันธุ์ หรือการรับเลี้ยงดูบุตร ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะกำหนดโดยกฎหมายหรือประเพณี ความสัมพันธ์พื้นฐาน ได้แก่ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคู่โดยการแต่งงาน—และความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างคู่สมรสเช่น พ่อแม่2 ได้แก่พ่อ3 และแม่4 และ ลูกๆ 5 ได้แก่ลูกชาย6 และลูกสาว7

113

พ่อแม่และลูกๆ บางครั้งจะอ้างอิงถึงครอบครัวทางชีววิทยา1 หรือครอบครัวเดี่ยว1 พี่น้องชาย2 และพี่น้องหญิง3 ที่ไม่แยกว่าเป็นเพศใด เรียกพี่น้อง4 พี่น้องที่ร่วมพ่อหรือแม่เดียวกันเท่านั้นเรียกกึ่งพี่น้องชาย5 หรือกึ่งพี่น้องหญิง6 ครอบครัวขยาย7 เป็นหน่วยครอบครัวใหญ่ขึ้น โดยทั่วไปประกอบด้วยครอบครัวเดี่ยวหลายครอบครัว ครอบครัวขยายแนวตั้ง8 ประกอบด้วยคนสามรุ่นขึ้นไปอาศัยอยู่ด้วยกันในครัวเรือนเดียวกันหรืออยู่ใกล้กันมากๆ ครอบครัวขยายแนวนอน9 จะรวมพี่น้องกับคู่แต่งงานและลูกๆ ที่อาศัยอยู่ด้วยกัน ครอบครัวขยายแนวตั้งสามารถผลิตครอบครัวพิเศษขึ้นมาอย่างเช่นครอบครัวแขนง10 ซึ่งทายาทและครอบครัวอาจอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของเขาต่อไปได้
  1. ศัพท์คำว่าครอบครัวง่ายๆ และครอบครัวขั้นต้นมีความหมายเหมือนกับคำว่าครอบครัวแกนเดี่ยวหรือครอบครัวชีววิทยา ในความหมายที่จำกัดอย่างเช่นในการวิเคราะห์ภาวะเจริญพันธุ์ คำว่าครอบครัวชีววิทยาอาจหมายถึงบุคคลและลูกๆ ของเขาไม่รวมลูกเลี้ยง
  2. ศัพท์คำว่าครอบครัวรวม และครอบครัวร่วมมีความหมายเหมือนกับคำว่าครอบครัวขยาย ในความหมายกว้างที่สุด ครอบครัวขยายอาจหมายถึงสมาชิกทั้งหมดของกลุ่มเครือญาติ

114

บุคคลที่สัมพันธ์ผ่านผู้สืบทอด1 จากต้นตระกูล2 หรือบรรพบุรุษ2 เดียวกันเรียกว่าญาติทางสายเลือด3 หรือญาติทางพันธุกรรม3 ศัพท์คำว่าวงศ์ญาติ3 และในความหมายของกลุ่มรวมว่ากลุ่มวงศาคณาญาติ3 ก็มีการใช้เช่นเดียวกัน ขนาดของความสัมพันธ์4 โดยทั่วไปคำนวณได้โดยอ้างถึงจำนวนขั้นตอนที่จำเป็นก่อนที่จะถึงบรรพบุรุษคนเดียวกัน แต่มีวิธีการคำนวณแตกต่างกันหลายวิธี ความสัมพันธ์พื้นฐานในแต่ละขั้นตอนเหล่านี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่5 (cf. 112-6* and 112-7*) ซึ่งกลับกันกับความเป็นพ่อแม่6 (112-2*) ได้แก่ ความสัมพันธ์ของคู่แต่งงาน หรือของบิดา หรือของมารดาต่อลูก7 ความสัมพันธ์ทางสายเลือดต้องแยกออกจากความสัมพันธ์โดยการแต่งงาน8 ซึ่งการแต่งงานทำให้เกิดขึ้นระหว่างคู่สมรสฝ่ายหนึ่งกับญาติของอีกฝ่ายหนึ่ง
  1. คำว่าญาติพี่น้องใช้สำหรับคนที่เกี่ยวพันกันโดยสายเลือดหรือการแต่งงาน บางครั้งคำว่าญาติพี่น้องใช้เพื่อหมายถึงกลุ่มรวมของญาติทั้งหมด
  2. คำว่าลูกหลานใช้เพื่อหมายถึงผู้คนรุ่นหลังที่มีบรรพบุรุษร่วมกัน
  3. ในบางประเทศ คนที่เกี่ยวพันกันโดยการแต่งงานอาจหมายถึงว่าเป็นเขย-สะใภ้

115

ครอบครัว1 (cf. 112-1) ซึ่งเป็นหน่วยในการศึกษาทางประชากรศาสตร์ ที่เป็นตัวแทนของครัวเรือนทั้งหมดหรือบางส่วน จำเป็นต้องนิยามให้เฉพาะเจาะจงลงไป และคำนิยามสำหรับวัตถุประสงค์ต่างกันก็อาจผันแปรแตกต่างกันไป ครอบครัวทางสถิติ1 หรือครอบครัวในสำมะโน1 โดยทั่วไปประกอบด้วยสมาชิกทุกคนของครัวเรือนซึ่งสัมพันธ์กันโดยสายเลือด การรับบุตรบุญธรรม หรือการแต่งงาน ครัวเรือนอาจจะรวมหรือไม่รวมครอบครัวก็ได้ ครอบครัวทางสถิติไม่สามารถประกอบด้วยมากกว่าหนึ่งครัวเรือน แม้ว่าครัวเรือนหนึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งครอบครัว ในบางประเทศ นิยามของครอบครัวทางสถิติอาจใช้ประมาณครอบครัวทางชีววิทยา (113-1) ก็ได้ ในบางประเทศ นิยามอาจใช้แกนครอบครัว2 เป็นฐาน ไม่ว่าจะประกอบด้วยคู่แต่งงานที่ไม่มีบุตร คู่แต่งงานที่อยู่กับลูกที่ยังไม่แต่งงานหนึ่งคนหรือมากกว่า หรือพ่อแม่ที่อยู่กับลูกที่ยังไม่แต่งงานหนึ่งคนหรือมากกว่า คนที่อยู่ด้วยกันเหล่านี้อาจก่อรูปเป็นครอบครัวในสำมะโนด้วยตัวเองหรือเป็นแกนของครอบครัวนั้น คู่แต่งงานที่อาศัยอยู่กับลูกๆ เรียกว่าครอบครัวตามประเพณี3 ครอบครัวแตกแยก4 เป็นครอบครัวที่พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งหายไปด้วยการตาย หย่า หรือทิ้งร้าง ครอบครัวซึ่งมีพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว ไม่ว่าจะโดยการแยก หรือเป็นม่ายอาสัยอยู่กับลูกๆ อาจเรียกว่าครอบครัวพ่อแม่เดี่ยว4 คู่แต่งงานไม่ว่าจะเป็นม่ายหรือแยกกันอยู่ในเวลาที่เก็บข้อมูล และไม่มีลูกๆ เหลืออาศัยอยู่ในครัวเรือนอาจมีชื่อเรียกเฉพาะ อย่างเช่นในประเทศเยอรมัน เรียกครอบครัวส่วนเกิน5(“Restfamilie”) เมื่อครอบครัวประเภทต่างๆ เหล่านี้อาสัยอยู่ในครัวเรือนก็จะเรียกว่าครัวเรือนครอบครัว6
  1. ในประเทศสหรัฐอเมริกา ครอบครัวย่อยคือคู่สมรสที่มีหรือไม่มีลูกหรือพ่อแม่ที่อยู่กับลูกที่ยังไม่แต่งงาน คนเดียวหรือหลายคน ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อาศัยอยู่ในฐานะสมาชิกของครัวเรือน และเกี่ยวโยงแต่ไม่รวมหัวหน้าครัวเรือนและภรรยา ในประเทศอังกฤษ หน่วยครอบครัวปฐมภูมิประกอบด้วยพ่อแม่และลูกๆ พี่น้องและบรรพบุรุษของพ่อแม่

116

ในวรรณกรรมทางประชากรศาสตร์ ศัพท์คำว่ารุ่นวัย1 มีความหมายชัดเจนแน่นอนว่าเป็นกลุ่มของบุคคลที่เกิดภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ โดยทั่วไปใช้ปีปฏิทินเป็นเวลาอ้างอิง ศัพท์คำว่ารุ่น2 หมายถึงกลุ่มของบุคคลที่ประสบเหตุการณ์หนึ่งในระยะเวลาที่ระบุไว้ ดังนั้นรุ่นเกิดจึงพ้องกับรุ่นวัยในความหมายของ 116-1 รุ่นแต่งงานคือกลุ่มของบุคคลที่แต่งงานภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ ฯลฯ ในวิชาประชากรศาสตร์ เช่นเดียวกับในวิชาพงศาวลีวิทยา (genealogy) คำว่าชั่วคนหรือรุ่นวัย3 อาจใช้เพื่อหมายถึงผู้สืบสกุลของกลุ่มบุคคล ซึ่งโดยตัวเองเป็นรุ่นวัยในความหมายของ 116-1 ฉะนั้นลูก ๆ ของกลุ่มผู้ย้ายถิ่นจึงมักถูกอ้างเป็นคนรุ่นที่สอง9อยู่บ่อย ๆ บางครั้งเราก็ใช้เพื่อแสดงถึงรุ่นที่สามหรือสี่ รุ่นวัยสามารถมีคุณสมบัติได้ตามอายุปัจจุบันของพวกเขาเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น รุ่นวัยเยาว์และกำลังเติบโตขึ้น6 (young and rising generation) รุ่นวัยกลางคน7 หรือรุ่นวัยในช่วงรุ่งโรจน์แห่งชีวิต7 และรุ่นวัยสูงอายุ8 ในขณะที่เกณฑ์อายุยังค่อนข้างคลุมเครือและดังนั้นจึงต้องการการจำกัดความ รุ่นของคนที่เกิดในช่วงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอัตราเกิดต่ำ (หรือสูง) สามารถหมายถึงรุ่นอัตราเกิดต่ำ11 (หรือรุ่นอัตราเกิดสูง10) บางครั้งการวิเคราะห์จำกัดเฉพาะการสืบสกุลผ่านเพียงเพศเดียว ดังนั้นชั่วคนฝ่ายชาย4 หรือชั่วคนฝ่ายบิดา4 คือลูกชายของคนรุ่นของผู้ชาย ชั่วคนฝ่ายหญิง5 หรือชั่วคนฝ่ายมารดา5 คือลูกสาวของรุ่นของผู้หญิง ปรกติจะทำการแยกความแตกต่างเหล่านี้เมื่อจะคำนวณความยาวของรุ่น หรือช่วงห่างเฉลี่ยระหว่างรุ่นวัยที่ต่อเนื่อง (cf.713-1)
  1. รุ่นวัย ศัพท์คำว่าการวิเคราะห์ใช้เพื่อแสดงวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งประสบการณ์ของรุ่นวัยของบุคคลต่างๆ ถูกศึกษาตลอดชีวิต หรือในระยะเวลาที่กำหนดไว้
    สำหรับวัตถุประสงค์ในการเกณฑ์ทหาร ผู้ชายที่จะต้องถูกเกณฑ์ในปีหนึ่งบางครั้งเรียกว่าชั้นของปีนั้น ในสหรัฐอเมริกา ศัพท์คำเดียวกันนี้ใช้สำหรับกลุ่มของนักเรียนที่จบการศึกษาที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยหนึ่งในปีหนึ่ง
  2. เพราะการลดจำนวนลงของการเกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ศัพท์ภาษาฝรั่งเศส "classes creuses" บางครั้งใช้ในวรรณกรรม

120

ที่อยู่อาศัย1 หน่วยที่อยู่อาศัย1 หรือสถานที่อยู่อาศัย1 เป็นศัพท์ทางสถิติ หมายถึงบ้านเรือนที่อยู่ซึ่งเหมาะสำหรับการครอบครองของหนึ่งครัวเรือน (110-3) ขนาดของที่อยู่อาศัยวัดได้โดยจำนวนของห้อง2 หรือโดยพื้นที่ผิว3 ขนาดของความแออัด4 เป็นสัดส่วนผกผันระหว่างขนาดของที่อยู่อาศัยกับจำนวนของผู้อยู่อาศัย มาตรฐานความแออัดใช้เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างที่อยู่อาศัยที่แออัดเกินไป5 และที่อยู่อาศัยที่มีคนอยู่ไม่เพียงพอ6 ที่อยู่อาศัยที่ไม่มีคนอยู่7 เป็นที่อยู่อาศัยซึ่งไม่ได้ใช้สำหรับการอยู่อาศัยไม่ว่าจะอย่างถาวรหรือเป็นการชั่วคราว
  1. ที่อยู่อาศัยอาจประกอบด้วยบ้านส่วนบุคคล หรือส่วนของบ้านนั้น หรือแฟลต หรืออพาร์ทเม้นท์ซึ่งรวมเป็นส่วนของกลุ่มของแฟลต หรือบ้านเช่า ในสหรัฐอเมริกา แยกความแตกต่างระหว่างโครงสร้างครัวเรือนหนึ่งกับโครงสร้างหลายครัวเรือน และคนทั้งหมดที่ไม่เป็นสมาชิกของครัวเรือนจะถือว่าอาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยกลุ่ม มีรายงานสถิติของบ้านจำแนกตามจำนวนชั้น ขอให้สังเกตว่าในยุโรปชั้นพื้นดินโดยทั่วไปไม่นับอยู่ในจำนวนชั้น ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกาเรียกชั้นพื้นดินว่าชั้นที่หนึ่ง
  2. ไม่มีกฎทั่วไปว่าจะนับรวมครัวไว้ในจำนวนห้องหรือไม่

121

ผู้เข้าไปอยู่ในที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่งอาจเป็นเจ้าของ1 หรือเป็นผู้เช่า2 ซึ่งเช่าที่อยู่อาศัยนั้นจากเจ้าของ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นเจ้าของที่ดิน1 ผู้เช่าซึ่งเช่าที่อยู่อาศัยให้กับผู้เช่าช่วงเรียกว่าผู้เช่าหลัก5 ผู้เช่าช่วง3 คือคนที่เช่าต่อจากผู้เช่า บุคคลที่เข้าไปครอบครองที่อยู่อาศัยโดยไม่มีสิทธิทางกฎหมายเรียกว่าผู้บุกรุก4
  1. ที่อยู่อาศัยหรืออพาร์ทเมนท์อาจให้ค่าเช่าโดยมีหรือไม่มีเฟอร์นิเจอร์ซึ่งจะเรียกว่าที่อยู่อาศัยพร้อมเฟอร์นิเจอร์ หรือที่อยู่อาศัยไม่มีเฟอร์นิเจอร์

130

ศัพท์คำว่าสถิติประชากร1 หรือสถิติทางประชากร1หมายถึงข้อมูลตัวเลข2เกี่ยวกับประชากรซึ่งได้มาจากการสังเกต3 หลังจากการสังเกตเช่นนั้นได้รับการรวบรวม4ไว้ในแบบฟอร์ม (206-1) ที่เหมาะสม เอกสารแบบฟอร์มจะถูกบรรณาธิกรณ์5และตรวจสอบความถูกต้อง5เพื่อขจัดความไม่แนบนัย ข้อมูลจะถูกทำตาราง6 แบ่งเป็นกลุ่ม7 หรือชั้น8ที่มีลักษณะเหมือนกัน การประมวลผลข้อมูล9จะรวมขั้นตอนทั้งหมดระหว่างการรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ทางสถิติ10 (132-1)

131

ปรกติ ข้อมูลจะหมายถึงข้อมูลดิบ1 หรือข้อมูลหยาบ1 ก่อนที่มีการประมวลผลและการทำตาราง และหมายถึงข้อมูลเบื้องต้น1 หรือข้อมูลปฐมภูมิ1 หลังจากการประมวลผลและการทำตาราง โดยปรกติ ข้อมูลเบื้องต้นประกอบด้วยชุด2ของจำนวนสัมบูรณ์3 ซึ่งจะใส่รวมกันไว้ในรูปของตารางสถิติ4 ในตารางเหล่านั้น โดยทั่วไปข้อมูลจะถูกจำแนกออกตามตัวแปร5 อย่างเช่น อายุ จำนวนลูก ฯลฯ หรือตามลักษณะ6 หรือคุณลักษณะ6 (เช่น เพศ สถานภาพสมรส ฯลฯ) เมื่อข้อมูลถูกจำแนกออกตามตัวแปรหรือลักษณะหลายอย่างพร้อมๆ กัน ตารางจะเรียกว่าตารางไขว้7 หรือตารางการณ์จร7 ตารางสรุป8ให้ข้อมูลที่มีรายละเอียดน้อยกว่าตารางรายบุคคล9
  1. ข้อมูลที่โยงถึงบุคคล (110-2) ในฐานะเป็นหน่วยของการวิเคราะห์เรียกว่าเป็นข้อมูลจุลภาค ข้อมูลรวมหรือข้อมูลมหภาคโยงถึงหน่วยของการวิเคราะห์ที่นอกเหนือไปจากบุคคล ตัวอย่างเช่นประเทศหรือหน่วยการปกครองภายในประเทศ ข้อมูลจุลภาคได้มาจากหลายแหล่ง เช่นจากการสำรวจภาคสนาม (203-5) หรือตัวอย่างจากข้อมูลการจดทะเบียนชีพ แหล่งใหม่ของข้อมูลจุลภาคได้แก่ตัวอย่างจากสำมะโนที่ให้สาธารณะใช้ ซึ่งเป็นการสุ่มตัวอย่างอย่างเป็นระบบจากข้อมูลสำมะโนที่อนุญาตให้ใช้ในการวิเคราะห์ตามความสนใจของแต่ละบุคคล
  2. ตารางที่นำเสนอการกระจายของตัวแปรหรือลักษณะเดียวภายในประชากรหนึ่งโดยทั่วไปเรียกตารางความถี่

132

โดยทั่วไป การใช้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวข้องกับสองช่วงเวลา การวิเคราะห์1มุ่งไปที่การแยกส่วนประกอบของจำนวนที่สังเกตได้ (ขนาด โครงสร้าง ปัจจัยภายนอก และปรากฏการณ์ภายใต้การตรวจสอบ) การสังเคราะห์2เป็นกระบวนการรวมส่วนประกอบที่แยกกันออกไปในหลายๆ ทาง ไม่ว่าช่วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ3 หรือการคิดคำนวณ3ของดัชนีต่างๆ4 ซึ่งอาจแสดงด้วยชื่อต่างๆ (cf. § 133) ตรงข้ามกับข้อมูลเบื้องต้น ดัชนีเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นผลการศึกษา6 หรือดัชนีสังเคราะห์5 ในความหมายที่แคบลง ดัชนี7 (ดัชนีต่างๆ) หรือจำนวนดัชนี7 เป็นอัตราส่วนที่แสดงค่าของปริมาณที่สัมพันธ์ต่อฐาน8ซึ่งปรกติใช้จำนวน 100 ดัชนีบางตัวเป็นตัวชี้วัด9ที่ดีของสถานการณ์ที่ซับซ้อน ดังนั้น บางครั้งอัตราตายทารกจึงใช้เป็นตัวชี้วัดหนึ่งของสถานะสุขภาพอนามัยของประชากร
คอมพิวเตอร์เป็นระบบเครื่องจักรกลที่ออกแบบเพื่อให้ทำงานเกี่ยวกับการถ่ายทอด เก็บและคำนวณชุดข้อมูลขนาดใหญ่ เครื่องนี้ช่วยในการคำนวณสถิติและคณิตศาสตร์รวมทั้งการประมวลผลข้อมูล แต่ก่อนศัพท์คำว่า calculator และ computer ใช้เพื่อเรียกคนผู้ทำหน้าที่ในการคิดคำนวณ
  1. เครื่องคิดเลขเป็นเครื่องจักรกลที่มีความสามารถในการเก็บข้อมูลไม่มากนักที่ช่วยในการคิดคำนวณสถิติและคณิตศาสตร์

133

ขั้นตอนแรกๆ อย่างหนึ่งของการวิเคราะห์ (132-1) ประกอบด้วยการเชื่่อมโยงจำนวรวมประชากรหรือจำนวนเหตุการณ์ไปยังจำนวนหรือหรือจำนวนอื่นๆ ดัชนีที่เป็นผลลัพธ์มีชื่อเรียกหลายอย่าง อัตราส่วน6ที่ใช้เรียกในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน เป็นผลที่ได้มาจากการหารปริมาณของชนิดเดียวกัน เมื่อตัวตั้งและตัวหารเป็นชนิดเดียวกันแต่คนละประเภท (ตัวอย่างเช่น ผู้ชายและผู้หญิง เด็กและสตรี กลุ่มอายุต่าง ๆ กัน) อาจเรียกด้วยศัพท์คำอื่นในภาษาที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษโดยโยงปริมาณทั้งสองด้วยอัตราส่วนเฉพาะ1 (เช่นอัตราส่วนเพศ) สัดส่วน2คืออัตราส่วนซึ่งชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ในขนาดของส่วนหนึ่งต่อทั้งหมด อัตราสวนร้อย3คือสัดส่วนแสดงต่อร้อย อัตรา4คือประเภทพิเศษของอัตราส่วนที่ใช้เพื่อชี้ให้เห็นความถี่สัมพัทธ์5ของการเกิดขึ้นของเหตุการณ์เฉพาะอย่างหนึ่งภายในประชากรกลุ่มหนึ่ง หรือประชากรย่อยกลุ่มหนึ่งในระยะเวลาที่ระบุ ปรกติเป็นเวลาหนึ่งปี ถึงแม้การใช้นี้จะได้รับการแนะนำ คำนี้ยังใช้กันให้มีความหมายกว้างขึ้นและใช้กันผิด ๆ ให้มีความหมายเดียวกับคำว่าอัตราส่วน (ตัวอย่างเช่น อัตราการมีส่วนร่วมในแรงงาน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสัดส่วน)
  1. โดยทั่วไปจะพูดถึงอัตราต่อพัน และเมื่อศัพท์คำว่า "อัตรา" ใช้โดยไม่มีการขยายความต่อไปว่า "ต่อพัน" ก็จะเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นอัตราต่อพัน อย่างไรก็ตาม อัตราบางอย่างคิดเป็นอัตราต่อหมื่น ต่อแสน หรือต่อล้าน ตัวอย่างเช่น อัตราตายรายอายุและสาเหตุ (421-10) บางครั้ง อัตราอาจเป็นต่อคนหรือต่อร้อย บางครั้ง "อัตรา" ถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจ เช่นพูดว่า "การตายสิบต่อพัน" แต่เราไม่แนะนำให้พูดเช่นนั้น
  2. อัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) (cf 639-4) เป็นผลรวมของอัตราเจริญพันธุ์รายอายุ (cf 633-9) ตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์และดังนั้นจึงสูญเสียมิติในเรื่องช่วงเวลา (ต่อปี) ไป ความแตกต่างมีความสำคัญเปรียบได้กับระหว่างความยาวกับพื้นผิว หรือความเร็วกับความเร่ง ศัพท์คำว่าดัชนีสังเคราะห์ (synthetic index) (cf 132-5) จึงถูกนำมาใช้ในบางภาษาเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับมิติในเรื่องเวลา (ต่อปี) ของอัตรา : จำนวนของเหตุการณ์ทางประชากรศาสตร์หารด้วยระยะเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์นั้นหรือปีคน ถ้าใช้คำว่าอัตราในข้อความว่า ’’อัตราเจริญพันธุ์รวม’’ จะหมายถึง ’’ต่อสตรี 1 คน’’ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะมีคุณสมบัติเป็นอัตรา หากเป็นเพียงอัตราส่วนที่ไม่มีมิติเรื่องเวลา

134

ความถี่สัมพัทธ์ (133-5) ของเหตุการณ์ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่มักจะถือว่าเป็นมาตรวัดเชิงประจักษ์ของความน่าจะเป็น1 ของการเกิดขึ้นของเหตุการณ์นั้น เช่นนี้เท่ากับว่าบุคคลทั้งหมดที่ปรากฏในตัวหารเปิดตัวต่อความเสี่ยง3 ในบางทาง กล่าวคือต้องมีโอกาส2 หรือความเสี่ยง2 ที่เหตุการณ์ที่กำลังศึกษาจะเกิดขึ้นกับพวกเขา การใช้คำว่า "ความเสี่ยง" ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์ที่กำลังศึกษาเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา ดังนั้น จึงใช้คำว่า "ความเสี่ยงของการแต่งงาน" ประชากรมักจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ซึ่งความเสี่ยงของเหตุการณ์ที่กำลังศึกษาจะผันแปรระหว่างบุคคลในประชากรกลุ่มย่อยนั้นน้อยกว่าในประชากรทั้งหมด กลุ่มย่อยจะเหมือนกัน4 ในแง่ของความเสี่ยงมากกว่าประชากรทั้งหมดที่ต่างกัน5 อัตราที่คำนวณสำหรับกลุ่มย่อยเช่นนั้นเรียกว่าเป็นอัตราเฉพาะ6 ตรงข้ามกับอัตราอย่างหยาบ (136-8) ซึ่งคำนวณสำหรับประชากรทั้งหมด บางครั้งอัตราทั่วไป7 เกี่ยวข้องกับการจำกัดอายุ ดังตัวอย่างของอัตราเจริญพันธุ์ทั่วไป (633-7).

135

อัตรารายอายุ1 จะคำนวณสำหรับอายุรายปีหรือกลุ่มอายุ (อัตรารายกลุ่มอายุ2) อัตรารายช่วงเวลา3 จะนำเอาช่วงเวลาที่ผานไปตั้งแต่เหตุการณ์เส้นฐาน4 หรือจุดเริ่มต้นเหตุการณ์4 อย่างเช่น การแต่งงานหรือการเกิดลูกคนก่อน อัตรากึ่งกลาง10 ได้จากการนำจำนวนของเหตุการณ์ในช่วงหนึ่งปี หรือช่วงเวลาอื่น (มักใช้ 5 ปี) หารด้วยประชากรเฉลี่ย6 หรือประชากรกลางปี6 หรือหารด้วยจำนวนของปีคน7 ที่เปิดต่อการเกิดเหตุการณ์ที่กำลังศึกษาในช่วงปีหรือระยะเวลานั้น จำนวนของปีคนคือ ผลรวมที่แสดงเป็นปีของเวลาที่เปิดต่อความเสี่ยงสำหรับบุคคลทั้งหมดในกลุ่มที่ศึกษาตลอดปีหรือระยะเวลานั้น คำว่าอัตรามักจะใช้สำหรับมาตรวัดอีกประเภทหนึ่งด้วย โดยได้จากการนำจำนวนเหตุการณ์ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่ในหนึ่งปีหรือในระยะเวลาหลายปี มาหารด้วยขนาดของรุ่นประชากรเมื่อเริ่มต้นของปีหรือระยะเวลา ผลหารที่ได้นี้บางครั้งเรียกความน่าจะเป็นลดทอน5 (attrition probability) หรือเรียกให้ง่ายกว่านั้นว่าความน่าจะเป็น5 และตรงข้ามกับอัตรากึ่งกลาง ที่ได้นิยามมาก่อนแล้ว ในย่อหน้านี้ คำว่า"ระยะเวลา" หมายถึงความยาวของเวลา อย่างไรก็ตามในมาตรวัดที่เรียกว่าอัตราช่วงเวลา8 คำนี้ใช้ในความหมายของลำดับเวลา และหมายถึงปีปฏิทินเฉพาะปีหนึ่งหรือกลุ่มของปี ตรงข้ามกับอัตราตามรุ่น9 หรืออัตรารุ่นวัย9

136

ข้อมูลเรียกว่าเป็นชั่วคราว1 ถ้ายังได้จากการสังเกตที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ได้ถูกควบคุมอย่างเพียงพอ ข้อมูลสุดท้าย2 จะนำมาแทนเมื่อการสังเกตสมบูรณ์แล้ว อัตราที่คำนวณได้จากข้อมูลเหล่านี้เรียกว่าเป็นอัตราชั่วคราว3 และอัตราสุดท้าย4 ตามลำดับ เมื่อข้อมูลพร้อมเสนอต่อสาธารณะหลังจากตัวเลขต่างๆ ได้พิมพ์ออกมาแล้ว อาจมีการออกอัตราที่ปรับแก้5 คำว่าอัตราที่แก้ไขแล้ว6 ปรกติสื่อความหมายว่าข้อมูลบกพร่อง หรือวิธีการไม่เหมาะสม ได้ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ว่าจะทำให้เข้าใจผิดหรือมีคุณค่าจำกัดสำหรับความต้องการที่มีอยู่ในขณะนั้น และได้มีความพยายามที่จะแก้ไข อย่างเช่นการปรับแก้สำหรับการตกแจงนับ การปรับแก้สำหรับการย้ายถิ่น การปรับแก้สำหรับการเคลื่อนย้ายตามฤดูกาล อัตราปรับฐาน7 หรืออัตราที่ปรับ7 ออกแบบสำหรับตัวแปรหนึ่งเพื่อให้เปรียบเทียบประชากรต่างกันได้ เช่น ภาวะเจริญพันธุ์ หรือภาวะการตาย เมื่ออิทธิพลของอีกตัวแปรหนึ่ง เช่น อายุถูกจับให้คงที่ คำที่ว่าอัตราที่แก้ไขแล้ว7 ถูกใช้โดยนักประชากรศาสตร์บางคนเพื่อให้มีความหมายเดียวกันกับอัตราปรับฐาน เมื่อข้อมูลไม่สามารถนำมาประมาณทางตรงเพื่อหาอัตรา (เช่น ประชากรขนาดเล็ก) การใช้อัตรามาตรฐาน9 (เช่น cf. 403-6) ที่คำนวณมาจากข้อมูลที่มีคุณภาพดีและประยุกต์เข้ากับประชากรจริง จะให้ค่าประมาณทางอ้อมของจำนวนเหตุการณ์ที่คาด ซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบกับจำนวนเหตุการณ์ที่สังเกต อัตราที่ไม่ปรับฐานเรียกว่าอัตราอย่างหยาบ8 ถึงแม้ว่าอัตราอย่างหยาบอาจใช้เพื่อวัดแนวโน้มที่เป็นจริง การตีความที่ผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ที่ไม่พิจารณาให้รอบคอบเมื่อนำประชากรที่มีโครงสร้าง (144-4) แตกต่างกันมาเปรียบเทียบกัน

137

ดัชนี (132-7) ทางประชากรศาสตร์ส่วนมากจะสัมพันธ์กับช่วงเวลาของการสังเกต1 ช่วงหนึ่ง ข้อนี้เป็นจริงโดยเฉพาะกับอัตรา (cf. 133-4) ส่วนมาก อัตราต่อปี2 จะสัมพันธ์กับระยะเวลา 12 เดือน เมื่อข้อมูลจากการสังเกตถูกรวบรวมในช่วงเวลาหลายปีแล้วนำมาเฉลี่ย คำว่าอัตราต่อปีมัชฌิม3 หรืออัตราต่อปีเฉลี่ย3 มักจะใช้เรียกผลที่ได้นั้น เมื่ออัตราคำนวณสำหรับระยะเวลาที่แตกต่างจากปีหนึ่ง ก็จะแปลงให้เป็นฐานต่อไป4 โดยการคูณด้วยตัวคูณที่เหมาะสม บางครั้งมีการคำนวณอัตราฉับพลัน5 อัตราเหล่านี้สัมพันธ์กับระยะเวลาที่ไม่สิ้นสุด ตัวอย่างเช่น อัตราตายฉับพลัน (431-4) หรือ อัตราฉับพลันของการเพิ่มประชากร (702-5)

138

วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการวิเคราะห์ตามรุ่น (103-4) คือการศึกษาความเข้มข้น1 และจังหวะ2 หรือเวลา2ของปรากฏการณ์ทางประชากร ความเข้มข้นของปรากฏการณ์ที่เริ่มจากเหตุการณ์ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่ (201-4) อย่างหนึ่ง อาจวัดโดยความถี่สูงสุด3ของการเกิดขึ้นสำหรับเหตุการณ์อย่างหนึ่ง หรือโดยผลข้างเคียง ความถี่สูงสุดสะท้อนสัดส่วนของบุคคลซึ่งได้ประสบกับเหตุการณ์นั้นเมื่อไม่มีอิทธิพลจากภายนอก ในระหว่างการคงอยู่ของคนรุ่น (116-2) นั้น ความเข้มข้นของปรากฏการณ์ที่เริ่มโดยเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ (201-5) อย่างเช่น การเกิด การย้ายถิ่น สามารถวัดได้ด้วยจำนวนเฉลี่ยของเหตุการณ์4ต่อคนในรุ่นนั้นเมื่อไม่มีอิทธิพลจากภายนอก จังหวะหรือเวลาอาจนิยามว่าเป็นการกระจายของเหตุการณ์ทางประชากรตามปรากฏการณ์ที่ศึกษาตลอดเวลาภายในรุ่นนั้น ผลของการวิเคราะห์แบบตัดขวาง หรือการวิเคราะห์ตามช่วงเวลา (103-5) สรุปได้โดยมาตรวัดตามช่วงเวลา5 — ซึ่งตรงข้ามกับมาตรวัดตามรุ่น6 — ซึ่งอาจสร้างขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ เทคนิควิธีที่ใช้กันทั่วไปประกอบด้วยการคิดอัตราจากข้อมูลที่สังเกตุได้ของกลุ่มอายุ หรือระยะเวลาต่าง ๆ กับรุ่นสมมุติ7 หรือรุ่นเทียม7
  1. ความถี่ หรือผลที่เกิดขึ้น มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันขึ้นอยู่กับปรากฎการณ์ที่ศึกษา เช่น อัตราส่วนจำนวนบุตรลำดับถัดไป (637-7) ความถี่ของการครองโสดที่แน่นอนแล้ว (521-1) ... เราไม่ควรใช้คำว่าสัดส่วนในชื่อเหล่านี้ คำว่าสัดส่วนควรสงวนไว้ใช้กับสัดส่วนที่สังเกตได้ ตัวอย่างเช่น ความถี่ของของการครองโสดที่แน่นอนแล้วต้องให้แตกต่างจากสัดส่วนคนโสดในแต่ละกลุ่มอายุที่เป็นข้อมูลในสำมะโน
  2. ไม่ผิดปรกติแต่อย่างใดที่จะให้ชื่อเหมือนกันแก่จำนวนเฉลี่ยของเหตุการณ์ต่อคนที่เกิดขึ้น และแก่จำนวนที่ควรจะเกิดขึ้นถ้าไม่มีอิทธิพลภายนอกอย่างเช่นภาวะการตาย ศัพท์ต่างกันที่ควรใช้ เช่น จำนวนของบุตรเกิดรอด (637-2) สามารถแยกความแตกต่างจากภาวะเจริญพันธุ์สะสม (636-2)
  3. เพราะว่าการวิเคราะห์แบบตัดขวางและรุ่นวัยสมมุติถูกใช้มาก่อนการวิเคราะห์ตามรุ่นที่แท้จริง ชื่อของดัชนีขณะเวลามักจะมีนัยว่าเป็นดัชนีของรุ่นวัยหนึ่ง การใช้คำเช่นนี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ตัวอย่างเช่น ความน่าจะเป็นของการเกิดเฉพาะลำดับที่เกิดอาจเกินกว่าหนึ่งสำหรับบางปีเมื่อการเกิดที่เลื่อนไปจำนวนจำนวนมากเข้ามารวมอยู่ที่อายุนั้น

140

ค่าเฉลี่ย1 หรือค่ามัชฌิม1ที่มีการใช้บ่อยมากในวิชาประชากรศาสตร์ เป็นค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์2 หรือค่ามัชฌิมทางคณิตศาสตร์2 ซึ่งประกอบด้วยผลรวมของค่าทั้งหมดหารด้วยจำนวนของค่าเหล่านั้น เมื่อคำว่าค่าเฉลี่ยหรือค่ามัชฌิมใช้โดยไม่มีการบอกลักษณะอย่างอื่นจะมีความหมายถึงค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์ ค่ามัชฌิมเรขาคณิต3 หรือค่าเฉลี่ยเรขาคณิต3บางครั้งนำมาใช้เมื่อค่าที่สังเกตได้ทั้งหมดเป็นบวก ค่านี้เป็นรากที่ N ของผลคูณของค่า N เหล่านั้น ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก4 หรือค่ามัชฌิมถ่วงน้ำหนัก4 นำมาใช้เมื่อรายการต่างๆ ได้รับความสำคัญไม่เท่ากัน คำนวณได้โดยการคูณแต่ละรายการด้วยปัจจัยถ่วงน้ำหนัก5 หรือน้ำหนัก5 ค่ามัธยฐาน6เป็นค่าขององค์ประกอบซึ่งแบ่งชุด7ของหน่วยสังเกตออกเป็นสองครึ่ง ฐานนิยม8เป็นค่าที่มีมากที่สุดหรือมีความถี่สูงสุดในชุดของหน่วยสังเกตนั้น

141

การกระจาย1 การกระจัดกระจาย1 การผันแปร1 หรือความแปรปรวน1 ของชุดของหน่วยสังเกตขึ้นอยู่กับความแตกต่าง2 หรือความเบี่ยงเบน2 ระหวางองค์ประกอบ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะมาตรวัดการกระจาย3เท่านั้น พิสัย4หมายถึงความแตกต่างระหว่างค่าที่มากที่สุดกับค่าที่น้อยที่สุดของชุดขององค์ประกอบเหล่านั้น พิสัยอินเทอร์ควอไทล์5เป็นความแตกต่างระหว่างควอไทล์ (142-2)ที่หนึ่งและที่สาม และจะมีหน่วยสังเกตครึ่งหนึ่งในชุดนั้น พิสัยกึ่งอินเทอร์ควอไทล์6 บางครั้งเรียกว่าความเบี่ยงเบนควอไทล์6 ซึ่งหมายถึงครึ่งหนึ่งของพิสัยอินเทอร์ควอไทล์ มีการใช้บ่อยๆ ในการวัดการกระจาย ความเบี่ยงเบนมัชฌิม7 หรือความเบี่ยงเบนเฉลี่ย7หมายถึงค่ามัชฌิมคณิตศาสตร์(140-2)ของค่าบวกของความเบี่ยงเบนของแต่ละรายการจากค่าเฉลี่ย ค่าแปรปรวน8หมายถึงค่ามัชฌิมคณิตศาสตร์ของกำลังสองของค่าเบี่ยงเบนเหล่านี้ และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน9หมายถึงรากที่สองของค่าความแปรปรวน
  1. สัญญลักษณ์ที่ใช้กันทั่วไปสำหรับค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานคือ σ

142

ถ้าอนุกรมของหน่วยสังเกตถูกจัดเรียงลำดับให้สูงขึ้น ค่าซึ่งมีต่ำกว่าสัดส่วนหนึ่งของหน่วยสังเกตนั้นจะเรียกว่าควอนไทล์1 หรือสถิติลำดับ1 ค่ามัธยฐาน (140-6)ได้เอ่ยถึงมาก่อนนี้แล้ว สถิติลำดับที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ควอไทล์2 เดไซล์3 และเปอร์เซ็นไทล์4 หรือเซ็นไทล์4 ซึ่งแบ่งหน่วยสังเกตออกเป็นสี่ส่วน สิบส่วน และร้อยส่วนตามลำดับ

143

ตัวแปรเป็นค่าต่อเนื่อง1ในช่วงชั้นหนึ่งที่กำหนดให้ เมื่อตัวแปรนั้นสามารถมีจำนวนไม่สิ้นสุด (infinite number) ของค่าระหว่างสองจุดที่อยู่ในช่วงชั้นนั้น ในกรณีตรงกันข้ามจะเรียกว่าเป็นค่าไม่ต่อเนื่อง2 เมื่อตัวแปรสามารถมีค่าเพียงค่าที่แยกๆ ออกมาเท่านั้น จะเรียกว่าตัวแปรแยก3

144

การจัดเรียงสมาชิกของประชากรในประเภทหรือชั้นต่างๆ ของคุณลักษณะหรือตัวแปรเฉพาะทำให้เกิดการกระจายความถี่1ซึ่งมักเรียกสั้นๆ ว่าการกระจาย1 อัตราส่วนของจำนวนในแต่ละกลุ่มหรือเซลล์—ความถี่สัมบูรณ์2หรือความถี่ชั้น2— ต่อจำนวนรวมในกลุ่มทั้งหมดเรียกว่าความถี่สัมพัทธ์3ในกลุ่มนั้น ในวิชาประชากรศาสตร์ ศัพท์คำว่าโครงสร้าง4และองค์ประกอบ4มักจะใช้แทนกันได้ เพื่ออธิบายลักษณะอย่างเช่น อายุ เพศ สถานภาพสมรส อาชีพ ฯลฯ บางครั้งโครงสร้างใช้ในความหมายที่แคบกว่าเพื่ออธิบายการกระจายของประชากรตามอายุและเพศเท่านั้น
  1. คำว่าการกระจายตัวประชากรปรกติหมายถึงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ควบกับชื่อของคุณลักษณะหรือลักษณะที่ทำการวิเคราะห์ คำว่าการกระจายตัวจะมีความหมายเหมือนกับคำว่าโครงสร้างหรือส่วนประกอบ ดังนั้นในการอ้างอิงจึงพบคำว่า การกระจายอายุ ส่วนประกอบอายุและเพศ และโครงสร้าอายุและเพศ

150

เมื่อพิจารณาการเคลื่อนไหวของตัวแปรทางประชากรตามเวลาที่เปลี่ยนไป ก็จะได้อนุกรมเวลา1ทางประชากร บางครั้งเป็นไปได้ที่จะแยกส่วนประกอบของอนุกรมเวลาออกเป็นแนวโน้ม2 ซึ่งจะมีการขึ้นๆ ลงๆ3 ความผันแปร3หรือความเบี่ยงเบน3 (141-2) เมื่อการขึ้นๆ ลงๆ เช่นนั้นมักจะเกิดขึ้นหลังจากระยะเลาหนึ่ง โดยปรกติเป็นเวลาหลายๆ ปีก็เรียกว่าเป็นการขึ้นๆ ลงๆ ตามรอบ4 หรือให้มีความหมายทั่วไปยิ่งขึ้นการขึ้นๆ ลงๆ ตามช่วงเวลา4 ในวิชาประชากรศาสตร์ ระยะเวลาที่ใช้กันมากที่สุดในการรวบรวมข้อมูลคือหนึ่งปี และการขึ้นๆ ลงๆ ในช่วงเวลาย่อยของปีจะเรียกว่าการขึ้นๆ ลงๆ ตามฤดูกาล5 การขึ้นๆ ลงๆ ที่ยังคงอยู่หลังจากแนวโน้มการขึ้นๆ ลงๆ ตามฤดูกาลและตามรอบได้ถูกขจัดออกไปแล้วเรียกว่าการขึ้นๆ ลงๆ ผิดปรกติ6 การขึ้นๆ ลงๆ ผิดปรกติอาจเนื่องมาจากปัจจัยที่เป็นข้อยกเว้นอย่างเช่น การเคลื่อนย้ายคนในช่วงสงคราม หรือบางครั้งอาจเป็นการขึ้นๆ ลงๆ ตามโอกาส7หรือการขึ้นๆ ลงๆ โดยบังเอิญ7
  1. ในความหมายทั่วไปคำว่าความผันแปรอาจใช้เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงในค่าใดหรือชุดของค่าของตัวแปรหนึ่ง

151

บางครั้งเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่จะแทนอนุกรมของตัวเลขชุดหนึ่งด้วยอนุกรมอีกชุดหนึ่งที่แสดงว่ามีความสม่่ำเสมอกว่า กระบวนการนี้รู้จักกันว่าเป็นการปรับให้ค่อยๆ เปลี่ยน1หรือการปรับให้เรียบ1 และกระบวนการนี้ประกอบด้วยการพาดเส้นโค้งเรียบเส้นหนึ่งผ่านจุดต่างๆ ในอนุกรมเวลาหรืออนุกรมอื่นๆ เช่น จำนวนของบุคคลที่กระจายตามอายุที่รายงาน ถ้าเส้นโค้งเกิดจากการลากด้วยมือ กระบวนการนี้เรียกว่าการปรับให้ค่อยๆ เปลี่ยนโดยกราฟ2 เมื่อใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ในการปรับข้อมูล จะเรียกว่าการปรับเส้นโค้ง3 เส้นโค้งทางคณิตศาสตร์จะปรับให้สอดคล้องกับข้อมูลอาจจะด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุด4ซึ่งจะทำให้ผลรวมของค่ายกกำลังสองของความแตกต่างระหว่างอนุกรมข้อมูลก่อนและหลังปรับมีค่าน้อยที่สุด วิธีการอื่นๆ เช่นการเลื่อนค่าเฉลี่ย5 หรือวิธีการที่เกี่ยวข้องกับแคลคูลัสของค่าความแตกต่างที่ไม่เป็นศูนย์6 อาจใช้กระบวนการบางอย่างเพื่อการประมาณค่าระหว่างช่วง7 การประมาณค่าของอนุกรมที่จุดระหว่างกลางค่าที่ให้มา หรือเพื่อการประมาณค่านอกช่วง8 การประมาณค่าที่จุดภายนอกของพิสัยของค่าที่ให้มา

152

บ่อยครั้งที่เราจำเป็นต้องปรับการกระจายของข้อมูลให้ค่อยๆ เปลี่ยนเพื่อแก้ความโน้มเอียงที่ผู้คนจะให้คำตอบเป็นจำนวนกลม1 การกองข้อมูล2 หรือการนิยมตัวเลข2เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะในการกระจายอายุ และสะท้อนความโน้มเอียงของผู้คนที่จะบอกอายุของตนด้วยจำนวนที่ลงท้ายด้วย 0 5 หรือเลขอื่นๆ ที่นิยม การกองอายุ3บางครั้งวัดได้ด้วยดัชนีการนิยมอายุ4 ข้อมูลอายุมักต้องปรับเพื่อแก้รูปแบบอื่นๆ ของการรายงานอายุผิดพลาด5 หรือความลำเอียงในการรายงานอายุ5

153

ค่าตัวเลขของฟังก์ชันทางประชากรต่างๆ โดยทั่วไปจะใส่ไว้ในตาราง1 อย่างเช่นตารางชีพ (431-1) ตารางภาวะเจริญพันธุ์ (634-1) หรือตารางภาวะสมรส (522-1) ปรกติจะทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างตารางตามปีปฏิทิน2 หรือตารางตามช่วงเวลา2ซึ่งแสดงข้อมูลที่รวบรวมในช่วงเวลาที่จำกัด และตารางตามรุ่น3 หรือตารางตามรุ่นวัย3ซึ่งเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ตลอดชั่วชีวิตของคนรุ่นหนึ่ง ตารางแบบลดลงหลายทาง4แสดงผลพร้อมๆ กันของเหตุการณ์ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่หลายๆ อย่าง อย่างเช่นผลของการแต่งงานครั้งแรกและการตายต่อประชากรกลุ่มเดียว ตารางที่ใช้กันมากที่สุดคือตารางแบบลดลงสองทาง4 ตารางพยากรณ์5ให้ค่าตัวเลขของฟังก์ชันทางประชากร เช่นฟังก์ชันการรอดชีพ (431-6) ซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อพยากรณ์ประชากร (cf. 720-2) ได้โดยตรงเมื่อประชากรถูกจำแนกออกเป็นสองหรือมากกว่าสองกลุ่มอายุตามสถานภาพทางเศรษฐกิจ (เช่น สตรีในหรือนอกกำลังแรงงาน) สถานภาพสมรส ภาค ฯลฯ และเมื่อมีความเป็นไปได้ของทิศทางที่ต่อเนื่องระหว่างกลุ่มเกิดขึ้นตลอดเวลาแม้ว่าสถานะแต่ละบุคคลสามารถวัดได้ในเวลาที่แยกๆ กันเท่านั้น (คลื่นของการศึกษาระยะยาว การสอบถามถึงการจดทะเบียนประชากร ฯลฯ) วิธีเพิ่มขึ้น-ลดลง6 หรือวิธีหลายสถานะ6ถูกพัฒนาและนำมาใช้

154

เมื่อข้อมูลที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะให้ค่าของตัวแปรหนึ่งได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อาจต้องมีการประมาณ1ค่านี้ กระบวนการนี้เรียกว่าการประมาณ2 และค่าที่เป็นผลลัพธ์จะเรียกว่าค่าประมาณ3 ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลอยู่เลย บางครั้งอาจต้องทำการคาดคะเน4เพื่อให้ได้ลำดับของขนาด5

155

วิธีการแสดงด้วยกราฟ1 หรือการแสดงด้วยแผนภาพ1อาจใช้เพื่อแสดงข้อสรุปที่ได้รับ ข้อมูลจะนำออกแสดงในรูปของตัวเลข2 กราฟ2 แผนภูมิสถิติ3 หรือแผนที่3 การนำออกแสดงอย่างมีแบบแผนของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรมักจะเรียกว่าแผนภาพ4 ตัวอย่างเช่นแผนภาพเล็กซิส (cf.437) กราฟซึ่งแกนหนึ่งมีค่าเปลี่ยนไปเชิงล็อกการิทม์และอีกแกนหนึ่งค่าเปลี่ยนไปเชิงคณิตศาสตร์จะเรียกว่ากราฟกึ่งล็อกการิทม์5 แม้ว่ากราฟเช่นนั้นถูกเรียกผิดอยู่บ่อยๆ ว่ากราฟล็อกการิทม์5 กราฟล็อกการิทม์6ที่แท้จริงทั้งสองแกนจะมีค่าเปลี่ยนไปเชิงล็อกการิทม์ บางครั้งจึงเรียกกราฟชนิดนี้ว่ากราฟล็อกการิทม์สองแกน6 การกระจายความถึ่อาจนำแสดงเป็นรูปภาพโดยรูปหลายเหลี่ยมความถี่7ซึ่งได้จากการเชื่อมจุดที่แสดงความถี่ชั้นต่างๆ ด้วยเส้นตรง โดยกราฟแสดงความถึ่8 ซึ่งความถึ่ชั้นต่างๆ แสดงด้วยพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีช่วงชองชั้นนั้นเป็นฐาน โดยแผนภูมิแท่ง9ซึ่งความถี่ของชั้นเป็นสัดส่วนกับความยาวของแท่ง หรือโดยรูปยอดแหลม10ซึ่งแสดงการกระจายความถี่สะสม

160

วิธีการสุ่มตัวอย่าง1ใช้เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับประชากรจากเพียงบางส่วนของประชากร แทนที่จะต้องศึกษาทุกๆ คน (110-2) บางส่วนของประชากรที่ศึกษาเรียกว่าตัวอย่าง2 ประชากรเป็นกลุ่มรวมขององค์ประกอบ3ซึ่งเป็นเป้าหมายของการตรวจสอบศึกษา หน่วยตัวอย่าง4อาจเป็นองค์ประกอบหนึ่ง หรือกลุ่มขององค์ประกอบของประชากรและใช้สำหรับการเลือกตัวอย่าง ในตัวอย่างทางประชากรศาสตร์ โดยปรกติองค์ประกอบจะเป็นบุคคล (110-2) ครอบครัว (115-1) หรือครัวเรือน (110-3) และหน่วยตัวอย่างอาจเป็นบุคคล ครัวเรือน กลุ่มบ้าน เทศบาล หรือพื้นที่ ตัวอย่างจะประกอบด้วยจำนวนของหน่วยตัวอย่างที่เลือกให้เป็นไปตามโครงการสุ่มตัวอย่าง5 หรือแผนการสุ่มตัวอย่าง5

161

ตัวอย่างซึ่งองค์ประกอบถูกเลือกมาโดยกระบวนการให้โอกาสที่จะถูกเลือกเรียกว่ากลุ่มตัวอย่างด้วยการสุ่ม1 หรือสุ่มตัวอย่างด้วยหลักความน่าจะเป็น1 ถ้ามีบัญชีของหน่วยตัวอย่างที่สมบูรณ์จะเรียกบัญชีนี้ว่ากรอบตัวอย่าง3 ในการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย4 สัดส่วนของหน่วยตัวอย่างจะถูกเลือกจากกรอบตัวอย่างด้วยการสุ่ม2 สัดส่วนนี้เรียกว่าเศษส่วนตัวอย่าง5 หรืออัตราส่วนตัวอย่าง5 กลุ่มตัวอย่างอย่างเป็นระบบ6ถูกเลือกอย่างเป็นระบบ7จากกรอบซึ่งหน่วยตัวอย่างถูกให้หมายเลขไว้ตามลำดับ ตัวอย่างถูกเลือกโดยเลือกหน่วยที่ nth, (n + s)th, (n + 2s)th, ...., ฯลฯ เมื่อ n ไม่มากกว่า s และถูกเลือกมาโดยการสุ่ม ในการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่มรวม8 องค์ประกอบประชากรไม่ได้ถูกเลือกมาทีละหน่วย แต่เลือกมาเป็นกลุ่มซึ่งเรียกว่ากลุ่มรวม9

162

ในการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น1 ประชากรจะถูกแบ่งออกเป็นชั้น2 ซึ่งมีความหมายไปในเชิงว่าในชั้นนั้นมีความเหมือนกัน (134-4) มากกว่าประชากรทั้งหมดในแง่ของลักษณะที่ศึกษา และการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย (161-4) จะถูกเลือกในแต่ละชั้น เศษส่วนตัวอย่าง (161-5) ที่ผันแปรไปอาจใช้ในชั้นที่ต่างกัน การสุ่มตัวอย่างหลายขั้นตอน3เป็นวิธีการที่การเลือกตัวอย่างดำเนินไปในหลายขั้นตอน ตัวอย่างของหน่วยปฐมภูมิ4ถูกเลือกมาก่อนในขั้นแรก และหน่วยเหล่านี้จะถือเป็นประชากร (101-3) ที่จะเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่างย่อย5ของหน่วยทุติยภูมิ6 และกระบวนการเลือกตัวอย่างเช่นนั้นอาจทำซ้ำอีก เมื่อไม่มีกรอบตัวอย่างที่ดี อาจเลือกตัวอย่างของพื้นที่ที่กำหนดขอบเขตไว้บนแผนที่ กระบวนการนี้เรียกว่าการสุ่มตัวอย่างเชิงพื้นที่7

163

ในการสุ่มตัวอย่างด้วยหลักความน่าจะเป็น (161-1) วิธีการที่ให้โอกาสในการถูกเลือกถูกใช้เพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทน1 ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างซึ่งสะท้อนภาพจริงๆ ของประชากรในแง่ของลักษณะทั้งหมดที่กำลังศึกษายกเว้นการผันแปรขึ้นๆ ลงๆ อย่างไม่จงใจ ต่างจากการสุ่มตัวอย่างแบบโควต้า2 กลุ่มตัวอย่างถูกเลือกโดยจงใจเพื่อสะท้อนภาพประชากรที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง และพนักงานสัมภาษณ์ (204-2) แต่ละคนจะได้รับจำนวนโควต้า3ของประเภทต่างๆ ของหน่วยตัวอย่างที่จะนำไปรวมไว้ในกลุ่มตัวอย่างของเขา ภายในขอบเขตจำกัดของจำนวนในโควต้านั้น พนักงานสัมภาษณ์จะเลือกหน่วยตัวอย่างใดก็ได้

164

พารามิเตอร์ประชากร1เป็นค่าตัวเลขที่บอกลักษณะประชากรกลุ่มหนึ่ง การคาดประมาณทางสถิติ2เป็นชื่อที่ให้แก่กระบวนการซึ่งค่าของพารามิเตอร์นั้นได้ถูกประมาณจากกลุ่มตัวอย่าง ค่าประมาณเหล่านั้นอาจมีความคลาดเคลื่อนของการสุ่มตัวอย่าง3 และมาตรวัดของขนาดของความคลาดเคลื่อนของการสุ่มตัวอย่างโดยทั่วไปได้จากค่าคลาดเคลื่อนมาตรฐาน4 บางครั้งช่วงความเชื่อมั่น5ถูกโยงไปสัมพันธ์กับค่าคาดประมาณเพื่อแสดงขอบเขตซึ่งจำนวนที่คาดประมาณคาดว่าจะอยู่ในขอบเขตนั้นด้วยความน่าจะเป็นที่กำหนดไว้ก่อน ความแตกต่างระหว่างสองค่าเรียกว่าความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ6เมื่อความน่าจะเป็นที่เกิดจากโอกาสมีน้อยกว่าค่าที่กำหนดไว้ซึ่งเรียกว่าระดับนัยสำคัญ7 ฉะนั้น ความแตกต่างจะมีนัยสำคัญที่ระดับร้อยละ 5 ถ้าความน่าจะเป็นที่มันจะเกิดขึ้นโดยโอกาสน้อยกว่า 0.05 นอกจากความคลาดเคลื่อนของการสุ่มตัวอย่างแล้วความคลาดเคลื่อนของข้อมูล8 หรือความคลาดเคลื่อนของการตอบคำถาม8 ก็มีผลต่อค่าประมาณด้วย ปรกติความคลาดเคลื่อนเหล่านี้รวมความลำเอียงของพนักงานสัมภาษณ์9 ซึ่งเป็นความคลาดเคลื่อนอย่างเป็นระบบที่เกิดจากตัวพนักงานสัมภาษณ์ในขณะที่ทำการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น

บทที่ 2 • การจัดการและการประมวลผลสถิติประชากร

201

สถิติประชากรปัจจุบัน1อาจแยกออกจากสถิติของการเปลี่ยนแปลงประชากร2 สถิติประชากรปัจจุบันเกี่ยวข้องกับลักษณะคงที่ของเรื่องและให้ภาพฉับพลันของประชากร ณ เวลาหนึ่ง หน่วยสถิติ (110-1) ที่ใช้โดยทั่วไปเป็นครัวเรือน (110-3) บุคคล (110-2) ฯลฯ สถิติของการเปลี่ยนแปลงประชากรเกี่ยวข้องกับกระบวนการต่อเนื่องของการเปลี่ยนแปลงซึ่งกระทบต่อประชากร และเกี่ยวข้องอย่างมากกับเหตุการณ์ชีพ3 อย่างเช่นการเกิด การแต่งงาน และการย้ายถิ่น (801-1) เหตุการณ์ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่4 (ได้แก่การตาย) อาจแยกออกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ได้5 อย่างเช่น การตั้งครรภ์ การเกิด หรือการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ได้จะได้รับลำดับ6ขึ้นอยู่กับจำนวนของเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นกับบุคคลเดียวกัน สถิติของการเปลี่ยนแปลงประชากรเป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับการศึกษากระบวนการทางประชากร7ที่บางครั้งเรียกว่าพลวัตประชากร7 สำมะโน (cf. 202) เป็นแหล่งข้อมูลหลักในเรื่องสภาพของประชากร8 สถิติชีพ (212-1) เป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการศึกษาเรื่องการเพิ่มประชากร9 (cf.701) บางครั้งสถิติชีพเกี่ยวข้องกับการเพิ่มตามธรรมชาติ10เท่านั้น กล่าวคือ สถิติชีพไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายระหว่างประชากรที่ศึกษากับประชากรอื่น แต่กล่าวตามหลักเหตุผลแล้วสถิติการย้ายถิ่น (812-1) เป็นส่วนหนึ่งของสถิติของการเปลี่ยนแปลงประชากร ศัพท์คำว่าการเคลื่อนย้ายประชากร11ใช้เพื่อหมายถึงการเคลื่อนย้ายทางภูมิศาสตร์ของประชากร

202

สำมะโนประชากร1ทำขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของประชากร (201-8) ณ เวลาหนึ่ง ในสำมะโนประชากรส่วนมาก ผู้อยู่อาศัยทั้งหมดของประเทศหนึ่งจะถูกนับพร้อมๆ กัน สำมะโนอย่างนี้เรียกว่าสำมะโนทั่วไป2 อย่างไรก็ตาม บางครั้งจะนับเพียงบางส่วนของประชากร ได้แก่ ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่หนึ่ง ในกรณีนี้จะเรียกว่าสำมะโนบางส่วน3 อย่างไรก็ตาม ศัพท์คำว่า "สำมะโน" สื่อแสดงถึงความพยายามที่จะแจงนับสมาชิกทุกคนของประชากรที่เกี่ยวข้องและเพื่อที่จะได้การคุ้มรวมสมบูรณ์4ของประชากร จุลสำมะโน5จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มตัวอย่างของประชากร ปรกติมีขนาดใหญ่และจัดอยู่ในประเภทของการสำรวจตัวอย่าง6 สำมะโนหรือการสำรวจบางครั้งนำมาก่อนด้วยการทดสอบก่อน7 หรือการสำรวจนำร่อง7 เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ของการแจงนับ (230-2) การตรวจสอบหลังการแจงนับ8ด้วยการสำรวจหลังการแจงนับ9จะทำขึ้นหลังจากสำมะโน
  1. ช่วงเวลาระหว่างสำมะโนเป็นเวลาระหว่างสำมะโนสองครั้งติดต่อกัน
    สำมะโนสมัยใหม่สอดคล้องกับสิ่งที่เคยเรียกว่าการนับหัว คำว่าการนับประชากรรวมกระบวนการคาดประมาณซึ่งใช้วิธีนับคนที่มารับศีลมหาสนิท (214-2) ที่จดทะเบียนไว้หลายๆ ปี หรือนับครอบครัว (110-3) หรือแม้กระทั่งแพริช (214-1)

203

การแจงนับ1คือปฏิบัติการซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ได้จำนวนรวมประชากร การแจงนับแตกต่างจากการนับ2ธรรมดา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการเตรียมบัญชีรายชื่อ3ไว้ก่อน ในอีกด้านหนึ่งการสอบถาม4หรือการสำรวจ4โดยทั่วไปเป็นปฏิบัติการซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ได้ข้อมูลเฉพาะเรื่อง (เช่น แรงงาน) และมีวัตถุประสงค์จำกัด การสอบถามภาคสนาม5 หรือการสำรวจภาคสนาม5เป็นการตรวจสอบศึกษาซึ่งข้อมูลได้มาจากการสัมภาษณ์ส่วนตัว6 ในการสอบถามทางไปรษณีย์7 หรือการสำรวจแบบส่งกลับทางไปรษณีย์7 แบบสอบถาม (206-3)จะส่งไปทางไปรษณีย์โดยขอให้ผู้ตอบส่งกลับเมื่อทำเสร็จ การสำรวจย้อนเวลา8มุ่งสนใจต่อเหตุการณ์ทางประชากรในอดีต ในการสำรวจหลายรอบ9 เหตุการณ์ทางประชากรที่เกิดขึ้นตั้งแต่การสำรวจรอบก่อนจะถูกบันทึกไว้จากรอบที่สองเป็นต้นมา การสำรวจประเภทนี้จะต้องไม่นำไปปะปนกับการย้อนตามแบบสอบถาม10 ศัพท์ที่ใช้เพื่ออธิบายกรณีที่พนักงานสัมภาษณ์ต้องใช้ความพยายามหลายครั้งเพื่อเข้าถึงตัวผู้ตอบคำถาม ในสำมะโน อาจได้ข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ตรง11 หรือโดยการแจงนับด้วยตนเอง12 ในการสัมภาษณ์ตรงซึ่งเรียกว่าวิธีสอบถามอย่างละเอียด11ก็ได้ พนักงานสัมภาษณ์ (204-2) บันทึกข้อมูลที่ผู้ตอบคำถามให้เกี่ยวกับตัวเขา ในการแจงนับด้วยตนเองซึ่งเรียกว่าวิธีคนในครัวเรือนตอบเอง12 แบบสอบถามจะถูกกรอกโดยผู้ตอบ (204-1) เอง การแจงนับด้วยตนเองอาจอยู่ในรูปแบบของสำมะโนทางไปรษณีย์13

204

บุคคลผู้ตอบคำถามในสำมะโน (202-1) หรือการสำรวจ (203-4) เรียกว่าผู้ตอบ1 หรือผู้ให้ข้อมูล1 บุคคลผู้รวบรวม (130-4) ข้อมูลเรียกว่าพนักงานสัมภาษณ์2 พนักงานสนาม2 หรือพนักงานแจงนับ2 ศัพท์คำว่าพนักงานแจงนับปรกติจะสงวนไว้ใช้กับบุคคลที่รวบรวมข้อมูลในการทำสำมะโน ปรกติพนักงานแจงนับทำงานภายใต้การควบคุมของผู้ควบคุมงานสนาม3 หรือผู้ตรวจสอบงานสนาม3 สำมะโนทั่วไป (202-2) ปรกติจะดำเนินการโดยหน่วยงานสถิติ4ของแต่ละประเทศ
  1. ในประเทศสหรัฐอเมริกา หน่วยงานที่รับผิดชอบในการทำสำมะโนประชากรได้แก่ Bureau of the Census ในอังกฤษและเวลส์ General Register Office ในสก๊อตแลนด์คือGeneral Registry Office สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติรับผิดชอบในการทำสำมะโนประชากรตั้งแต่สำมะโนครั้งที่ 6 (พ.ศ.2503) เป็นต้นมา

205

ปรกติสำมะโนมีลักษณะบังคับ1 กล่าวคือผู้ตอบ (204-1) อยู่ภายใต้ข้อผูกมัดทางกฎหมายที่จะต้องให้ข้อมูลตามที่ขอ ในแง่นี้ สำมะโนแตกต่างจากการสอบถามโดยสมัครใจ2 (cf.203-4) ซึ่งการไม่ตอบ3อาจเป็นปัญหาสำคัญ การไม่ตอบเป็นปัญหาสำคัญโดยเฉพาะกับการสอบถามทางไปรษณีย์ (203-7) ซึ่งจำเป็นต้องติดตามผล4แบบสอบถามชุดแรกด้วยการส่งชุดที่สอง และบางครั้งด้วยการตามไปพบตัว ผู้ไม่ตอบ5มักจะแบ่งออกเป็นผู้ปฏิเสธ6 ได้แก่ ผู้ที่ไม่เต็มใจจะร่วมมือในการศึกษา และผู้ที่พนักงานสัมภาษณ์ (204-2) ไม่สามารถพบตัวได้ ผู้ไม่สามารถพบตัวได้จะถูกนับว่าเป็นผู้ไม่อยู่7 หรือติดต่อไม่ได้7 สัดส่วนของการปฏิเสธ8ในการตอบคำถามหนึ่งเป็นดัชนีที่มีประโยชน์ของปฏิกิริยาของผู้ตอบ การแทนที่ของหน่วยตัวอย่างที่ใช้ไม่ได้ด้วยหน่วยอื่นจะอ้างถึงว่าเป็นการแทนที่9

206

แบบฟอร์ม1ที่ใช้สำหรับการรวบรวมข้อมูลมีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ ศัพท์คำว่ารายการคำถาม2ใช้กันบ่อยโดยเฉพาะในคำว่ารายการคำถามสำมะโน2 แบบฟอร์มส่วนมากเป็นแบบสอบถาม3 โดยเฉพาะเมื่อออกแบบมาให้กรอกให้สมบูรณ์4โดยตัวผู้ตอบเอง ณ เวลาอื่น เจ้าหน้าที่ได้รับข้อความ5หรือรายละเอียด6ซึ่งสกัดออก7จากเอกสารที่เบื้องต้นไม่ได้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสถิติ ปรกติคำถามมีสองประเภท คำถามปลายปิด8ที่ผู้ตอบตอบโดยเลือกหนึ่งคำตอบจากคำตอบจำนวนจำกัดที่ใส่เป็นรายการไว้ในแบบสอบถาม หรือคำถามปลายเปิด9ซึ่งผู้ตอบอาจให้คำตอบเอง

207

รายการคำถาม (206-2) สำมะโน อาจเป็นรายการคำถามส่วนบุคคล1ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลเดียวเท่านั้น รายการคำถามครัวเรือน2 ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกแต่ละคนของครัวเรือน (110-3) หรือรายการคำถามรวม3 บัญชีรายชื่อ3 หรือรายการคำถามของพนักงานแจงนับ3ซึ่งพนักงานแจงนับ (204-2) ใส่ข้อมูลเป็นลำดับต่อเนื่องกันสำหรับทุกคนที่เขาแจงนับ อาจมีรายการคำถามพิเศษสำหรับประชากรสถาบัน (310-7) ซึ่งเรียกว่ารายการคำถามสถาบัน4

210

ปฏิบัติการสำมะโน1ปรกติเริ่มด้วยการกำหนดพื้นที่สำมะโน2และเขตแจงนับ3 เขตแจงนับในเมืองและนครใหญ่อาจประกอบด้วยชุมรุมอาคาร4หนึ่งหรือหลายแห่ง ชุมรุมอาคารนิยามได้ว่าเป็นกลุ่มของอาคารซึ่งสามารถเดินได้โดยรอบโดยไม่ต้องข้ามถนน หรือกลุ่มอาคารที่จำกัดขอบเขตโดยอุปสรรคบางประการอย่างเช่นทางรถไฟหรือแม่น้ำ มหานครใหญ่ส่วนมากของหลายประเทศแบ่งย่อยพื้นที่ออกเป็นพื้นที่ทางสถิติเรียกว่าเขตบริเวณสำมะโน5 ซึ่งอาจประกอบด้วยเขตแจงนับหนึ่งหรือหลายเขต

211

เหตุการณ์ชีพ1อาจนิยามว่าเป็นการเกิด การตาย การเกิดไร้ชีพ การตายตัวอ่อน การแต่งงาน การรับเลี้ยงดูบุตร การทำให้ชอบด้วยกฎหมาย การยอมรับ การยกเลิก การหย่า และการแยก กล่าวสั้นๆ คือหมายถึงเหตุการณ์ทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับการเข้าสู่หรือการออกจากชีวิตของบุคคลหนึ่งพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสถานภาพพลเมือง2 โดยทั่วไปบันทึกของเหตุการณ์เหล่านี้เรียกว่าบันทึกชีพ3 หรือบันทึกการทะเบียน3 ในหลายประเทศเพื่อเหตุผลทางกฎหมาย เหตุการณ์ชีพเป็นเป้าหมายของการจดทะเบียนชีพ4 หรือการทะเบียนราษฎร4 การจดทะเบียนเกิด5 การจดทะเบียนสมรส7 และการจดทะเบียนตาย9 ใช้แบบฟอร์มเฉพาะเป็นบันทึกการเกิด6 บันทึกการสมรส8 และบันทึกการตาย10 ศัพท์ที่กล่าวมานี้เป็นประเภทของเอกสารการจดทะเบียนที่ใช้กันมากที่สุด บุคคลผู้รับผิดชอบในการดูแลทะเบียนเหล่านี้เรียกนายทะเบียน11
  1. ระบบทะเบียนราษฎรของอังกฤษพัฒนามาจากทะเบียนแพริช (214-1) ซึ่งเก็บไว้โดยโบสถ์ ทะเบียนในสมัยเริ่แรกเป็นสมุดหุ้มปกซึ่งบันทึกเหตุการณ์ไว้เป็นบรรทัด ทุกวันนี้ข้อมูลของแต่ละบุคคลอยู่ในรูปของใบรับรอง ทะเบียนจะเป็นเอกสารแยกกันสำหรับแต่ละเหตุการณ์ชีพที่บันทึกไว้
    ระบบทะเบียนราษฎรของประเทศไทย อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทะเบียนราษฎรของประเทศไทยเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

212

สถิติชีพ1 หรือสถิติการจดทะเบียน1ได้มาโดยการประมวลผลบันทึกการจดทะเบียนหรือรายงานสถิติ2 ที่จัดให้มีขึ้น ณ ขณะเวลาที่มีการจดทะเบียน การทำตารางจำแนกตามสถานที่อยู่อาศัย3ของมารดาหรือของผู้ตายมักจะนับว่าเป็นประโยชน์ต่อวัตถุประสงค์ทางประชากรศาสตร์มากกว่าการทำตารางจำแนกตามสถานที่เกิดเหตุการณ์
  1. ในหลายประเทศเวลาของการจดทะเบียนการเกิดอาจจะล่าช้ากว่าเวลาที่เกิดอย่างมาก

213

การทะเบียนที่ได้อ้างถึงในย่อหน้าก่อน(cf.211-4) แตกต่างจากทะเบียนประชากร1ของประเทศที่มีระบบการจดทะเบียนแบบต่อเนื่อง2 ในทะเบียนประชากร สมาชิกทุกคนของประชากรหรือทุกครอบครัวอาจแสดงตนโดยบัตร3 และทะเบียนจะคงไว้4 หรือปรับให้เป็นปัจจุบัน4ผ่านข้อมูลซึ่งเข้าสู่ทะเบียนผ่านสำนักงานทะเบียนท้องถิ่น และผ่านการจดทะเบียนการเปลี่ยนที่อยู่อาศัย5 (cf.310-6) ปรกติทะเบียนประชากรจะจับคู่6กับผลของสำมะโนและปรับให้เป็นปัจจุบันตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ด้วยการตรวจสอบ7พิเศษ
  1. ไฟล์บัตรเป็นการรวมบัตร โดยทั่วไปไฟล์เป็นการรวบรวมข้อมูลที่จัดไว้อย่างเป็นระเบียบ

214

ประชากรศาสตร์ประวัติศาสตร์ (102-1) มักใช้เอกสารซึ่งมีมาก่อนหรือใช้มาก่อนการพัฒนาการจดทะเบียนราษฎร (211-4) และบัญชีรายชื่อ (207-3)จากสำมะโน ทะเบียนแพริช1 หรือทะเบียนเกี่ยวกับท้องถิ่น1มีข้อมูลของเหตุการณ์ทางศาสนาที่เทียบได้กับเหตุการณ์ชีพ อย่างเช่นพิธีแบบติสม์2 พิธีแต่งงานทางศาสนา (503-2) และพิธีฝังศพ3 สำหรับคริซอมส์5 หรือ ทารกที่เข้าพิธีแบบติสม์ส่วนตัว4แล้วตายที่บ้านก่อนที่จะเข้าพิธีที่โบสถ์อย่างเป็นทางการ จะมีเพียงบันทึกการฝังศพเท่านั้น บัญชีรายชื่อมีข้อมูลของประชากรบางส่วนหรือข้อมูลประชากรทั้งหมดจะหาได้ยาก บัญชีรายชื่อรวมสมุดครอบครัวประจำแพริช6ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อของผู้อยู่ในเขตตำบลของโบสถ์ทั้งหมด บัญชีรายชื่อผู้เข้าพิธี7 และบัญชีรายชื่อผู้รับศีลมหาสนิท8 เช่นเดียวกับเอกสารทางการคลังและการปกครอง อย่างเช่นบัญชีผู้เสียภาษีครัว9 ทะเบียนการเสียภาษี10 และบัญชีการเกณฑ์ทหาร11

215

ข้อมูลถูกสกัดจากทะเบียนแพริชโดยอาศัยแบบฟอร์ม1 หรือใบสำคัญ1หลายประเภท ซึ่งรวมใบสำคัญแบบติสม์2 ใบสำคัญแต่งงาน3 และใบสำคัญฝังศพ4 ชื่อของหัวข้อของบันทึก5 (นั่นคือ บุคคลที่เข้าพิธีรับศึลจุ่ม ศพที่ถูกฝัง คู่แต่งงาน) จะถูกจารึกไว้บนแผ่นป้ายเหล่านี้ และข้อมูลจะถูกบันทึกไว้เกี่ยวกับพ่อแม่และบุคคลอื่นๆ อย่างเช่น พ่อทูนหัว6 แม่ทูนหัว7 และพยาน8 มีการใช้แถลงการณ์นิรนาม9 ม้วนชื่อ10 และฟอร์มสำเนา11อื่นๆ ทั้งที่มีและไม่มีชื่อของหัวข้อ เพื่อสกัดข้อมูลออกมาด้วย การประกอบสร้างครอบครัวขึ้นใหม่ (638-2) ใช้ประโยชน์จากแบบฟอร์มการสร้างครอบครัว (638-1) เมื่อการลำดับวงศ์ตระกูล12สร้างสายการสืบทอดของบุคคลหรือครอบครัวขึ้นใหม่ ลำดับวงศ์ตระกูลนั้นก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณค่าเกี่ยวกับลักษณะทางประชากรศาสตร์ของชนชั้นสูง

220

กระบวนการของการได้มาซึ่งข้อมูลสถิติจากเอกสารที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์นี้เรียกว่าการสกัด1 โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากแหล่งใด ข้อมูลทางสถิติจะต้องมีการประมวลผล2ซึ่งอาจทำด้วยมือ3 ด้วยเครื่องกล4 ด้วยเครื่องอิเลคทรอนิค5 หรือวิธีการเหล่านี้ผสมกัน การประมวลผลด้วยมือไม่ต้องใช้อุปกรณ์ที่ซับซ้อนไปกว่าเครื่องคิดเลขแบบตั้งโต๊ะ6 การประมวลผลด้วยเครื่องกลใช้เครื่องทำตาราง (224-2) หรือเครื่องเจาะบัตร (224-3) การประมวลผลด้วยเครื่องอิเลคทรอนิคใช้คอมพิวเตอร์ (132-2*) ไม่ว่าจะประมวลผลข้อมูลด้วยประเภทของปฏิบัติการ7ใด จะต้องรวมการบรรณาธิกรณ์8ข้อมูล การทำตาราง (130-6*) และการคำนวณ (132-2) และการเตรียมตาราง9 ปฏิบัติการเหล่านี้จะเป็นไปอย่างซับซ้อนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวิธีการประมวลผลที่เลือกใช้
  1. การบรรณาธิกรณ์ (editing) ในภาษาอังกฤษคำนี้หมายถึงการดำเนินการกับทั้งเอกสารพื้นฐาน หรือข้อมูลที่เครื่องจักรอ่านได้ เพื่อที่จะแก้ไขความไม่แนบนัย หรือกำจัดส่วนที่ตกหล่นไป ในภาษาฝรั่งเศส การบรรณาธิกรณ์หมายถึงขั้นตอนของการเตรียมตาราง
    ในภาษาไทย มีความหมายเหมือนในภาษาอังกฤษ

221

ปรกติการบรรณาธิกรณ์ข้อมูลต้องมีการลงรหัส1ของบันทึกจำนวนหนึ่งในเอกสารพื้นฐาน2ก่อน แนวการลงรหัส3จะวางไว้ให้สอดคล้องกันระหว่างบันทึกและคำแปลเป็นรหัสตัวเลขหรือรหัสอักษร สมุดลงรหัส (code book) รวบรวมและอธิบายแนวการลงรหัสที่ใช้กับเอกสารพื้นฐานชุดเฉพาะนั้น ปรกติแนวการลงรหัสจะออกแบบมาเพื่อช่วยในการรวมกลุ่มข้อมูลในภายหลัง ในทางตรงกันข้าม การแยกประเภท4เป็นเพียงบัญชีรายการของรหัสแต่ละตัว ในขณะที่แต่ละหัวข้อ5จะให้เลขจำนวนหนึ่งหรือหลายจำนวน หลังจากที่ข้อมูลได้ถูกลงรหัสแล้ว ก็จะเกิดไฟล์ (213-3*)ขึ้นมาซึ่งสามารถแปลงให้อยู่ในรูปที่เครื่องกลจะอ่านได้ ขั้นตอนที่สองในการบรรณาธิกรณ์ประกอบด้วยการชำระ6ไฟล์ข้อมูลด้วยการกำจัดข้อผิดพลาด โดยการตรวจสอบความถูกต้อง7 และการตรวจสอบความแนบนัย7 การตรวจสอบเหล่านี้สามารถทำเป็นการตรวจสอบภายในในแต่ละหน่วยสถิติ (cf. 110-1) หรืออาจเป็นผลมาจากการเปรียบเทียบของหน่วยต่างๆ กัน หลังจากที่ข้อผิดพลาดได้ถูกตรวจพบแล้ว อาจมีการแก้ไขในเอกสารเดิม หรือแก้ในไฟล์โดยกระบวนการอัตโนมัติบางอย่าง

222

ข้อมูลที่บรรณาธิกรณ์แล้วไม่ค่อยมีการนำไปใช้โดยตรง ข้อมูลเหล่านี้จะต้องมีการจัดกลุ่ม (130-7) และทำตาราง (130-6*) ที่จะนำไปสู่การนำเสนอในรูปของตารางสถิติ (131-4) สิ่งเหล่านี้อาจเป็นผลลัพธ์ของการแยกประเภท1ไม่ว่าจะทำด้วยมือหรือด้วยเครื่องกล เป็นผลให้เกิดการจัดแบ่งกลุ่มขององค์ประกอบต่างๆ ในอนุกรมนั้นใหม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมา หรือเป็นเพียงการนับอย่างมีระบบขององค์ประกอบที่มีลักษณะที่เลือกไว้ การเลือกขององค์ประกอบหรือของลักษณะอาจมีพื้นฐานอยู่บนค่าของลักษณะเชิงปริมาณอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง หรือแบบวิธี2ของลักษณะเชิงคุณภาพอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง การศึกษาบางโครงการสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีการคิดคำนวณ ง่ายหรือซับซ้อน แยกเดี่ยวหรือทำซ้ำ และคอมพิวเตอร์ (225-2)ช่วยให้การคำนวณที่ถ้าทำด้วยมือแล้วจะใช้เวลาและยุ่งยากมากให้เป็นไปได้อย่างง่ายดาย ความสามารถของคอมพิวเตอร์เหล่านี้ได้นำไปสู่พัฒนาการของเทคนิคต่างๆ ของการวิเคราะห์ข้อมูล3 แบบจำลอง (cf. 730) แบบตัวกำหนดหรือแบบสโตคาสติกต้องการการคำนวณที่มากมายมหาศาล เช่นเดียวกับการทำเหตุการณ์จำลอง (730-6)

223

ขั้นตอนของการเตรียมตาราง (220-9) มุ่งที่จะทำให้ผลของการประมวลผลข้อมูลนำไปใช้ได้อย่างสะดวกในรูปแบบของบัญชีรายการ1 ตารางตัวเลข (131-4) หรือแผนภูมิ (155-2) ทั้งหมดนี้ใช้กันทั่วไปในสถิติเชิงพรรณนา2 การใช้การทำกราฟคอมพิวเตอร์3 และการสร้างแผนภาพคอมพิวเตอร์3 ทำให้สามารถสร้างผลผลิตจำนวนมากๆ ของการนำเสนอเป็นกราฟฟิกตั้งแต่ยังอยู่ในขั้นตอนต้นๆ ของโครงการ

224

การประมวลผลด้วยเครื่องกล (220-4) ล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิค1 ซึ่งได้เข้ามาแทนที่เครื่องทำตาราง2 หรือเครื่องบันทึกหน่วย2ยุคก่อนและมีความสามารถรอบด้านมากกว่า ส่วนมากข้อมูลจะถูกลงรหัส (221-1*) ก่อนแล้วจึงถ่ายลงไปสู่บัตรเจาะ3โดยการใช้เครื่องเจาะบัตร4 เครื่องตรวจบัตร5เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการเจาะบัตร เครื่องบันทึกหน่วยทั้งสองประเภทนี้ยังคงมีใช้กันอยู่เนื่องจากบัตรเจาะยังเป็นวิธีนำข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป อุปกรณ์บันทึกหน่วยประเภทอื่น อย่างเช่น เครื่องแยกบัตร6 และเครื่องทำตาราง7มีการใช้น้อยลงแล้ว ที่มีการใช้เพิ่มขึ้นคือการใส่ข้อมูลโดยตรงเข้าไปสู่แถบแม่เหล็ก (cf. 226-4) หรือ แผ่นดิสก์ (cf. 226-5) โดยไม่ต้องใช้บัตรเจาะ

225

การวิจัยทางประชากรศาสตร์ขึ้นอยู่อย่างมากกับการประมวลผลข้อมูลด้วยเครื่องอิเลคทรอนิค1โดยใช้คอมพิวเตอร์2 ศัพท์คำว่าฮาร์ดแวร์3หมายถึงส่วนประกอบทางกายภาพ ในขณะที่ซอฟท์แวร์4จะช่วยผู้ใช้5ด้วยวิธีเข้าถึงคอมพิวเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์6 มีโปรแกรมเมอร์7 คือคนที่เขียนโปรแกรม8ที่คิดขึ้นโดยนักวิเคราะห์ระบบ9

226

ส่วนประกอบฮาร์ดแวร์ (225-3) ของคอมพิวเตอร์ (225-2)รวมหน่วยประมวลผลกลาง1หนึ่งหรือหลายตัว หน่วยความจำกลาง2 อุปกรณ์เก็บมวลข้อมูล3หนึ่งหรือหลายตัว ซึ่งใช้แถบแม่เหล็ก4 หรือแผ่นดิสก์5 และชุดของอุปกรณ์นำเข้า-นำออก6 ส่วนประกอบซอฟท์แวร์ (225-4) มีระบบปฏิบัติการ7ซึ่งทำงานจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก8สำหรับผู้ใช้ (225-5) ในการวิ่งโปรแกรมของผู้ใช้9 และโปรแกรมประมวลผล10 ซึ่งเป็นโปรแกรม (225-8) ที่ติดตั้งไว้แล้วที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหามาตรฐาน

227

ผู้ใช้ (225-5) สามารถจัดการกับปัญหาของเขาโดยการเขียนโปรแกรม (225-8) ในภาษาโปรแกรม1ทั่วไป อย่างเช่น Fortran, Cobol, Basic หรือ Algol หรือภาษาเฉพาะที่ออกแบบที่จะใช้โปรแกรมประมวลผล (226-9) ที่เก็บไว้ในหน่วยความจำกลาง (226-2) ของคอมพิวเตอร์อย่างเช่นระบบจัดการฐานข้อมูล2ที่ใช้เพื่อสร้างและคงคลังข้อมูล2 โปรแกรมประมวลผลการสำรวจ3 หรือชุดโปรแกรมสถิติ4 อุปกรณ์ซึ่งใช้เพื่อนำเข้าและได้รับข้อมูลจากคอมพิวเตอร์แตกต่างกันไปตามวิธีประมวลผลในกลุ่มคำสั่งประมวลผล7 หน่วยนำเข้าและนำออกปรกติเป็นเครื่องอ่านบัตร5 และเครื่องพิมพ์เส้น6 คอนโซล8คือหน่วยนำเข้าและนำออกปรกติสำหรับการประมวผลในวิธีแบ่งเวลา9 ไม่ว่าในกรณีใด หน่วยใส่ข้อมูลเข้าอาจแยกอยู่คนละที่กับคอมพิวเตอร์และประมวลผลเมื่อเครื่องอยู่แยกกันเช่นนี้โดยสถานีทางไกล10
  1. นอกจากภาษาโปรแกรมตามที่ให้ตัวอย่างไว้ข้างต้นแล้ว ภาษาประเภทอื่นอาจใช้เพื่อจัดการระบบปฏิบัติการ ภาษาเหล่านี้ปรกติจะเรียกว่าภาษาควบคุมงาน

228

ข้อมูลที่ประมวลผลอยู่ในคอมพิวเตอร์ (225-2) ดำเนินไปตาม 3 ขั้นตอนหลัก ขั้นแรกสุดการนำเข้าข้อมูล1 หรือการป้อนเข้า1 ซึ่งอาจทำโดยการใช้บัตรเจาะ (224-3*) หรือโดยใช้อุปกรณ์ออนไลน์2 อย่างเช่นคอนโซลคีย์บอร์ด (227-8) ข้อมูลที่เก็บไว้แล้วในคอมพิวเตอร์อาจเข้าถึงได้จากหน่วยความจำกลาง (226-2) หรือจากอุปกรณ์เก็บมวลข้อมูล (226-3) และใช้เป็นข้อมูลนำเข้า นี้เป็นส่วนหนึ่งของการเก็บรวบรวมข้อมูล3 ซึ่งเริ่มจากการสกัด (220-1) ไปสู่การถ่ายข้อมูลให้อยู่ในสื่ออิเล็คทรอนิก ผ่านกระบวนการการตรวจสอบความถูกต้อง (221-7) และการตรวจสอบความแนบนัย ( ซึ่งสามารถทำได้ระหว่างการนำเข้าข้อมูลเมื่อทำงานแบบออนไลน์ ขั้นตอนที่สอง การประมวลผล (220-2) แบ่งเป็นประเภทหลักสองประเภท การประมวลผลที่เป็นตัวเลข4 และการประมวลผลที่ไม่ใช่ตัวเลข5 การคำนวณทางคณิตศาสตร์หรือทางสถิติโดยปรกติเป็นปฏิบัติการในการประมวลผลที่เป็นตัวเลข ในขณะที่ปฏิบัติการจัดการต่างๆ เป็นเรื่องของการประมวลผลที่ไม่ใช่ตัวเลข ในขั้นตอนที่สาม บางครั้งเรียกว่าขั้นตอนของผลผลิต ผลที่ประมวลแล้ว6 หรือผลผลิต6อาจพิมพ์ออกมาโดยเครื่องพิมพ์เส้น (227-6) หรือเก็บไว้เป็นไฟล์ในอุปกรณ์เก็บมวลข้อมูล (226-3) เพื่อการประมวลผลต่อไป ผลที่ได้อาจส่งไปเข้าพล็อตเตอร์7เพื่อให้ได้ผลที่ประมวลแล้วในแบบของกราฟหรือรูป

230

ความแม่นยำ1ของสถิติประชากรจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความสมบูรณ์2ของการนับบุคคล การนับกลุ่ม หรือ การนับเหตุการณ์ของสถิตินั้น การละเว้น3และการนับขาด3จะทำให้เกิดค่าประมาณต่ำเกิน4 ในขณะที่การนับซ้ำ5นำไปสู่ค่าประมาณมากเกิน6 แหล่งของความผิดพลาดคลาดเคลื่อนรวมถึงการรายงานผิดพลาด7ของลักษณะอย่างเช่นอายุ และความคลาดเคลื่อนของการจำแนกประเภท8 ความไม่ถูกต้องเช่นนั้นบางครั้งตรวจสอบได้โดยการตรวจสอบหลังการแจงนับ9 หรือการตรวจสอบคุณภาพ10 บางครั้ง คำถามบางข้อไม่ได้รับคำตอบหรือคำตอบไม่เพียงพอ และอาจนำไปสู่ความไม่ถูกต้องอย่างมากของสถิติ ซึ่งเป็นกรณีที่ชี้ให้เห็นด้วยความถี่ในประเภทที่ระบุไว้ว่าไม่มีคำตอบ11 ไม่ตอบ11 หรือไม่ทราบ11
  1. ความสมบูรณ์ คำว่า "สมบูรณ์" และ "ความสมบูรณ์" ใช้ในที่นี้เพื่อแสดงว่าไม่มีการละเว้น ศัพท์สองคำนี้อาจใช้เพื่อหมายถึงความครอบคลุม อย่างใน 202-4 ด้วย
  2. การละเว้นบางเหตุการณ์จากการจดทะเบียนชีพเรียกว่าการตกจด และละเว้นจากสำมะโนหรือการสำรวจเรียกว่าการตกแจงนับ

บทที่ 3 • การกระจายและการจำแนกประเภทของประชากร

301

สถิติประชากรโดยทั่วไปนำเสนอในความหมายของการกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์ของประชากร1 หรือการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของประชากร1 และนำเสนอโดยโครงสร้าง (144-4) ประชากรแต่ละกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่2 หรือเขตแดน2หนึ่ง และการศึกษาการกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์3 หรือการกระจายตัวเชิงพื้นที่3จะเกี่ยวกับทิศทางที่ประชากรกระจายตัวไปทั่วเขตแดนนั้น

302

เขตแดน (301-2) ซึ่งประชากรอาศัยอยู่โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็นพื้นที่ย่อย1 สำหรับวัตถุประสงค์ในการบริหาร เขตแดนอาจแบ่งเป็นพื้นที่ทางการปกครอง2 หน่วยการปกครอง2หรือเขตพื้นที่ทางการปกครอง2 บางครั้งรู้จักกันในฐานะพื้นที่ทางกฎหมาย2 หรือพื้นที่ทางการเมือง2 ในอีกด้านหนึ่ง นักภูมิศาสตร์อาจแบ่งพื้นที่ออกเป็นภาค3 หรือเขต4 ซึ่งอาจจะหรืออาจไม่สอดคล้องตรงกันกับหน่วยการปกครองก็ได้ ศัพท์คำว่า "ภาค" หรือ "เขต" อาจใช้ในความหมายต่างๆ กัน และพื้นที่ก็อาจหมายถึงขนาดที่แตกต่างกันมากๆ ฉะนั้นจะมีคนพูดถึงภาคขั้วโลก เขตภูมิอากาศ หรือภาคมหานคร ศัพท์คำว่าภาคธรรมชาติ5 และภาคเศรษฐกิจ6 ใช้โดยนักภูมิศาสตร์ คำว่าพื้นที่ธรรมชาติ7ใช้ในวิชานิเวศวิทยามนุษย์ (104-5) เพื่อนิยามพื้นที่ที่ประชากรที่มีลักษณะเด่นชัดครอบครองอาศัยอยู่

303

หน่วยการปกครองของประเทศต่างๆ แตกต่างกัน และของประเทศเดียวกันก็แตกต่างกันเมื่อเวลาเปลี่ยนไป จนกระทั่งคำเดียวกันอาจครอบคลุมสถานการณ์ที่ต่างกัน เขตการปกครองเล็กๆ รวมถึงเมือง1 และตำบล1 เขตการปกครองใหญ่ๆ ใช้ชื่ออย่างอื่นเช่นมลรัฐ2 หรือจังหวัด2 และหน่วยการปกครองขนาดกลางๆ มักเรียกว่าเคาน์ตี้5 และอำเภอ6 ตัวอย่างเช่นในประเทศแคนาดา เขตการปกครองหลักที่เรียงลำดับจากเล็กไปหาใหญ่ ได้แก่ เมือง8 เคาน์ตี้9 และจังหวัด10 เช่นเดียวกับตัวอย่างอื่น การแบ่งส่วนการปกครองหลักของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบันแบ่งเป็นภาค2ซึ่งเท่ากับจังหวัด และเดพาร์กเตอมองต์3 (département) ซึ่งเท่ากับแคนตัน4ในสวิสเซอร์แลนด้ ในขณะที่อำเภอ7 และวงเขต11เป็นหน่วยการปกครองรอง ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตำบล (parish) มีความเทียบเท่ากับเคาน์ตี้
  1. หมู่บ้าน ตำบล และเมือง เป็นชื่อเรียกหน่วยการปกครองขนาดเล็ก เทศบาลเป็นศัพท์เรียกหน่วยการปกครองท้องถิ่น มีขนาดตั้งแต่เล็กไปหาใหญ่ คือเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร และประเทศไทยยังมีเขตการปกครองพิเศษนอกเหนือไปจากเทศบาล คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

304

ประชากรอาจตั้งถิ่นฐาน1 อยู่ประจำ1 หรือเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ 2 ได้แก่การย้ายถ่ินกลับไปมาภายในพื้นที่หนึ่งและไม่มีที่พักอาศัยประจำ พวกที่เคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ ที่อยู่ในกระบวนการตั้งถิ่นฐานเรียกว่ากึ่งเคลื่อนย้าย3 บางครั้งคนพื้นเมืองอาจมีเขตแดนที่จัดไว้ให้เป็นพิเศษเรียกว่าเขตสงวนสำหรับคนพื้นเมือง4 หรือเขตสงวน4

305

ปรกติประเทศ1เป็นเขตแดน (301-2) ของพลเมือง2 (cf. 333-3) หรือของชาติ2 โดยทั่วไปบุคคลที่สังกัดชาติหนึ่งจะมีวัฒนธรรมที่เหมือนกัน รัฐ3เป็นที่รวมทางการเมืองของกลุ่มประชากร คำนี้อาจใช้ในสองความหมายต่างกัน ความหมายแรกที่เข้าใจกันมากที่สุด รัฐคือกลุ่มประชากรที่มีอธิปไตยเต็มที่ในเขตแดนของเขา และมีอธิปไตยเหนือผู้อยู่อาศัยในเขตนั้น อย่างไรก็ตามสมาพันธ์4ของสมาพันธรัฐ4บางแห่งก็แบ่งออกเป็นหน่วยเล็กๆ ซึ่งเรียกว่ารัฐ5เช่นกัน และอธิปไตยของรัฐในสมาพันธรัฐก็ไม่เด็ดขาดสมบูรณ์ (ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย) ศัพท์คำว่าเขตแดน6 (301-2) โดยทั่วไปใช้สำหรับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ แต่บางครั้งก็ถูกใช้เพื่อหมายถึงหน่วยทางการเมืองซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ บางครั้งมีการแยกความแตกต่างระหว่างเขตแดนปกครองตนเอง7กับเขตแดนที่ไม่ปกครองตนเอง8

306

ภายในเขตแดน (301-2) หนึ่ง มีศัพท์ที่ใช้เพื่ออธิบายการรวมกลุ่มที่อยู่อาศัย1 หรือการรวมตัว1ของประชากรชนิดต่างๆ บางครั้งรู้จักกันว่าเป็นการรวมตัวของประชากร1 กลุ่มประชากร1 หรือกล่าวทั่วๆ ไปว่าเป็นถิ่นที่อยู่1 ในพื้นที่ชนบท หน่วยย่อยที่สุดได้แก่ คุ้มบ้าน2ซึ่งโดยทั่วไปประกอบด้วยกลุ่มเล็กๆ ของบ้าน การรวมกลุ่มของที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ขึ้นมาอีกได้แก่หมู่บ้าน3 ซึ่งโดยทั่วไปเป็นชุมชนขนาดเล็กและประชากรที่อยู่ในชุมชนทำการเกษตรเป็นหลัก เมือง4 หรือนคร4เป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ขึ้นมาอีก ซึ่งโดยทั่วไปมีผู้คนไม่มากนักที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่จุดที่จะเปลี่ยนจากการเรียกหมู่บ้าน หรือเมือง หรือนครนั้น ยังยากที่จะระบุไว้ให้ชัดเจน และจะผันแปรแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ที่ตั้งของรัฐบาลของเขตแดนหนึ่ง (ในความหมายของ305-1) เรียกว่าเป็นเมืองหลวง5 ในเคาน์ตี้ที่เป็นสถานที่ซึ่งสำนักงานบริหารการปกครองท้องถิ่นตั้งอยู่เรียกว่าเคาน์ตี้ทาวน์6 หรือเคาน์ตี้ซีท6 เมืองและนครอาจแบ่งย่อยต่อไปอีกเป็นอำเภอ7 หรือควอเตอร์7 และแบ่งเพื่อวัตถุประสงค์ในการเลือกตั้งเป็นวอร์ด7
  1. ศัพท์คำว่ากลุ่มเมืองก็มีการนำมาใช้ในความหมายนี้ อย่างไรก็ตาม ดู 307-1
  2. เมืองใหญ่มากๆ บางทีเรียกก็เรียกว่ามหานคร

307

พื้นที่เมืองที่ติดต่อเนื่องกันไปเกิดขึ้นโดยการเชื่อมต่อกันของถิ่นที่อยู่หลายๆ แห่ง ในขณะที่แต่ละแห่งยังคงความอิสระในการบริหารงานของตนเองอาจเรียกว่าเป็นกลุ่มเมือง1 ซึ่งประกอบด้วยนครศูนย์กลาง2และชานเมือง3ที่มีหน้าที่พิเศษ ศัพท์คำว่าเมืองรวม4 หรือเขตมหานคร4ใช้เพื่อแสดงถึงกลุ่มเมืองต่างกันจำนวนหนึ่งเชื่อมต่อกันทางสภาพภูมิศาสตร์ และคงไว้ซึ่งอำนาจในการบริหารของกลุ่มเมืองแต่ละแห่ง อย่างไรก็ตาม ศัพท์คำว่าเมืองรวมมักใช้ในความหมายเดียวกันกับกลุ่มเมือง การผสมผสานกันของเมืองรวมและนครใหญ่นำไปสู่คำว่าอภิมหานคร5 หรือแนวเขตมหานคร5ซึ่งอาจขยายออกไปครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมาก ภาคมหานคร6 (metropolitan regions) อาจหมายถึงกลุ่มเมืองที่รวมแนวเขตเดินทางไปกลับ (commuter belt)
  1. ศัพท์คำอื่นที่ใช้ได้แก่แกนเมือง
  2. ศัพท์คำอื่นที่มีความหมายเหมือนกันได้แก่ชุมชนบริวาร และเขตชานเมือง
    การขยายเขตชานเมือง กระบวนการของการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วในเขตชานเมืองที่ติดต่อกับเมืองใหญ่ พื้นที่ที่มีความหนาแน่นประชากรสูงติดต่อกับเมืองบางครั้งเรียกว่าขอบเมืองและเขตที่เป็นรอยต่อระหว่างพื้นที่เมืองและชนบทจะเรียกว่าเขตรอยต่อเมืองชนบท หรือ exurbia
  3. ประชากรเมืองมักถูกจัดกลุ่มใหม่ในพื้นที่เชิงสถิติ อย่างเช่นพื้นที่สถิติมหานครมาตรฐาน (สหรัฐฯ) เขตอำเภอที่มีคนอยู่หนาแน่น (ญี่ปุ่น) หรือ เขตเมืองขยาย (conurbation) (อังกฤษ)

310

ในการทำสำมะโนจะแยกความแตกต่างระหว่างประชากรตามที่อยู่อาศัย1หรือประชากรตามนิตินัย1ของพื้นที่หนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่มีที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น กับประชากรที่อยู่จริง2หรือประชากรตามพฤตินัย2 ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในพื้นที่นั้นในวันสำมะโน ในประชากรตามที่อยู่อาศัย ผู้ไม่อยู่ชั่วคราว4จะรวมอยู่ด้วยกันกับผู้อยู่อาศัยถาวร3ซึ่งอยู่ในพื้นที่นั้นในวันสำมะโน ประชากรที่อยู่จริงประกอบด้วยผู้อยู่อาศัยรวมกับผู้มาเยี่ยม5หรือผู้อยู่ชั่วคราว5 การแจงนับประชากรตามนิตินัยและพฤตินัยทั้งสองวิธีนี้ให้ผลแตกต่างกันแม้จะเป็นประชากรรวมของประเทศ สถานที่ซึ่งบุคคลหนึ่งอาศัยอยู่เรียกว่าสถานที่อยู่อาศัย6 เพื่อเหตุผลทางการบริหาร บุคคลผู้อาศัยอยู่รวมกันในชุมชนใหญ่ (อย่างเช่นโรงเรียนประจำ ทหารในค่าย นักโทษ ฯลฯ (cf. 110-5*) มักจะแจงนับแยกต่างหาก บุคคลเหล่านี้ก่อให้เกิดประชากรเชิงสถาบัน7 สำมะโนจะใช้กฎเกณฑ์พิเศษในการแจงนับคนเร่ร่อน8หรือบุคคลที่ไม่มีที่อยู่อาศัยแน่นอน8
  1. ศัพท์คำว่าภูมิลำเนาเป็นศัพท์วิชาการเพื่อหมายถึงที่อยู่อาศัยตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงสถานที่ที่บุคคลหนึ่งอาศัยอยู่ตามกฎหมาย ที่อยู่นี้แตกต่างจากที่อยู่อาศัยจริง ในสหรัฐอเมริกา ประชากรนิตินัยเป็นประชากรตามที่อยู่อาศัยปรกติ
  2. ในสหรัฐอเมริกา ศัพท์คำว่าผู้ถูกกักในสถาบันสงวนไว้สำหรับบุคคลที่อาศัยอยู่ภายใต้การดูแลหรือการควบคุมในเรือนจำ โรงพยาบาลสำหรับผู้เป็นโรคจิตและวัณโรค บ้านสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ต้องพึ่งพิและผู้ถูกทอดทิ้ง รวมทั้งที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มคนประเภทอื่นๆ อย่างเช่น นักเรียนในหอพัก ทหารในค่าย

311

ในหลายประเทศพื้นที่ชนบท1 นิยามว่าเป็นเขตการปกครองที่มีขนาดประชากรต่ำกว่าระดับหนึ่ง (มักจะใช้จำนวน 2,000 เป็นเกณฑ์) พื้นที่อื่นนอกจากชนบทเรียกว่าพื้นที่เมือง2 ประชากรชนบท3คือประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ประชากรเมือง4คือประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง เกณฑ์สำหรับการจัดประชากรว่าอยู่ในพื้นที่ใด ชนบทหรือเมือง แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ คำจำกัดความของประชากรชนบทหรือเมืองอาจนำไปสู่ประชากรที่อยู่ระหว่างกลางอีกประเภทหนึ่งคือประชากรกึ่งเมือง5
  1. การขยายตัวของชนบท (ruralization) การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท
    ประชากรชนบท (rural population) ไม่ควรสับสนกับประชากรเกษตร (agricultural population) หรือ เกษตรกร (359-2)
  2. นคราภิวัตน์ การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง
    ในประเทศไทย เขตเมืองหมายถึงเทศบาล (municipality) หรือเขตเทศบาล (municipal area)

312

ความหนาแน่นของประชากร1 หรือความหนาแน่นประชากร1เป็นดัชนีแสดงความสัมพันธ์ระหว่างประชากรกับพื้นที่ที่ประชากรนั้นอาศัยอยู่ ดัชนีความหนาแน่น2ธรรมดาที่สุดนี้ คำนวณได้ด้วยการหารจำนวนรวมประชากรด้วยพื้นที่ของเขตแดนนั้น และโดยทั่วไปจะเสนอเป็นจำนวนคนต่อเอเคอร์ ต่อตารางกิโลเมตร หรือต่อตารางไมล์ การกระจายของประชากร3ขึ้นอยู่กับประเภทของการตั้งถิ่นฐาน4 การตั้งถิ่นฐานแบบรวมกลุ่ม5 หรือการตั้งถิ่นฐานแบบกระจาย6 นักวิชาการบางคนคำนวณศูนย์กลางประชากร7ของพื้นที่หนึ่งด้วยวิธีที่ใช้หาศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วงในคณิตศาสตร์ประยุกต์ แต่ละคนในประชากรจะได้รับน้ำหนักเท่ากัน

313

เมื่อแบบแผนของการตั้งถิ่นฐานของประชากรต่างกันจะนำมาเปรียบเทียบกัน และจะนำปัจจัยอื่นๆ นอกจากผิวพื้นที่มาพิจารณาด้วย จะมีการคำนวณหาดัชนีความหนาแน่นเชิงเปรียบเทียบ1 ดัชนีเปรียบเทียบมีมากมาย อย่างเช่น ความหนาแน่นของประชากรต่อหน่วยของพื้นที่เพาะปลูก2 และความหนาแน่นของประชากรเกษตรกรต่อหน่วยของพื้นที่เพาะปลูก3 บางครั้ง ดัชนีเหล่านี้จะมีฐานอยู่บนพื้นที่เพาะปลูก4มากกว่าพื้นที่เพาะปลูกได้5 ความหนาแน่นอาจแสดงในรูปความสัมพันธ์ระหว่างประชากรกับทรัพยากรทางเศรษฐกิจรวม ความหนาแน่นศักยภาพสูงสุด6 หรือความสามารถในการรองรับประชากร6แสดงความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรกับจำนวนประชากรสูงสุดที่ทรัพยากรที่มีอยู่เหล่านี้จะรองรับได้ แนวความคิดที่มีการนำไปใช้ในทฤษฎีประชากรได้แก่เรื่องความหนาแน่นเหมาะสมที่สุด7 ได้แก่ความหนาแน่นซึ่งจะให้รายได้แท้จริงมากที่สุดต่อหัวตามทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในขณะนั้น

320

โครงสร้างเพศ1หรือการกระจายตามเพศ1ของประชากรวัดได้ด้วยอัตราส่วนของจำนวนประชากรเพศ2หนึ่งต่อจำนวนรวมของประชากร หรือที่นิยมกันมากกว่าคือต่อจำนวนประชากรอีกเพศหนึ่ง มาตรวัดที่ใช้กันอยู่ปรกติเพศชายใช้เป็นตัวตั้งและเราพูดถึงภาวะเพศชาย3ของประชากร สัดส่วนภาวะเพศชาย4คือสัดส่วนของประชากรชายในประชากรทั้งหมด อัตราส่วนเพศ5เป็นอัตราส่วนของจำนวนประชากรชายต่อจำนวนประชากรหญิง ปรกติจะแสดงเป็นค่าดัชนี (132-7) ได้แก่จำนวนประชากรชายต่อประชากรหญิง100 คน
  1. บางครั้งตัวตั้งของอัตราส่วนนี้ใช้เป็นประชากรหญิง เท่ากับเป็นการวัดภาวะเพศหญิงของประชากร

321

คำว่าประชากรชาย1 และประชากรหญิง2จะนิยมใช้กันในวิชาประชากรศาสตร์แทนคำว่าผู้ชาย1 และผู้หญิง2 เพื่ออ้างถึงบุคคลในแต่ละเพศในทุกๆ อายุ รวมทั้งเด็ก (323-3) ในทำนองเดียวกัน ศัพท์คำว่าประชากรเด็กชาย3และประชากรเด็กหญิง4ใช้แทนคำว่าเด็กชาย3และเด็กหญิง4 ศัพท์ภาษาอังกฤษ man ยังใช้ในความหมายโดยทั่วๆ ไปของ ความเป็นมนุษย์5

322

อายุ1เป็นลักษณะพื้นฐานของโครงสร้างประชากร โดยทั่วไปจะแสดงเป็นปี หรือปีและเดือน ในกรณีของเด็กเล็กๆ อายุอาจทำให้เป็นเดือนและวัน หรือให้เป็นปีและส่วนทศนิยมของปี ปรกตินักประชากรศาสตร์จะปัดเศษให้เป็นจำนวนปีเต็ม2ที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งเรียกว่าอายุเมื่อวันเกิดครั้งสุดท้าย3 บางครั้ง สถิติทางประชากรอ้างถึงอายุครบในช่วงปีนั้น4 เมื่อเศษของจำนวนปีเต็มที่มีชีวิตอยู่ที่ผ่านมาถูกนับเป็นทั้งปีอย่างที่ประยุกต์ในทางการบัญชี เท่่ากับเราพูดถึงอายุเมื่อวันเกิดครั้งหน้า5 อายุที่บอก6 หรืออายุที่รายงาน6ในสำมะโนหรือการจดทะเบียนมักจะขึ้นเป็นเป็นเลขกลมตัวต่อไปโดยเฉพาะใกล้วันเกิดครั้งหน้า ศัพท์คำว่าอายุแน่นอน7ใช้โดยเฉพาะในการคำนวณตารางชีพ เพื่อแสดงเวลาที่บุคคลหนึ่งมีอายุครบวันเกิดของเขา คำถามอายุในสำมะโนจะเป็นวันเดือนปีเกิด หรืออายุเมื่อวันเกิดครั้งสุดท้าย หรือถามเพียงแต่อายุเท่าไรโดยไม่ต้องการความแม่นยำมากนัก เมื่อครั้งที่ความรู้เกี่ยวกับอายุยังไม่แพร่หลายปฏิทินทางประวัติศาสตร์8อาจใช้เพื่อประมาณอายุ นั่นคือการใช้รายการเหตุการณ์ที่รู้วันเวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผู้ตอบ
  1. ดังนั้น กลุ่มอายุ (325-2) จะเป็นปีเต็ม และกลุ่มอายุ 6-13 ปีจึงรวมบุคคลที่มีอายุแน่นอน (322-7) ระหว่าง 6 และ 14 ปี

323

ในวิชาประชากรศาสตร์ ศัพท์บางคำนำมาจากภาษาพูดในชีวิตประจำวันเพื่อแสดงขั้นตอนของชีวิต1 หรือระยะเวลาเป็นปีโดยประมาณ ในช่วงเริ่มต้นของชีวิตอยู่ในขั้นตอนของวัยเด็ก2 โดยทั่วไปเด็ก3คือบุคคลทั่วไปที่ยังไม่ถึงวัยที่สืบพันธุ์ได้ (620-2) ในช่วงวันแรกๆ ของชีวิต เด็กจะเรียกว่าเด็กเกิดใหม่4 เด็กวัยกินนม5คือเด็กที่ยังไม่หย่านมจากแม่ของเขา ศัพท์คำว่าทารก6ใช้เพื่อหมายถึงเด็กที่มีชีวิตอยู่ยังไม่ครบวันเกิดแรก แม้ว่าในภาษาพูดอาจใช้คำว่าทารกในความหมายที่เด็กมีอายุเกินกว่าขวบปีเล็กน้อย เด็กๆ ที่อายุยังไม่ถึงวัยเรียนภาคบังคับเรียกว่าเด็กก่อนวัยเรียน7 เด็กวัยเรียน8คือเด็กที่อยู่ในวัยต้องไปโรงเรียน
  1. วัยทารก (infancy) ช่วงเวลาที่เป็นทารก

324

เด็กตามมาด้วยวัยรุ่น1หรือเยาวชน1 ซึ่งเริ่มต้นวัยที่สืบพันธุ์ได้ (620-2) ศัพท์คำว่าวัยรุ่น2หรือคนหนุ่มสาว3ใช้สำหรับผู้ชายและผู้หญิงอายุระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่4 คนที่อายุ่ถึงความเป็นผู้ใหญ่4เรียกว่าผู้ใหญ่5 วัยชรา6มักใช้เพื่อนิยามช่วงเวลาของชีวิตซึ่งบุคคลส่วนมากเกษียณจากการทำงานแล้ว บุคคลที่มีอายุมากกว่าอายุเกษียณ7นั้นเรียกว่าคนแก่8 ผู้มีอายุมาก8หรือผู้สูงอายุ8
  1. ศัพท์คำว่าเยาวชน (youth) ใช้แสดงกลุ่มรวมด้วย ในสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า ทีนเอจ เพื่อหมายถึงบุคคลที่มีอายุระหว่าง 13 ถึง 19 ปี

325

การกระจายอายุของประชากรทำได้โดยใช้อายุรายปี1 หรือโดยกลุ่มอายุ2ซึ่งอาจเป็นกลุ่มอายุ 5 ปี3 ซึ่งเรียกว่าเป็นกลุ่มอายุช่วง 5 ปี3 หรือกระจายเป็นกลุ่มอายุกว้างๆ4 อย่างเช่น 0-19 ปี 20-59 ปี 60 ปีขึ้นไป บางครั้งการกระจายอายุ6ของประชากร หรือโครงสร้างอายุ6แสดงไว้โดยการจำแนกประชากรออกตามปีเกิด5 การกระจายอายุของประชากรแสดงเป็นรูปกราฟโดยพีระมิดประชากร7ซึ่งเป็นฮิสโตแกรม (155-8) แสดงประชากรตามกลุ่มอายุและเพศ และที่เรียกชื่อดังนั้นเพราะทรงของกราฟนี้เป็นเหมือนพีระมิด

326

อายุเฉลี่ย1ของประชากรหนึ่งคืออายุเฉลี่ยของสมาชิกทุกคนในประชากรนั้น อายุมัธยฐาน2คืออายุซึ่งแบ่งประชากรออกเป็นสองกลุ่มมีจำนวนเท่าๆ กัน เมื่อสัดส่วนของคนชราเพิ่มขึ้นเราพูดถึงกระบวนการสูงวัย3ของประชากร เมื่อสัดส่วนของคนวัยเยาว์เพิ่มขึ้นก็เป็นกระบวนการเยาว์วัย4ของประชากร ประชากรวัยชรา5มีสัดส่วนของประชากรสูงวัยสูง ประชากรวัยเยาว์6มีสัดส่วนของประชากรเยาว์วัยหรือเด็กๆ สูง ศัพท์คำว่ากระบวนการสูงวัยที่ใช้ข้างต้นไม่ควรนำไปปะปนกับเทคนิคที่ใช้ในการฉายภาพประชากร ซึ่งประกอบด้วยการมีอายุสูงขึ้น7ของประชากรด้วยการใช้ความน่าจะเป็นของการรอดชีพ (431-6) ตามรายอายุเพื่อหาจำนวนผู้รอดชีพในเวลาต่อมา
  1. คำนี้ในภาษาอังกฤษ เขียนได้ทั้ง aging และ ageing
  2. คำว่าเยาว์วัยลง ใช้ในหมู่นักประชากรศาสตร์ชาวอเมริกัน

327

กระบวนการสูงวัย (326-3) ของประชากรต้องแยกออกจากการมีอายุสูงขึ้นของบุคคล1 หรือชราภาพ1 และแยกจากการที่ระยะเวลาของชีวิตมนุษย์ที่ยาวนานขึ้น หรือความยืนยาวชีวิตที่เพิ่มขึ้น2ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนามาตรฐานการดำรงชีวิตและความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข อายุทางสรีรวิทยา3ของบุคคลจะขึ้นอยู่กับภาวะของเนื้อเยื่อและอวัยวะในร่างกายของเขา ในกรณีของเด็กๆ เราพูดถึงอายุทางจิตใจ4ซึ่งนิยามว่าเป็นอายุที่จากการทดสอบให้เด็กแต่ละคนสามารถประกอบกิจกรรมบางอย่างที่เด็กโดยเฉลี่ยทำได้ ในากรศึกษาเกี่ยวกับอายุทางสรีรวิทยาและอายุทางจิตใจ มีการแยกความแตกต่างระหว่างอายุทั้งสองนี้กับอายุตามเวลาที่ผ่านไปที่วัดได้โดยเวลาที่ผ่านไปตั้งแต่วันเดือนปีเกิด5ของเด็กแต่ละคน อัตราส่วนของอายุทางจิตใจต่ออายุตามเวลาที่ผ่านไปเรียกว่าอัตราส่วนเชาวน์ปัญญา6 (มักเรียย่อๆ ว่าไอคิว)

330

ผู้อยู่อาศัยของชาติหรือรัฐหนึ่งอาจเป็นข้าแผ่นดิน1 ราษฎร1 หรือพลเมือง1ของรัฐนั้นซึ่งเป็นผู้มีสิทธิทางการเมือง หรืออาจเป็นคนต่างด้าว2 หรือชาวต่างประเทศ2 ผู้เป็นราษฎรของรัฐอื่น หรือไม่เป็นราษฎรของรัฐใดเลยที่เรียกว่าคนไร้รัฐ3 ศัพท์คำว่า"ข้าแผ่นดิน" เคยมีความหมายเหมือนผู้อยู่อาศัยเป็นข้าทาสแต่ปัจจุบันความหมายนี้ได้ค่อยสลายลงไปแล้ว และมักจะใช้ในความหมายเดียวกันกับราษฎร แม้ว่าบางครั้งจะมีความพยายามที่จะทำให้เห็นภาพแตกต่างกันระหว่างคำว่าข้าแผ่นดินกับราษฎร ราษฎรของรัฐหนึ่งโดยทั่วไปจะมีสัญชาติ4ของรัฐนั้น ทุกวันนี้คำว่าสัญชาติจะใช้ในความหมายเดียวกันกับการมีฐานะพลเมือง4 แต่ในรัฐที่มีคนหลายเชื้อชาติ6อาจแยกความแตกต่างระหว่างสัญชาติทางการเมือง4 กับสัญชาติทางเชื้อชาติ5

331

คนต่างด้าวอาจขอสัญชาติของประเทศที่เข้าไปอาศัยอยู่โดยการโอนสัญชาติ1 และกลายเป็นราษฎรโอนสัญชาติ2ของบุคคลแปลงสัญชาติ2 ในบางประเทศใบโอนสัญชาติ3อาจถูกเพิกถอน4ได้ และจะทำให้บุคคลที่แปลงสัญชาติแล้วต้องสูญเสียสัญชาติ5ของตนไป บางกรณีบุคคลอาจมีมากกว่าหนึ่งสัญชาติซึ่งพูดได้ว่าเขาเป็นคนมีสองสัญชาติ6 บางครั้งมีการแยกความแตกต่างระหว่างคนต่างด้าวที่อยู่ประจำ7 ผู้อาศัยอยู่ประจำในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศของตน กับผู้พำนักชั่วคราวต่างด้าว8หรือคนต่างด้าวที่อยู่ชั่วคราว8 ผู้ที่อยู่ที่นั่นสำหรับช่วงเวลาสั้นๆ

332

บุคคลที่เกิดในเขตแดนซึ่งเขายังอาศัยอยู่เรียกว่าคนพื้นเมือง1ของเขตแดนนั้น ถ้าบรรพบุรุษของเขาเป็นผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมของเขตแดนนั้นจะเรียกว่าชนดั้งเดิม2 ชนพื้นเมือง2 หรือผู้อยู่อาศัยชนเผ่าพื้นเมือง2 คำหลังสุดนั้นมักสงวนไว้สำหรับผู้คนที่เป็นชนเผ่า สถิติมักแยกระหว่างคนที่เกิดในประเทศ3 กับคนที่เกิดต่างประเทศ4

333

ศัพท์คำว่าเผ่าพันธุ์1โดยทั่วไปมักใช้เพื่อหมายถึงกลุ่มของบุคคลที่มีลักษณะทางกายภาพเหมือนกันซึ่งเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ในการทำสำมะโนของบางประเทศ บางครั้งใช้คำนี้ให้มีความหายอย่างหลวมๆ บางครั้งใช้สำหรับกลุ่มคนที่ผูกพันด้วยกันโดยวัฒนธรรมที่เหมือนกัน หรือมีถิ่นเกิดแห่งเดียวกัน หรือกระทั่งหมายถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตแดนแห่งเดียวกัน ศัพท์อีกคำหนึ่งซึ่งบางครั้งมีการนำมาใช้กันคือกลุ่มชาติพันธุ์2 และก็อีกเช่นกันที่คำนี้มีความหมายไม่เป็นเอกภาพ โดยทั่วไปกลุ่มชาติพันธุ์จะหมายถึงกลุ่มของผู้คนที่มีวัฒนธรรม ภาษา และประเพณีทางศาสนาเหมือนกัน กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งอาจเป็นกลุ่มเผ่าพันธุ์หนึ่ง ผู้คน3 (cf. 305-2) โดยทั่วไปหมายถึงกลุ่มรวมของบุคคลซึ่งเชื่อมโยงกันโดยมีอดีตหรือวัฒนธรรมที่เหมือนกัน บุคคลที่อาศัยอยู่ในเขตแดนหนึ่งซึ่งแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ของประชากรอย่างเห็นได้ชัดเรียกชนกลุ่มน้อย4 ตัวอย่างเช่น ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์4 ชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ4 ชนกลุ่มน้อยทางภาษา4 หรือ ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา4
  1. เผ่าพันธุ์นิยม ทฤษฎีที่กล่าวว่าคนบางเผ่าพันธุ์มีความเหนือกว่าเผ่าพันธุ์อื่นโดยการสืบทอดพันธุ์
  2. คำว่าเผ่า หรือกลุ่มชนเผ่า ยังมีการใช้กันอยู่บ้าง แต่ค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยคำว่า "กลุ่มชาติพันธุ์"แล้ว

334

บางครั้งแยกความแตกต่างของบุคคลด้วยสีผิว1 ซึ่งใช้ในความหมายที่หลวมๆ ว่าหมายถึงสีของผิวหนังที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัด ในบางประเทศแยกความแตกต่างระหว่างคนผิวขาว2และคนผิวสี3 ซึ่งบางครั้งเรียกว่าไม่ใช่ผิวขาว3 การจับคู่แต่งงานระหว่างคนต่างสีผิวกันบางครั้งเรียกว่าการสมรสต่างผิว4 บุคคลที่เกิดจากการจับคู่เช่นนั้นเรียกว่าเป็นเลือดผสม5 หรือพ่อแม่ผสม5
  1. บางทีใช้คำว่าข้ามพันธุ์ คำว่า miscegenation ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของบุคคลหนึ่งระหว่างเวลาหนึ่งถึงอีกเวลาหนึ่ง
  2. คนเลือดผสมระหว่างคนผิวขาวกับนิโกรเรียกว่ามูแลตโต (mulatto) (ลูกผสมขาวดำ) ในอเมริกาที่พูดภาษาสเปน เลือดผสมระหว่างคนเชื้อสายยุโรปกับอินเดียนอเมริกันเรียก เมสติโซ (mestizo) (ลูกผสมขาวแดง) คนเชื้อสายยุโรปผสมกับคนเอเชียบางครั้งเรีกว่า ยูเรเซียน (eurasian) (ลูกผสมยุโรปเอเซีย)

340

ประชากรอาจจำแนกออกตามภาษา1 หรือภาษาถิ่น2ที่พูดกันอยู่ประจำ มีการแยกความแตกต่างระหว่างภาษาแม่3 หรือภาษาพูดที่บ้าน3ของบุคคล ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้พูดที่บ้านในช่วงวัยเด็ก กับภาษาปรกติ4 ซึ่งเป็นภาษาที่เขาใช้พูดในชีวิตประจำวัน ความแตกต่างระหว่างภาษาทั้งสองแยกได้ไม่ง่ายนักในหมู่คนสองภาษา5 หรือพหุภาษา5 สถิติที่เสนอข้อมูลในหัวข้อเหล่านี้เรียกว่าสถิติของภาษา6
  1. ภาษาศาสตร์ (linguistics) การศึกษาเกี่ยวกับลักษณะ โครงสร้าง กำเนิด และความหมายของภาษาและคำพูดของมนุษย์
  2. ภาษาท้องถิ่น (dialect) เป็นภาษาที่มีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นในเรื่องแบบแผนของการออกเสียง ไวยากรณ์ และศัพท์

341

สถิติทางศาสนา1แบ่งประชากรออกตามศาสนาที่คนนับถือ โดยทั่วไปแยกความแตกต่างระหว่างศาสนา2หลักกับนิกาย3 พิธีกรรม4 หรือสำนัก5ของศาสนานั้นๆ บุคคลที่ไม่มีศาสนาอาจเรียกตนเองว่าเป็นผู้ไม่มีศาสนา6 ผู้คิดอิสระ6 หรือผู้ไม่มีพระเจ้า6
  1. พิธีกรรม (rite) อาจใช้ในความหมายของพิธีกรรมทางศาสนา

342

ประชากรมักจำแนกออกตามสถานภาพทางการศึกษา1 บุคคลผู้สามารถอ่านและเขียนได้เรียกผู้รู้หนังสือ2 คนที่มีอายุถึงอายุหนึ่งและไม่สามารถอ่านและเขียนได้เรียกผู้ไม่รู้หนังสือ3 การจบชั้นเรียนหนึ่งหรือระดับหนึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้รู้หนังสือ สถิติความสำเร็จทางการศึกษา4จำแนกบุคคลตามชั้นเรียนที่จบ5 จำนวนปีที่จบการศึกษา5 หรือที่ไม่ค่อยใช้กันมากนักคือจำแนกตามอายุที่ออกจากโรงเรียน6 การจำแนกอีกประเภทหนึ่งคือ จำแนกออกตามวุฒิบัตร7 ปริญญาบัตร7 หรือ ประกาศนียบัตร7ที่ได้รับ หรือจำแนกตามการจัดหลักสูตรการสอน8ในแต่ละประเทศ
  1. สถิติการรู้หนังสือ (literacy statistics) เป็นส่วนหนึ่งของสถิติการศึกษา ซึ่งหมายถึงความสามารถที่อ่านและเขียน อัตราส่วนการรู้หนังสือเป็นสัดส่วนของประชากรที่รู้หนังสือ อีกด้านของอัตราส่วนนี้คืออัตราส่วนการไม่รู้หนังสือ
  2. การไม่รู้หนังสือ (illiterate) บุคคลที่สามารถอ่านออกแต่เขียนไม่ได้อาจเรียกว่าเป็นผู้กึ่งรู้หนังสือ และบุคคลนั้นบางครั้งก็อาจจัดอยู่ในประเภทผู้รู้หนังสือ และบางครั้งอาจจัดเป็นผู้ไม่รู้หนังสือได้เช่นกัน
  3. ประชากรวัยเรียน (346-7) มักแยกประเภทโดยชั้นเรียนหรือระดับชั้นที่ลงทะเบียน และข้อมูลการศึกษาที่สำเร็จจึงนำเสนอเฉพาะประชากรที่อายุเลยวัยเรียนตามปรกติมาแล้ว

343

ระบบการศึกษา1หมายรวมสถาบันทั้งหมดทั้งของรัฐและเอกชนที่ทำการสอนอยู่ในประเทศ เมื่อสถาบันการศึกษาทั้งสองประเภทมีอยู่ในประเทศหนึ่ง จะแยกความแตกต่างระหว่างการศึกษาของรัฐ2 กับการศึกษาของเอกชน3 หลังจากการศึกษาก่อนวัยเรียน4แล้ว ปรกติจะแยกระหว่างระดับการศึกษา5สามระดับซึ่งเรียงลำดับขึ้นไปดังนี้ ประถมศึกษา6 มัธยมศึกษา7ซึ่งมักแยกออกเป็นหลายรอบ8 หรือหลายสาขาวิชา8 กับการศึกษาสูงขึ้นไป9 ในการศึกษาสูงขึ้นไปที่ระดับ10ต่างๆ รวมถึงหลักสูตรการศึกษาซึ่งนำไปสู่ปริญญามหาวิทยาลัย11 การศึกษาวิชาชีพ12 หรืออาชีวศึกษา12อาจให้ได้ในระดับมัธยมศึกษาหรือระดับการศึกษาสูงขึ้นไป

344

ประเภทของสถาบันทางการศึกษา1 และชื่อของสถาบันเหล่านั้นขึ้นอยู่กับระบบการศึกษาเฉพาะของแต่ละประเทศ การศึกษาก่อนวัยเรียน (343-4) มีอยู่ในโรงเรียนเด็กเล็ก2 หรือโรงเรียนอนุบาล2 สถาบันที่ให้ทั้งสามระดับการศึกษา (343-5) ดังที่ได้เอ่ยถึงข้างต้นปรกติจะเรียกตามลำดับดังนี้ โรงเรียนประถมศึกษา3 หรือโรงเรียนชั้นประถม3 โรงเรียนมัธยมศึกษา4 และ วิทยาลัย5 หรือ มหาวิทยาลัย5 สถาบันการศึกษาระดับสูงขึ้นไปอาจมีโรงเรียนอาชีวะ6อีกหลายชนิด การศึกษาวิชาชีพ (343-12) จัดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้7 โรงเรียนวิชาชีพ8 วิทยาลัยวิชาชีพ9 สถาบันทางวิชาชีพ10 และสถาบันการศึกษา11
  1. คำว่าวิทยาลัย (college) มีหลายความหมาย วิทยาลัย (university college) อาจเป็นสถาบันการเรียนขั้นสูงขึ้นไปแต่ยังไม่มีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยโดยสมบูรณ์ หรืออาจเป็นส่วนประกอบของมหาวิทยาลัย

345

ชั้นเรียน1 (cf. 130-8) หมายถึงกลุ่มของนักเรียน2ที่มีครู3คนเดียวกันและพบกันในห้องเรียน4เดียวกัน และโดยทั่วไปจะได้รับการสอนพร้อมๆ กัน กลุ่มของนักเรียนซึ่งเรียนอยู่ในระดับการศึกษาเดียวกันกล่าวได้ว่าอยู่ในเกรด5เดียวกัน ในสหรัฐอเมริกา หรือในชั้น5 หรือฟอร์ม5 (cf. 206-1)เดียวกันในประเทศอังกฤษ ศัพท์คำว่านักศึกษา6 โดยทั่วไปใช้สำหรับนักเรียนที่ได้รับการศึกษาขั้นสูงขึ้นไป แต่ก็ใช้แทนกันได้กับคำว่า "นักเรียน" (pupil) ในระดับชั้นมัธยมศึกษา
  1. คำว่า scholar ในอังกฤษหมายถึงนักเรียนหรือนักศึกษาที่ได้รับทุนจากแหล่งทุนของรัฐหรือเอกชน คำนี้เป็นศัพท์โบราณที่หมายถึงนักเรียน ในสหรัฐอเมริกา นักศึกษาผู้ได้รับทุนเรียนเรียกว่าผู้ได้รับทุนการศึกษา หรือนักเรียนทุน
  2. นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ยังไม่ได้รับปริญญาตรีเรียก undergraduate graduate (cf. 151-1*) ในอังกฤษคือผู้ที่ได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยแล้ว ในสหรัฐอเมริกา ศัพท์คำนี้อาจใช้สำหรับใครก็ได้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยม หรือแม้กระทั่งโรงเรียนประถม ในสหรัฐอเมริกา graduate student ได้แก่ผู้กำลังเรียนเพื่อปริญญาที่สอง ซึ่งเทียบเท่ากับ post-graduate student ในอังกฤษ

346

สถิติโรงเรียนปัจจุบัน1อาจแยกระหว่างจำนวนของนักเรียนที่ลงทะเบียน2 กับจำนวนนักเรียนที่เข้าเรียน3 การเปรียบเทียบตัวเลขสองจำนวนนี้ให้ค่าของอัตราส่วนการเข้าเรียน4 การศึกษาภาคบังคับ5แสดงว่ามีพิสัยของอายุที่ต้องเข้าเรียนซึ่งบังคับโดยกฎหมาย การศึกษาภาคบังคับทำให้ระบุจำนวนเด็กในวัยเรียน6หรือประชากรวัยเรียน7ได้ด้วยเกณฑ์ทางกฎหมาย
  1. อัตราส่วนการเข้าเรียนเป็นอัตราส่วนของนักเรียนที่เข้าเรียนต่อนักเรียนที่ลงทะเบียน ในขณะที่อัตราส่วนการลงทะเบียนเป็นอัตราส่วนของนักเรียนที่ลงทะเบียนต่อประชากรวัยเรียน

347

สถิติอย่างอื่นจะเกี่ยวข้องกับการเลื่อนชั้นทางการศึกษา ปรกติบุคคลจะเลื่อนชั้นขึ้นไปทีละชั้น จากชั้นต่ำสุดของโรงเรียนประถมศึกษาไปจนจบการศึกษา การออกจากโรงเรียน1เมื่อมีการใช้กฎหมายการศึกษาภาคบังคับจะกระทำมิได้ในช่วงวัยเรียนเว้นแต่จะมีสาเหตุเนื่องจากการเจ็บป่วยและการตาย อัตราการหยุดพักเรียน2คือความน่าจะเป็นของการออกจากโรงเรียนก่อนที่จะจบการศึกษาในระดับนั้นไม่ว่าจะออกในช่วงระหว่างปีหรือเมื่อจบชั้นการศึกษา อัตรานี้คำนวณได้ด้วยวิธีเดียวกันกับความน่าจะเป็นของการตายในตารางชีพ ส่วนที่ทำให้อัตรานี้เติมเต็ม 1 คืออัตราเรียนต่อ3 อัตราเช่นนี้สามารถนำมาใช้คำนวณตารางของชีวิตวัยเรียน4 ซึ่งจากตารางนี้สามารถอนุมานระยะเวลาเฉลี่ยของการศึกษา5ได้ เมื่อจบปีการศึกษา นักเรียนหรือนักศึกษาที่ไม่หยุดการศึกษาของตนอาจจะเรียนซ้ำชั้นหรือขึ้นชั้นที่สูงขึ้นไปโดยมีหรือไม่มีการเปลี่ยนสายวิชา6 สัดส่วนการซ้ำชั้น7ใช้เพื่อวัดว่าเมื่อจบปีการศึกษามีนักเรียนมากน้อยเพียงใดที่ไม่สามารถเลื่อนขึ้นชั้นที่สูงขึ้น

350

โดยทั่วไปมีการแสดงความแตกต่างระหว่างประชากรกำลังแรงงาน1 หรือประชากรทำงานในเชิงเศรษฐกิจ1 กับประชากรว่างงาน2 หรือประชากรที่ไม่ได้ทำงานในเชิงเศรษฐกิจ2 กล่าวโดยทั่วไป ประชากรกำลังทำงานประกอบด้วยบุคคลที่ประกอบกิจกรรมที่มีผลประโยชน์3 กิจกรรมที่มีผลประโยชน์หรือกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจ3คือกิจกรรมซึ่งก่อให้เกิดผลผลิตเป็นรายได้ คนทำงานในครอบครัวที่ไม่ได้รับค่าจ้าง (353-5) ปรกติรวมอยู่ในประชากรทำงานในเชิงเศรษฐกิจ คนทำงานบ้าน4 หรือแม่บ้าน4ที่ทำงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้าง นักเรียนนักศึกษา คนงานที่เกษียณแล้ว ฯลฯ ปรกติจะไม่ถูกรวมไว้ในประชากรกลุ่มนี้ บางครั้งสมาชิกของประชากรที่ไม่ได้ทำงานเชิงเศรษฐกิจหมายถึงผู้พึ่งพิง5 (358-1) ในความหมายที่ว่าพวกเขาดำรงชีพอยู่ได้โดยอาศัยผลผลิตของประชากรกำลังทำงาน (อย่างไรก็ตาม ดูความหมายที่ต่างกันของศัพท์คำนี้ที่กล่าวไว้ในย่อหน้า 358) อัตราส่วนของประชากรกำลังทำงานต่อประชากรทั้งหมด ที่โดยปรกติคำนวณเฉพาะกลุ่มเพศ-อายุ หรือกลุ่มเฉพาะอื่นๆ เรียกว่าเป็นอัตราส่วนกิจกรรม6 หรืออัตราส่วนการมีส่วนร่วมในแรงงาน6
  1. ศัพท์คำว่าประชากรประกอบอาชีพที่มีผลประโยชน์ คนงานที่มีผลประโยชน์ แรงงาน ใช้ในความหมายเดียวกันกับประชากรกำลังแรงงาน และประชากรทำงานในเชิงเศรษฐกิจ
    สำหรับการวัดทางสถิติของประชากรกำลังแรงงาน อาจใช้แนวคิดเรื่องคนงานที่มีผลประโยชน์หรือแรงงานได้ ตามแนวความคิดเรื่องแรงงาน ประชากรกำลังแรงงานจะนิยามว่าเป็นกลุ่มของบุคคลซึ่งกำลังทำงานในอาชีพที่มีผลประโยชน์ หรือต้องการ หรือกำลังหางานเช่นนั้นทำในช่วงระหว่างระยะเวลาที่ระบุไว้ก่อนการสำรวจ

351

คนงาน1ซึ่งประกอบขึ้นเป็นประชากรกำลังทำงานสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มมีงานทำ2 หรือว่างงาน3 ภายใต้แนวความคิดเรื่องแรงงาน (350-1 *) ปรกติบุคคลที่กำลังหางาน4หรือถูกปลดออกจากงานชั่วคราวในช่วงเวลาที่ระบุไว้เท่านั้นที่จะนับว่าเป็นคนว่างงาน มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องแยกแยะระหว่างบุคคลผู้ซึ่งไม่เคยมีงานทำกับบุคคลที่กำลังมองหางานแรกของตน11 หรือผู้หางานแรก11 ประชากรมีงานทำ5ประกอบด้วยคนที่ปัจจุบันกำลังทำงานเพื่อค่าจ้างหรือผลกำไร ในกลุ่มประชากรทำงานเชิงเศรษฐกิจ จะมีคนงานจำนวนมากที่อาจถูกบังคับโดยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศหรือของช่วงเวลานั้นให้ต้องทำงานน้อยลงกว่าที่พวกเขามีความสามารถและเต็มใจที่จะทำได้ กรณีเช่นนี้ใช้ศัพท์คำว่าการทำงานต่ำระดับ6หรือการว่างงานบางส่วน6 คนงานทางเลือกสุดท้าย7ที่เข้าร่วมในกิจกรรมทางเศษฐกิจเพียงบางครั้งบางคราวมักจะไม่จัดอยู่ในแรงงานภายใต้แนวความคิดเรื่องคนงานที่เกิดผลประโยชน์ (350-1 *) อัตราส่วนการทำงานต่อประชากร8เป็นสัดส่วนของบุคคลในวัยทำงาน (ปรกติอายุ 15 ถึง 64 ปี) ที่ทำงาน บุคคลที่ไม่ทำงาน9เป็นบุคคลที่ไม่ได้ประกอบกิจกรรมวิชาชีพใดๆ สำเร็จหรือกำลังมองหาการจ้างงาน การไม่ทำงานแฝง10หรือการสำรองแรงงาน10 รวมถึงบุคคลผู้ซึ่งแม้ว่าไม่ลงทะเบียนเป็นผู้ว่างงานอย่างเป็นทางการ แต่กำลังหางานส่วนตัวทำ เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ได้หางานทำแต่มีงานเสนอมายังเขาเหล่านั้นและเขาเหล่านั้นสามารถทำได้
  1. การมีงานทำ (employment) หมายถึงสถานการณ์ที่บุคคลหนึ่งประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สถานภาพการทำงานหมายถึงการแบ่งประเภทบุคคลออกเป็นมีงานทำหรือว่างงาน
  2. บางครั้งหมายถึงการใช้ประโยชน์ต่ำระดับของแรงงาน การทำงานต่ำระดับและการใช้ประโยชน์ต่ำระดับบางครั้งหมายถึงสถานการณ์ที่บุคคลทำงานต่ำกว่าระดับของคุณสมบัติที่เขามี

352

การจำแนกอาชีพ1ของประชากรกำลังทำงาน (350-1) แสดงสมาชิกที่จัดรวมเป็นกลุ่มโดยอาชีพ2 ความคล้ายกันของงานที่ทำโดยคนงาน รวมทั้งความคล้ายกันของทักษะความชำนาญและการฝึกอบรมที่จำเป็นสำหรับงานนั้นเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดกลุ่มอาชีพต่างๆ ให้เป็นกลุ่มอาชีพ3 หรือชั้นทางอาชีพ3
  1. เพื่อวัตถุประสงค์ของการเปรียบเทียบ องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้จัดเตรียม International Standard Classification of Occupations ไว้ให้

353

ปรกติ ประชากรกำลังทำงาน (350-1) จะจำแนกประเภทออกตามสถานภาพงาน1 ในการจำแนกประเภทอย่างนี้ นายจ้าง2จะแตกต่างจากลูกจ้าง3ในด้านหนึ่ง และแตกต่างจากคนทำงานของตนเอง4 หรือคนทำงานอิสระ4ในอีกด้านหนึ่ง คนทำงานอิสระไม่ใช้แรงงานที่ทำงานเพื่อค่าจ้าง หากแต่อาจได้รับการช่วยทำงานจากคนทำงานในครอบครัว5 หรือผู้ช่วยในครอบครัว5โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ปรกติแรงงานในครอบครัวเหล่านี้จะแยกออกเป็นกลุ่มต่างหาก ส่วนผสมของการจำแนกประเภทตามสถานภาพงานและอาชีพอาจใช้เพื่อสร้างประเภทสถานภาพทางสังคม6
  1. การแบ่งประเภทโดยสถานะ (เป็นนายจ้าง ลูกจ้าง ฯลฯ) มีชื่อเรียกด้วยศัพท์หลายคำในสำมะโนของประเทศต่างๆ เช่น "สถานภาพอุตสาหกรรม" "สภาพในการทำงาน" "ตำแหน่งในอุตสาหกรรม" "ชั้นของคนงาน" ฯลฯ
  2. ผู้จัดการ บางครั้งนับรวมกับนายจ้าง ทั้งๆ ที่ผู้จัดการก็เป็นลูกจ้างเหมือนกัน

354

กลุ่มย่อยของแรงงานประเภทลูกจ้าง (353-3) บางครั้งแยกออกให้แตกต่างกัน หนึ่งในกลุ่มย่อยเหล่านั้นคือคนงานบ้าน1ที่ทำงานในบ้านของตนเอง บางครั้งทำงานให้กับนายจ้างหลายคน ในกลุ่มลูกจ้าง บางครั้งแยกความแตกต่างระหว่างคนงานด้วยมือ2 และคนงานไม่ได้ด้วยมือ3 หรือคนงานเสมียนและสำนักงาน3 คนงานด้วยมืออาจแบ่งย่อยออกไปอีกตามทักษะ4ของคนงานเป็นคนงานฝีมือ5 คนงานกึ่งฝีมือ6 และคนงานไร้ฝีมือ7 ผู้ฝึกงาน8บางครั้งจัดอยู่ในประเภทย่อยของลูกจ้าง
  1. อีกแบบหนึ่งของการแบ่งประเภทลูกจ้างคือการแยกความแตกต่างระหว่างคนทำงานเพื่อค่าจ้าง ผู้ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันหรือรายอาทิตย์ กับลูกจ้างเงินเดือน ผู้ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนหรือช่วงเวลานานกว่านั้น สถิติของสหรัฐอเมริกาแยกประเภทอาชีพกว้างๆ ออกเป็น 4 ประเภท (1) คนงานคอปกขาว (2) คนงานคอปกน้ำเงิน ซึ่งรวมช่างฝีมือ ผู้ปฏิบัติการ และคนงานนอกฟาร์ม (3) คนทำงานบริการ และ (4) คนงานในฟาร์ม (cf. 356)
  2. แรงงาน หมายถึงคนงานไร้ฝีมือ ซึ่งทำงานโดยใช้แรงงานหนักมาก

355

ในกลุ่มลูกจ้าง (353-3) มักจะแยกความแตกต่างระหว่างคนงานฝ่ายจัดการ1ผู้ตัดสินใจด้านนโยบาย คนงานฝ่ายบริหาร2ผู้นำนโยบายมาสู่การปฏิบัติ และผู้คุมงาน3 หรือโฟร์แมน3ผู้ปฏิบัติงานโดยตรง เจ้าหน้าที่ (357-5) แบ่งออกเป็นบริการระดับล่างหรืออย่างง่าย4 ซึ่งโดยส่วนใหญ่สำหรับตำแหน่งงานรับใช้ (เช่น ผู้ช่วยผู้บริหาร ผู้ช่วยทางเทคนิค) บริการระดับกลาง5 ซึ่งโดยส่วนใหญ่สำหรับตำแหน่งที่เทียบเท่าว่าผ่านการฝึกงานมาแล้ว (เช่น บรรณาธิการ เลขานุการผู้บริหาร) บริการระดับบน6 ซึ่งโดยส่วนใหญ่สำหรับตำแหน่งที่จบปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (ผู้บริหารงานหรือช่างเทคนิค) และบริการขั้นสูง7 ซึ่งจำกัดเฉพาะผู้ที่จบปริญญาโทหรือเทียบเท่า
  1. ในสหรัฐอเมริกา คำว่า executive หมายถึงสมาชิกของคนงานฝ่ายจัดการ

356

ใช้การจัดประเภทพิเศษในสาขาการเกษตร ชาวนา1 หรือคนทำนา1 คือคนที่ทำงานในนาเพื่อผลกำไร ในกลุ่มชาวนา เราแยกระหว่างเจ้าของที่นา2ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน และผู้เช่านา3ผู้เช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดินนั้น และเกษตรกรผู้แบ่งผลผลิต3ผู้ให้ส่วนหนึ่งของผลผลิตทางการเกษตรเพื่อตอบแทนการใช้ที่ดินและปศุสัตว์ แรงงานทางการเกษตร4คือบุคคลที่กำลังทำงานที่ชาวนาเป็นผู้จ้าง
  1. ผู้จัดการฟาร์ม ผู้ได้รับเงินเดือน โดยทั่วไปจัดอยู่ในประเภทชาวนา
  2. ในสก๊อตแลนด์ ชาวนาขนาดเล็กบางครั้งเรียกว่า crofter ชาวนาที่มีฟาร์มขนาดเล็กเรียกว่าผู้ถือครองรายย่อย
  3. แรงงานการเกษตรแบ่งเป็นประเภททั่วไป 3 ประเภท แรงงานการเกษตรเต็มเวลา แรงงานรายวัน และแรงงานการเกษตรตามฤดูกาล ประเภทสุดท้ายนี้มักเป็นแรงงานผู้ย้ายถิ่น

357

ประชากรกำลังทำงานอาจจำแนกประเภทตามอุตสาหกรรม1 หรือ สาขาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ1 การจำแนกประเภทอย่างนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ2 หรือ องค์กร2ซึ่งบุคคลทำงานอยู่ ความสำคัญจะอยู่ที่การแบ่งประชากรออกเป็นคนงานทางการเกษตร3 และ คนงานไม่ใช่ทางการเกษตร4 บางครั้งลูกจ้างรัฐบาล5และบุคคลากรทางการทหาร6 หรือสมาชิกของกองทัพ6 โดยทั่วไปจะแสดงแยกต่างหาก แต่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจมีกฎนับให้อยู่ในประชากรเชิงอุตสาหกรรมที่เหลือ โดยทั่วไป อุตสาหกรรมจำแนกออกเป้น 3 ภาค ภาคปฐมภูมิ7 (เกษตรกรรม ล่าสัตว์ ประมง และทำเหมืองแร่) ภาคทุติยภูมิ8 (หัตถกรรม ก่อสร้าง และบริการ) และภาคตติยภูมิ9 (การพาณิชย์ การคลัง อุตสาหกรรมการขนส่ง และอุตสาหกรรมการบริการ) ในประเทศกำลังพัฒนาภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิม10มักใส่ไว้ในรายการแยกต่างหาก และอยู่ตรงข้ามกับภาคสมัยใหม่ของเศรษฐกิจ
  1. เพื่อวัตถุประสงค์ในการเปรียบเทียบระหว่างประเทศ สหประชาชาติได้จัดพิมพ์การจำแนกประเภทอุตสาหกรรมมาตรฐานสากลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด (International Standard Industrial Classification of All Economic Activities)
  2. ข้าราชการพลเรือนเป็นลูกจ้าง (353-3) ของรัฐบาล ข้าราชการ (official) เป็นลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ แต่ศัพท์คำนี้บางครั้งใช้สำหรับลูกจ้างเงินเดือนของบริษัทใหญ่ มักแสดงความแตกต่างระหว่างลูกจ้างรัฐบาลกับลูกจ้างเอกชน

358

ประชากรที่ไม่ทำงานเชิงเศรษฐกิจอาจแบ่งออกเป็นผู้พึ่งพิง1 (350-5) และบุคคลที่พึ่งตนเอง2 ผู้พึ่งพิงต้องอาศัยการสนับสนุนช่วยเหลือจากผู้หาเงิน3 หรือผู้หาเลี้ยงครอบครัว3 ตัวอย่างเช่นในกรณีของแม่บ้าน (350-4) และเด็กๆ ที่ต้องพึ่งพิง4 บุคคลที่พึ่งตนเองมีวิธีการเพียงพอที่จะหาเลี้ยงชีพของตนได้ เขาอาจเป็นผู้ให้เช่า5 หรือบุคคลผู้มีวิธีการอิสระ5 ผู้เกษียณหรือผู้ได้รับบำนาญ6 ประเภทพิเศษของผู้พึ่งพิงได้แก่บุคคลที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ7 หรือผู้รับสวัสดิการ7 บุคคลที่ไม่สามารถทำงานได้เรียกผู้ไม่สามารถทำงาน8 อัตราส่วนของประชากรที่ทำงานต่อประชากรที่ไม่ทำงานเรียกว่าอัตราส่วนพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ9
  1. อัตราส่วนของประชากรเด็กและผู้สูงอายุต่อผู้ใหญ่เรียกว่าอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุ

359

อาจแบ่งประเภทประชากรตามภาคของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ประชากรทำอยู่เพื่อการดำรงชีวิต ผู้พึ่งพิงจัดไว้ในประเภทเดียวกันกับผู้หาเลี้ยงครอบครัว เราพูดถึงประชากรพึ่งพิงต่อ1สาขากิจกรรมเฉพาะ และโดยเฉพาะของประชากรพึ่งพิงต่อการเกษตร2 คำว่าประชากรทางการเกษตร2บางครั้งใช้ให้มีความหมายเดียวกันกับประชากรไร่นา2ซึ่งอาศัยอยู่ในไร่นา หรือพึ่งพิงการเกษตร และซึ่งแตกต่างจากประชากรนอกไร่นา3 หรือประชากรนอกการเกษตร3

360

คนอ่อนแอ1 หรือคนพิการ1มักแสดงในสำมะโนแยกต่างหาก ประชากรเหล่านี้จะถูกจัดประเภทตามลักษณะของความอ่อนแอ2 หรือความพิการ2 ความอ่อนแอทางกาย3 หรือความพิการทางกาย3อย่างเช่นตาบอด หรือหูหนวก-เป็นใบ้ โดยทั่วไปจะแยกออกจากความอ่อนแอทางจิต4 หรือความพิการทางจิต4อย่างเช่นปัญญาอ่อน หรือความจำเสื่อม

361

การศึกษาเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน1ของบุคคลรวมการศึกษาเกี่ยวกับการเข้าสู่กำลังแรงงาน2 และเกี่ยวกับการออกจากกำลังแรงงาน3 ในเรื่องการเข้าสู่แรงงาน เป็นไปได้ที่จะแยกคนที่ไม่เคยทำงานออกจากคนที่เคยเป็นกำลังแรงงานในเวลาก่อนหน้านั้น ในเรื่องการแยกออกจากแรงงานอาจทำเป็นรายการตามสาเหตุ เช่น การตาย การปลดเกษียณ4 การถอนตัวออกจากแรงงานชั่วคราว อาจทำการวิเคราะห์ตามรุ่นหรือระยะเวลา และจะเกี่ยวข้องกับอัตราการเข้าสู่แรงงาน5 หรือความน่าจะเป็นของการเข้าสู่แรงงาน6 อัตราการออกจากแรงงาน7 หรือความน่าจะเป็นของการออกจากแรงงาน8ตามสาเหตุครั้งสุดท้าย ดัชนีเหล่านี้คำนวณตามรายอายุหรือกลุ่มอายุ

362

ดัชนีเหล่านี้ใช้ในการคิดคำนวณตารางของชีวิตการทำงาน1ตามรุ่นหรือตามระยะเวลา เสริมต่อความน่าจะเป็นที่ได้อธิบายไว้ในย่อหน้าก่อน ตารางนี้แสดงการกระจายตามรายอายุที่เข้าสู่แรงงาน2 และการกระจายตามรายอายุที่ออกจากแรงงาน3 (ตามสาเหตุครั้งสุดท้าย ก่อนและหลังจากดูเรื่องการตาย) อายุเฉลี่ยที่เข้าสู่แรงงาน4 และอายุเฉลี่ยเมื่อออกจากแรงงาน5 ความคาดหวังของชีวิตการทำงาน6 ความคาดหวังรวมของชีวิตการทำงาน7 (ซึ่งไม่รวมผลกระทบของภาวะการตาย) และความคาดหวังสุทธิของชีวิตการทำงาน8 (ซึ่งรวมผลกระทบของภาวะการตาย) ดัชนีทั้งหมดนี้แสดงจำนวนปีเฉลี่ยของชีวิตการทำงานที่เหลืออยู่ที่ประชากรทำงานแต่ละอายุจะมี สำหรับคนที่เข้าสู่แรงงานที่อายุนั้น ความคาดหวังนี้จะให้ค่าระยะเวลาเฉลี่ยของชีวิตการทำงาน9 ดัชนีคล้ายๆ กันนี้อาจคำนวณสำหรับทุกอายุที่เข้าสู่แรงงานรวมด้วยกัน
  1. ตารางอย่างนี้คำนวณเมื่อการถอนตัวชั่วคราวจากแรงงานคิดเป็นสัดส่วนของทั้งหมดที่น้อยมากจนตัดทิ้งได้ และเงื่อนไขเป็นอยู่ประมาณนั้นสำหรับผู้ขาย สำหรับผู้หญิง จำเป็นที่ต้องแยกความแตกต่างระหว่างการเข้าสู่แรงงานครั้งแรก หรือการเข้าสู่แรงงาน ออกจากการเข้าสู่แรงงานอีกครั้ง

บทที่ 4 • ภาวะการตายและการเจ็บป่วย

401

การศึกษาภาวะการตาย1เกี่ยวข้องกับการศึกษาผลกระทบของการตายที่มีต่อประชากร ศัพท์ทั่วไปอัตราการตาย2 หรืออัตราตาย2ตีวงรอบอัตรา (133-4) ทั้งหมดซึ่งวัดความถี่ของการตาย3 เมื่อใช้คำว่าอัตราตายโดยไม่มีคุณศัพท์ใดขยายความต่อไป โดยทั่วไปจะหมายถึงอัตราตายอย่างหยาบ4 (cf. 136-8 สำหรับคำอธิบายทั่วไปของอัตราอย่างหยาบ) อัตรานี้เป็นอัตราต่อปีและประกอบด้วยอัตราส่วนของจำนวนการตายรายปีที่เกิดขึ้นในช่วงปีปฏิทินหนึ่งต่อจำนวนคนที่เสี่ยงต่อการตายในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนนี้เท่ากับประชากรเฉลี่ย5หรือประชากรโดยเฉลี่ย5ของช่วงเวลานั้น และปรกติประชากร ณ จุดกึ่งกลางของช่วงเวลาสามารถใช้แทนประชากรได้โดยไม่มีข้อผิดพลาดมากนักถ้าขนาดของประชากรนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างสม่ำเสมอพอสมควร ถ้าศึกษาภาวะการตายของประชากรกลุ่มย่อย (101-6) เพียงกลุ่มเดียว เราพูดถึงอัตราตายเฉพาะ (134-6) ซึ่งอัตราตายรายอายุและเพศ6เป็นอัตราที่ใช้กันมากที่สุด อัตราตายรายอายุ7ที่ไม่แยกเพศก็คำนวณใช้กันในบางโอกาส
  1. บางครั้งคำว่าภาวะการตายใช้พ้องกับอัตราการตายหรืออัตราตาย
  2. เมื่อระยะเวลาของข้อมูลเกินหนึ่งปี จะหาประชากรเฉลี่ยได้โดยการเฉลี่ยค่าประมาณของประชากรของแต่ละปีหลายๆ ค่า จำนวนเฉลี่ยของปีคน (135-6) ก็ใช้เป็นตัวหารได้

402

อัตราตายเฉพาะอาจใช้เพื่อศึกษาภาวะการตายที่ต่างกัน1หรือความแตกต่างของภาวะการตาย1ระหว่างกลุ่ม และการอ้างอิงถึงภาวะการตายที่มากกว่า2ของกลุ่มหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่ง หรือเปรียบเทียบกับประชากรที่เหลือ วัดโดยดัชนีภาวะการตายที่มากกว่า3 การศึกษาความแตกต่างในอัตราตายของอาชีพเฉพาะเรียกการศึกษาภาวะการตายตามอาชีพ4 ในความหมายที่ค่อนข้างจะต่างออกไป ศัพท์คำว่าภาวะการตายตามอาชีพ5อาจหมายถึงภาวะการตายจากอันตรายที่เนื่องมาจากอาชีพหนึ่ง ในการศึกษาเรื่องเหล่านี้ เราอาจเอ่ยถึงคำว่าโรคจากอาชีพ6
  1. ใช้คำว่า ความแตกต่างในภาวะการตายก็ได้
  2. คำว่าภาวะการตายผู้ชายที่มากกว่า มีความหมายเปรียบเทียบกับภาวะการตายของผู้หญิงในกลุ่มที่เหมือนกัน เช่น ในกลุ่มอายุเดียวกัน

403

อัตราตายอย่างหยาบ (401-4) จะขึ้นอยู่กับโครงสร้าง [โดยเฉพาะโครงสร้างอายุ (325-6)] ของประชากรและระดับของภาวะการตาย ถ้าภาวะการตายของประชากรที่แตกต่างกันจะนำมาเปรียบเทียบ อัตราตายปรับฐาน1 หรืออัตราตายปรับ1จะคำนวณออกมาเพื่อขจัดผลกระทบของความแตกต่างในโครงสร้างประชากร (144-4) ส่วนใหญ่อายุเป็นลักษณะที่อัตราตายจะต้องปรับโดยการอิงกับประชากรมาตรฐาน2ที่มีโครงสร้างอย่างหนึ่ง ถ้ามีอัตราเฉพาะ (134-6) ของประชากรที่ศึกษาอยู่แล้ว ก็จะใช้วิธีการปรับฐานทางตรง3ซึ่งประกอบด้วยการคูณอัตราเฉพาะเหล่านี้กับกลุ่มที่สอดคล้องกันของประชากรมาตรฐาน ถ้าไม่มีอัตราเฉพาะของประชากรที่ศึกษา ก็ยังคำนวณอัตราตายปรับฐานได้โดยใช้วิธีการปรับฐานทางอ้อม4 ส่วนมากจะคำนวณดัชนีการตายเชิงเปรียบเทียบ5ด้วยการคูณอัตราตายมาตรฐาน6กับกลุ่มต่างๆ ของประชากรที่ศึกษา แล้วรวมผลคูณเพื่อได้จำนวนตายที่คาด จากนั้นจะได้ดัชนีโดยการเปรียบเทียบจำนวนตายที่สังเกตได้7ในประชากรที่ศึกษากับจำนวนตายที่คาด8ว่าจะเกิดขึ้นถ้าประชากรนั้นมีการตายตามอัตรามาตรฐานที่ใช้
  1. ถ้าอัตราตายอย่างหยาบ (401-4) คูณด้วยดัชนีภาวะการตายเปรียบเทียบ เราจะได้ค่าอัตราตายปรับฐานทางอ้อม ในคำศัพท์ทางการของอังกฤษ เมื่อศึกษาภาวะการตายตามอาชีพ ตัวเลขที่ได้รับจากการปรับฐานทางตรงเรียกว่าเป็นตัวเลขภาวะการตายเชิงเปรียบเทียบ และตัวเลขที่ได้จากการปรับฐานทางอ้อมเรียกอัตราส่วนภาวะการตายปรับฐาน (standardized mortality ratio)

410

ภาวะการตายของเด็กเกิดมามีชีวิตอยู่ยังไม่ครบวันเกิดครั้งแรกเรียกว่าภาวะการตายทารก1 ภาวะการตายของเด็กเกิดมามีชีวิตที่ตายก่อนที่จะถึงอายุหนึ่งปี เช่น 4 สัปดาห์ หรือ 28 วันที่เรียกว่าช่วงเวลาแรกเกิด3 เรียกว่าภาวะการตายแรกเกิด2 ภาวะการตายในช่วงสัปดาห์แรกของชีวิตและระหว่างสัปดาห์แรกจนถึงก่อน 28 วันเรียกว่าภาวะการตายแรกเกิดระยะแรก4และภาวะการตายแรกเกิดระยะหลัง6ตามลำดับ ศัพท์คำว่าภาวะการตายหลังแรกเกิด5หมายถึงการตายหลังจากช่วงเวลาแรกเกิด แต่ก่อนจะครบอายุหนึ่งปี
  1. ในสถิติบางอย่าง ช่วงเวลาแรกเกิดนิยามว่าเป็นช่วง 1 เดือนแรกของชีวิต คำว่าวัยทารกช่วงแรกบางครั้งนำมาใช้อย่างประมาณเทียบเท่ากับช่วงเวลาแรกเกิด อย่างเช่น ใน "โรคของวัยทารกช่วงแรก"

411

คำว่าภาวะการตายตัวอ่อน1ใช้สำหรับการตายก่อนที่ผลของการปฏิสนธิ (602-6) จะถูกขับออกหรือแยกออกจากมารดาโดยไม่คำนึงถึงระยะเวลาของการตั้งครรภ์ (603-3) อาจใช้คำว่าภาวะการตายภายในมดลูก1 หรือภาวะการตายในมดลูก1 การตายเช่นนั้นเรียกการตายตัวอ่อน2 หรือการตายภายในมดลูก2 ภาวะการตายตัวอ่อนระยะแรก3เกิดขึ้นก่อนสัปดาห์ที่ 20 ของชีวิตที่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่ภาวะการตายตัวอ่อนระยะกลาง4เกิดขึ้นระหว่างสัปดาห์ที่ 20 และสัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ หลังจากสัปดาห์ที่ 28 แล้วจะเรียกว่าภาวะการตายตัวอ่อนระยะหลัง5 ซึ่งมีผลเรียกวาการตายตัวอ่อนระยะหลัง5หรือที่นิยมเรียกว่าการตายคลอด5 ภาวะการตายปริชาตะ6รวมภาวะการตายตัวอ่อนระยะหลังและส่วนของภาวะการตายทารกที่อาจรวมการตายแรกเกิดสัปดาห์แรก หรือการตายแรกเกิดทั้งหมดเอาไว้ด้วย ภาวะการตายตัวอ่อน-ทารก7รวมการตายคลอดและการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี
  1. มีชื่อเรียกว่าการสูญเสียครรภ์ด้วย ศัพท์เหล่านี้รวมการแท้ง (603-5) การแท้งโดยธรรมชาติ (604-1) และการตายคลอด
  2. การตายตัวอ่อนระยะแรกนิยมเรียกกันว่าเป็นการแท้งตามธรรมชาติ
  3. การตายคลอด (stillbirth) ในบางประเทศเช่น ฝรั่งเศส เด็กที่เกิดมามีชีพแต่ตายเสียก่อนที่จะไปจดทะเบียน ในทางกฎหมายรวมไว้ในการตายคลอด และเรียกว่าการตายคลอดปลอม
  4. การตายในช่วงเวลานี้เรียกว่าการตายปริชาตะ

412

อัตราส่วนของการตายก่อนอายุหนึ่งขวบ1 ของการตายอายุน้อยกว่า 28 วัน และของการตายอายุน้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์ที่เกิดขึ้นในปีหนึ่งต่อจำนวนของการเกิดมีชีพจะให้ค่าตามลำดับดังนี้ อัตราตายทารก2 อัตราตายแรกเกิด3 และอัตราตายแรกเกิดสัปดาห์แรก4 โดยทั่วไปอัตราเหล่านี้จะใช้เป็นอัตราต่อพันการเกิดมีชีพ เมื่อการตายจำแนกออกตามอายุและปีที่เกิด สามารถที่จะแบ่งการตสยก่อนอายุครบหนึ่งขวบตามการเกิดออกเป็นสองรุ่นตามปีที่เกิด ดัชนีที่ได้อัตราตายทารกปรับฐาน5ซึ่งเท่ากับความน่าจะเป็นของการตายก่อนอายุหนึ่งขวบ5 ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลปีเกิดเช่นนั้นอาจประมาณปัจจัยแยก6ได้ ซึ่งจะแบ่งการตายทารกออกเป็นการตายของทารกที่เกิดในปีปฏิทินปัจจุบัน และการตายของทารกที่เกิดในปีปฏิทินก่อน

413

สัดส่วนของการตายตัวอ่อนระยะหลัง (411-5)ในจำนวนการเกิดทั้งหมดเรียกว่าอัตราตายตัวอ่อนระยะหลัง1 อัตราส่วนของการตายตัวอ่อนระยะหลังต่อการเกิดมีชีพ (601-4) เรียกว่าอัตราส่วนการตายตัวอ่อนระยะหลัง2 อัตราการตายตัวอ่อน3แสดงจำนวนการตายภายในมดลูกที่ทราบต่อการเกิดพันรายในปีเดียวกันนั้น ในขณะที่อัตราส่วนการตายตัวอ่อน4เป็นอัตราส่วนของการตายในมดลูกต่อการเกิดมีชีพในปีหนึ่ง ดัชนีเหล่านี้จะประมาณภาวะการตายในมดลูกต่ำไปอย่างมาก เนื่องจากการตายในมดลูกระยะแรกมักจะสังเกตไม่ได้หรือไม่ทราบ มาตรวัดที่ดีกว่าของภาวะการตายภายในมดลูกคือค่าที่ได้จากตารางการตายภายในมดลูก5ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ตารางชีพ (cf. 432)เป็นพิเศษ โดยนำเอาระยะเวลาการตั้งครรภ์มาพิจารณาด้วย อัตราการตายปริชาตะ6โยงการตายปริชาตะ (411-6*) มาสัมพันธ์กับผลรวมของการตายตัวอ่อนระยะหลังและการเกิดมีชีพ อัตราตายตัวอ่อน-ทารก7แสดงจำนวนการตายคลอดและการตายในช่วง 1 ปีแรกของชีวิตต่อการเกิดมีชีพ 1000 รายและการตายคลอดของช่วงเวลาเดียวกันที่รายงาน
  1. เรียกว่าอัตราตายคลอดได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ศัพท์คำนี้
  2. เรียกว่าอัตราส่วนตายคลอดได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ศัพท์คำนี้
  3. อัตราส่วนการตายปริชาตะเป็นการตายปริชาตะต่อการเกิดมีชีพเท่านั้น

414

ในการศึกษาภาวะการตายตามรายอายุ1 ศัพท์คำว่าภาวะการตายทารก (410-2) และภาวะการตายแรกเกิด (410-3)จะอ้างถึงระยะเวลาที่ยอมรับกันทั่วไป การใช้ศัพท์ต่างๆ เช่น ภาวะการตายเด็ก2 ภาวะการตายเยาวชน3 ภาวะการตายผู้ใหญ่4 หรือภาวะการตายของคนชรา5ก็ยังไม่อยู่ในรูปแบบเดียวกัน อัตราตายเด็กหลังวัยทารก6บางครั้งหมายถึงอัตราตายระหว่างอายุหนึ่งถึงสี่ปี

420

การสึกษาเรื่องภาวะเจ็บป่วย1เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบศึกษาการเจ็บไข้2 การเป็นโรค2 สุขภาพไม่ดี2 หรือโรค2ในประชากร ทำการศึกษาเรื่องนี้ใน 2 แง่มุม คืออุบัติการณ์ของโรค3 และความชุกของโรค4เป็นไปตามคำถามว่าจะพิจารณากรณีที่เป็นโรค5รายใหม่ หรือจะพิจารณาจำนวนกรณีที่เป็นโรคที่มีอยู่แล้ว ณ เวลาหนึ่ง การรวบรวมสถิติภาวะเจ็บป่วย6มีอุปสรรคอยู่ที่การขาดเครื่องชี้ความแตกต่างระหว่างสุขภาพดีกับสภาพความเจ็บป่วย7 โรควิทยา8 และ โรคศาสตร์9 ช่วยได้มากในการจำแนกประเภทและคำอธิบายโรคต่างๆ

421

สถิติสาธารณสุข1ครอบคลุมสถิติภาวะเจ็บป่วย และยังรวมทุกแง่ของสุขภาพอนามัยของประชากรด้วย และโดยทั่วไปจะรวมสถิติของภาวะการตายรายสาเหตุ2 การจำแนกประเภทของการตายโดยสาเหตุการตาย3ทำได้ยากเพราะในหลายกรณีอาจไม่มีเอกสาเหตุการตาย4 แต่มีพหุสาเหตุการตาย5 หรือสาเหตุการตายร่วม5 เมื่อมีกรณีเช่นนี้ เราอาจแยกความแตกต่างระหว่างสาเหตุสุดท้ายของการตาย6กับสาเหตุแท้จริงของการตาย7 หรือ ดูที่ปัญหาจากความเห็นที่แตกต่างโดยอาจแยกความแตกต่างระหว่างสาเหตุปฐมภูมิของการตาย8 หรือสาเหตุหลักของการตาย8 กับสาเหตุทุติยภูมิของการตาย9 สาเหตุบางส่วนของการตาย9 หรือสาเหตุร่วมของการตาย9 อัตราตายรายสาเหตุ10 โดยทั่วไปแสดงเป็นอัตราต่อประชากร 100,000 คน อัตราส่วนของจำนวนการตายจากสาเหตุเฉพาะหนึ่งต่อจำนวนการตายจากสาเหตุทั้งหมดเรียกว่าอัตราส่วนการตายเฉพาะสาเหตุ11 อัตราส่วนเช่นนี้ที่คำนวณสำหรับเฉพาะกลุ่มอายุหรือประชากรทั่วไปให้ข้อมูลของ โครงสร้างของสาเหตุการตาย12ที่ซ่อนอยู่

422

การตายหรือภาวะพิการ (426-2) อาจเป็นผลมาจากโรค (420-2) หรือการบาดเจ็บ1 หรือการเป็นพิษ2 การบาดเจ็บอาจเนื่องมาจากอุบัติเหตุ3 หรือความรุนแรง4 ในกรณีของความรุนแรง เป็นเรื่องปรกติที่จะแยกความแตกต่างระหว่างการฆ่าตัวตาย5และความพยายามฆ่าตัวตาย5 ฆาตกรรม6 และการตายหรือการบาดเจ็บอันเนื่องมาจากปฎิบัติการแห่งสงคราม7
  1. ในทางกฏหมายอาจเป็น ถูกฆ่าตาย หรือการฆ่าคนโดยไม่ไตร่ตรองไว้ก่อน
  2. เรียกอย่างย่อเป็นการตายจากสงคาม และการบาดเจ็บจากสงคราม

423

โรคประจำถิ่น1เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อประชากรบางส่วนอยู่ตลอดเวลา แตกต่างจากการระบาด2ซึ่งแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วแล้วก็หายไปภายในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อมันเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศก็เรียกว่า การแพร่ระบาด3 โรคติดเชื้อ4หรือโรคติดต่อ4บางโรคได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะมันสามารถติดต่อไปยังผู้คนจำนวนมากภายในระยะเวลาค่อนข้างสั้น ในกรณีเช่นนั้น เราพูดถึงโรคระบาด5 และสถิติวิทยาการระบาด6พิเศษจะถูกเก็บรวบรวมเพื่อแสดงอุบัติการณ์เหล่านั้น เราอาจได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดเหล่านี้ในประเทศต่างๆ เพราะว่าในหลายประเทศมีการออกกฎหมายบังคับให้รายงานโรคเหล่านั้น จึงเรียกโรคเหล่านั้นว่าโรคที่ต้องแจ้งความ7 บางครั้งแยกความแตกต่างระหว่างโรคเรื้อรัง8กับโรคเฉียบพลัน9 ศัพท์ทั้งสองนี้ไม่มีนิยามแน่ชัด แต่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าโรคเฉียบพลันหมายถึงโรคที่เป็นอย่างกระทันหันและเป็นอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ ในขณะที่โรคเรื้อรังเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และเป็นอยู่ในช่วงเวลานานและมักจะเป็นสาเหตุให้เกิดความพิการเป็นเวลานาน
  1. การติดเชื้อ (infection) ศัพท์คำว่าโรคติดต่อ (communicable disease) โรคติดต่อทางสัมผัส (contagious disease) และโรคติดเชื้อ (infectious disease) มีความหมายไม่เหมือนกัน contagious disease เป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คนเท่านั้น ฉะนั้นโรคมาเลเรียจึงเป็นโรคติดต่อ (communicable disease) แต่ไม่ใช่โรคติดต่อจากคนสู่คน (contagious disease) ยิ่งกว่านั้น โรคติดเชื้อบางโรคก็ไม่เป็นโรคติดต่อ
  2. วิทยาการระบาด (epidemiology) ศาสตร์ที่เกี่ยวกับการระบาดของโรค นักระบาดวิทยาคือผู้เชี่ยวชาญในวิทยาการระบาด ความหมายของศัพท์คำนี้ได้ขยายออกไปอย่างมาก ปัจจุบันวิทยาการระบาดครอบคลุมการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ทางการแพทย์และชีววิทยากับปัจจัยต่างๆ อย่างเช่น ยาสูบในการศึกษา "วิทยาการระบาดของมะเร็งปอด" หรือความหมายอีกด้านหนึ่ง เช่นการวิเคราะห์ทางสถิติของความผันแปรเชิงภูมิศาสตร์ในปรากฏการณ์ทางสุขภาพ

424

นักประชากรศาสตร์ให้ความสนใจเป้นพิเศษต่อบางลักษณะของภาวะการตาย ภาวะการตายภายใน1ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นฐานทางพันธุกรรมของบุคคล การผิดรูปแต่กำเนิด2 การบาดเจ็บที่เชื่อมโยงกับการเกิด หรือโรคที่อวัยวะเสื่อมสภาพเนื่องมาจากอายุสูงขึ้น ตรงข้ามกับภาวะการตายภายนอก3ที่เป็นผลมาจากสาเหตุภายนอก อย่างเช่น โรคติดเชื้อหรือโรคพยาธิ และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุนอกเหนือจากการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับเด็กในระหว่างการเกิด ยังมีความสนใจเป็นพิเศษต่อโรคที่เชื่อมโยงกับการตั้งครรภ์ การคลอด และที่เกี่ยวกับการคลอด4 ภาวะการตายจากสาเหตุเหล่านี้เรียกว่าเป็นภาวะการตายมารดา5 และอัตราตายมารดา6อาจคำนวณเป็นอัตราส่วนของการตายมารดาในปีหนึ่งต่อการเกิดในปีนั้น สัดส่วนของการตายเนื่องจากชราภาพ7ได้รับความสนใจในฐานะเป็นดัชนีการรายงานสาเหตุการตายที่บกพร่อง
  1. ภาวะการตายทารก (410-1) สามารถแยกองค์ประกอบเป็นภาวะการตายทารกภายใน และภาวะการตายทารกภายนอก
  2. เหมือน 1.
  3. ที่เกี่ยวกับการคลอดเป็นช่วงเวลานอนพักฟื้นหลังจากการคลอด และภาวะการตายของมารดาระหว่างช่วงเวลานี้เรียกว่าภาวะการตายหลังคลอด

425

ลักษณะสามด้านของภาวะเจ็บป่วย (420-1) วัดได้ด้วยอัตราเจ็บป่วย1หรืออัตราส่วนเจ็บป่วย1 ความถึ่ ระยะเวลาและความรุนแรง ดัชนีเหล่านี้อาจคำนวณสำหรับโรคเฉพาะหรือสำหรับโรคทั้งหมด ดัชนีสองอย่างของความถี่ของสุขภาพไม่ดีได้แก่ อัตราอุบัติการณ์2ซึ่งหมายถึงจำนวนรายใหม่ของโรคในระหว่างระยะเวลาที่โยงเข้ากับประชากรเฉลี่ย และอัตราความชุก3ซึ่งหมายถึงจำนวนรายที่มีอยู่แล้ว ณ ขณะเวลาหนึ่งที่แสดงต่อหน่วยของประชากรเฉลี่ย ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาเฉลี่ยต่อราย4 หรืออัตราความพิการ5ซึ่งเป็นจำนวนเฉลี่ยของวันที่เจ็บป่วย5ต่อคนในประชากร อาจใช้เป็นมาตรวัดของระยะเวลาของการเจ็บป่วย อัตรากรณีเสียชีวิต6ซึ่งเป็นสัดส่วนของรายที่เสียชีวิตต่อจำนวนรายที่ได้รายงานของโรคใดโรคหนึ่งอาจใช้เป็นดัชนีของความรุนแรงของโรคนั้น
  1. เป็นการวัดภาวะความตายของโรค

426

ความพิการ1หมายถึงความบกพร่องทางกาย การทำหน้าที่ หรือทางจิตใจ ซึ่งเป็นผลมาจากความเจ็บป่วย การบาดเจ็บ หรือความผิดรูปแต่กำเนิด เมื่อความพิการไปขัดขวางความสามารถของบุคคลที่จะทำงานหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมปรกติจะหมายถึงความไม่มีความสามารถ2 หรือการไร้ความสามารถ2 การไร้ความสามารถไม่ว่าจะเป็นเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด การไร้ความสามารถถาวร3หรือความอ่อนแอ4ถาวรหมายถึงเงื่อนไขที่แก้ให้คืนสู่สภาพเดิมไม่ได้ซึ่งให้สิทธิ์เป็นความไม่มีความสามารถทางวิชาชีพ7 หรือความไม่มีความสามารถทางการทำงาน8 ความน่าจะเป็นที่บุคคลสุขภาพดีอายุ x ปีเต็มจะกลายเป็นคนไร้ความสามารถในปีต่อไป หรือในระยะเวลากี่ปีต่อไปนับจากอายุนี้เรียกว่าเป็นความเสี่ยงของการไร้ความสามารถ5หรือความน่าจะเป็นของการไร้ความสามารถ5 อนุกรมของความน่าจะเป็นเหล่านี้สามารถนำมารวมเข้าเป็นตารางการไร้ความสามารถ6ซึ่งเป็นการขยายพิเศษจากตารางชีพ (cf. §432)

430

โดยทั่วไปสถิติภาวะการตายรวบรวมมาจากการจดทะเบียนการตาย (cf. 211) เมื่อการตายเกิดขึ้นจะมีการออกมรณบัตร1 สถิติจะรวบรวมจากข้อมูลที่ให้ไว้ในมรณบัตร ในบางประเทศแยกความแตกต่างระหว่างใบรับรองทางการแพทย์ของการตาย2ที่ออกโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้เสียชีวิตในระหว่างการเจ็บป่วยครั้งสุดท้าย และมรณบัตรปรกติที่ออกโดยนายทะเบียนเพื่อวัตถุประสงค์ทางกฎหมาย
  1. สถิติการตายแรกๆ ในอังกฤษและเวลส์รวบรวมจากกฎหมายของการตาย ซึ่งโดยทั่วไปดึงข้อมูลมาจากทะเบียนการฝังศพ ในประเทศที่ไม่มีการจดทะเบียนชีพ จะสามารถรวบรมสถิติได้โดยใช้วิธีการสำรวจ คำถามอาจถามเกี่ยวกับการตายในช่วงระยะเวลาที่ระบุไว้ โดยทั่วไปใช้เวลาในช่วงปีก่อน การประมาณทางอ้อมของภาวะการตายต้องใช้คำถามต่อคำถาม อย่างเช่นจำนวนบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ในจำนวนบุตรเกิดรอด (637-2) สถานภาพความเป็นกำพร้า หรือสถานภาพความเป็นหม้าย

431

ความน่าจะเป็นของการตาย1ใช้เพื่อศึกษาในรายละเอียดเรื่องภาวะการตายของช่วงเวลาหนึ่งหรือของรุ่นหนึ่ง หมายถึงความน่าจะเป็นที่บุคคลหนึ่งเมื่อมีอายุแน่นอน x ปีพอดีจะตายก่อนที่จะมีอายุแน่นอน x + n และจะแทนด้วยสัญลักษณ์ nqx ถ้า n = 1 เท่ากับเราพูดถึงความน่าจะเป็นของการตายรายปี2 ถ้า n = 5 เท่ากับความน่าจะเป็นของการตายช่วงห้าปี3 อัตราตายฉับพลัน4 หรือบางครั้งเรียกว่าแรงของภาวะการตาย4เป็นขีดจำกัดของค่า nqx เมื่อ n เข้าใกล้ศูนย์ ความน่าจะเป็นของการตายที่ฉายภาพ5เป็นความน่าจะเป็นที่บุคคลรุ่นเดียวกันหรือกลุ่มของรุ่น ตายระหว่างวันที่ 1 มกราคมของปีหนึ่งและ 1 มกราคมของอีกปีหนึ่ง ความน่าจะเป็นคำนี้มาจากการที่มันถูกนำไปใช้ในการคำนวณของการฉายภาพประชากร ส่วนที่เติมเต็มให้เป็น 1 ของความน่าจะเป็นของการตายจากอายุแน่นอน x ไปถึงอายุแน่นอน x + n คือความน่าจะเป็นของการรอดชีพ6ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ในการฉายภาพประชากร เราใช้อัตราส่วนรอดชีพ7 ซึ่งเป็นความน่าจะเป็นที่คนในรุ่นเกิดเดียวกันหรือกลุ่มของรุ่นต่างๆ จะมีชีวิตอยู่ n ปีต่อมา
  1. ความน่าจะเป็นของการตายระหว่างอายุ x และ x + n นิยามได้ว่าเป็นอัตราส่วนของการตายระหว่างอายุ x และ x + n ต่อจำนวนของผู้รอดชีพที่อายุแน่นอน x ปี ต้องไม่ไปสับสนกับอัตราตายกึ่งกลางซึ่งเป็นอัตราส่วนของการตายระหว่างอายุ x และ x + n ต่อจำนวนประชากรเฉลี่ยที่มีชีวิตอยู่ ณ อายุนั้น อัตราตายกึ่งกลางเขียนเป็นสัญญลักษณ์ว่า nmx
  2. ความน่าจะเป็นของการรอดชีพจากอายุ x ถึงอายุ x + n เขียนเป็นสัญญลักษณ์ว่า npx

432

การเกิดขึ้นของภาวะการตายตลอดช่วงวงจรชีวิตอาจอธิบายด้วยตารางชีพ1 ตารางชีพประกอบด้วยฟังก์ชันตารางชีพ2หลายฟังก์ชัน ซึ่งทั้งหมดจะเกี่ยวโยงกันทางคณิตศาสตร์ และสามารถคำนวณได้เมื่อทราบค่าของฟังก์ชันหนึ่ง ฟังก์ชันการรอดชีพ3แสดงจำนวนของผู้รอดชีพ4ของรุ่น (116-2) หนึ่งที่เกิดมาพร้อมกันที่อายุแน่นอน (322-7) ต่างๆ โดยมีข้อสมมุติว่าคนรุ่นเกิดนั้นมีอัตราของภาวะการตายดังแสดงไว้ จำนวนการเกิดในรุ่นตั้งต้นเรียกว่าราก5ของตารางชีพ และกระบวนการที่จำนวนคนของรุ่นตั้งต้นค่อยๆ ลดลงเรียกว่าการลดลง6
  1. จำนวนผู้รอดชีพที่อายุแน่นอน x แสดงโดย lx
  2. รากปรกติเท่ากับค่ายกกำลังของ 10 เช่น 10,000 หรือ 100,000

433

ความแตกต่างของจำนวนผู้รอดชีพ (432-4) ที่อายุต่างๆ ให้จำนวนของการตายในช่วงอายุของฟังก์ชันการตาย1 และมีชื่อว่าการกระจายของการตายตารางชีพ2 เพื่อที่จะแยกความแตกต่างจากการกระจายอย่างหยาบของการตาย ปรกติตารางชีพจะให้ค่าของความคาดหมายของชีวิต3 หรืออายุคาดเฉลี่ย3ที่อายุ x ซึ่งหมายถึงจำนวนเฉลี่ยของปีที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยคนที่มีชีวิตอยู่จนถึงอายุแน่นอน x โดยมีเงื่อนไขภาวะการตายของตารางที่ให้ไว้ อายุคาดเฉลี่ยเมื่อเกิด4เป็นกรณีพิเศษหนึ่งของความคาดหมายของชีวิตที่แสดงความยืนยาวของชีวิตเฉลี่ย4ของคนตั้งแต่เกิดเมื่อมีภาวะการตายของตารางชีพนั้น ในทางกลับกันของความคาดหมายของชีวิตเมื่อเกิดเป็นอัตราตายตารางชีพ5หรืออัตราตายของประชากรคงที่5
  1. ด้วยการอินทีเกรตฟังก์ชันการรอดชีพ (432-3) ระหว่างอายุแน่นอนสองอายุ เราจะได้จำนวนรวมของปีที่มีชีวิตอยู่โดนคนรุ่นวัยระหว่างสองอายุนี้ สัญญลักษณ์สำหรับจำนวนรวมของปีที่มีชีวิตอยู่ระหว่างอายุx และx + n คือ nLx ฟังก์ชันนี้มักเรียกว่าประชากรคงที่ในหัวสดมภ์ตารางชีพ ด้วยการรวมค่าจากอายุ x ไปจนสิ้นสุดชีวิต เราจะได้จำนวนรวมของปีที่จะมีชีวิตอยู่หลังจากอายุ x โดยคนที่มีอายุถึงอายุนั้น สัญญลักษณ์ที่ใช้ของสดมภ์นี้คือ T x
  2. สัญญลักษณ์สำหรับอายุคาดเฉลี่ยเมื่ออายุ x คือ ex

434

ความยืนยาวของชีวิตมัธยฐาน1บางครั้งเรียกว่าความยืนยาวของชีวิตที่น่าจะเป็นไปได้1 คืออายุที่ครึ่งหนึ่งของรุ่นเริ่มต้นที่เกิดพร้อมกันจะตายไป หลังจากพ้นสภาพความเป็นทารก การกระจายการตายตามอายุในตารางชีพปรกติจะมีฐานนิยมและอายุที่เกิดฐานนิยมนั้นจะเรียกว่าอายุฐานนิยมเมื่อตาย2 หรือบางครั้งเรียกอายุปรกติเมื่อตาย2 ตัวชี้วัดที่น่าสนใจของความยืนยาวชีวิตมนุษย์3 หรือความยืนยาวของชีวิต3ที่มีความหมายใกล้เคียงกับศัพท์ที่ใช้กันทั่วไปในภาษาประจำวันมากกว่าคำว่าความยืนยาวชีวิตฐานนิยมหรือความยืนยาวชีวิตเฉลี่ย ศัพท์คำว่าอายุขัย4ใช้เพื่อหมายถึงความยืนยาวสูงสุดที่จะเป็นไปได้ของชีวิตมนุษย์

435

ตารางชีพสมบูรณ์1ปรกติเป็นตารางที่ให้ค่าฟังก์ชันตารางชีพ (432-2) เป็นอายุรายปี ตารางชีพย่อ2เป็นตารางที่ฟังก์ชันส่วนมากจะแสดงค่าเป็นกลุ่มอายุเท่านั้น โดยมากมักจะแบ่งเป็นช่วงห้าปีหรือสิบปีหลังจากพ้นวัยทารกแล้ว ค่าที่อยู่ระหว่างกลางของฟังก์ชันเหล่านี้จะได้มาจากวิธีการประมาณค่าระหว่างช่วง (151-7) ศัพท์คำว่าตารางชีพสำหรับกลุ่มที่เลือก3ใช้เพื่อหมายถึงตารางชีพที่เชื่อมโยงไปถึงประสบการณ์ของกลุ่มบุคคลที่เลือกมาศึกษาจำนวนหนึ่ง อย่างเช่น ลูกค้าของบริษัทประกันชีวิต ตรงข้ามกับตารางชีพทั่วไป4ซึ่งเชื่อมโยงประสบการณ์ของประชากร (101-4) ทั้งหมด โดยทั่วไปตารางชีพจะนำเสนอแยกเพศชายหญิง แม้ว่าบางครั้งจะนำเสนอตารางชีพของทั้งสองเพศก็ตาม ตารางชีพซึ่งสร้างขึ้นโดยอาศัยข้อสรุปของความสัมพันธ์เชิงประจักษ์เรียกว่าตารางชีพตัวแบบ5

436

ตารางชีพปีปฏิทิน1 หรือตารางชีพช่วงเวลา1 (cf. 153-2 ; 432-1) เป็นตารางชีพซึ่งอัตราภาวะการตายที่ใช้เชื่อมโยงช่วงเวลาที่ระบุไว้กับรุ่น (116-2) จึงเป็นตารางสมมุติ ในอีกด้านหนึ่งตารางชีพชั่วคน2 หรือตารางชีพรุ่นอายุ2เป็นการติดตามประสบการณ์ของรุ่นเกิดจริงๆ รุ่นหนึ่งและอัตราภาวะการตายที่อยู่ในตารางชีพนั้นจึงกระจายไปตามระยะเวลาที่ยาวนาน ปรกติเป็นเวลาราวๆ 100 ปี พื้นผิวภาวะการตาย3วาดขึ้นโดยเมื่อลงจุดความน่าจะเป็นของการตาย (431-1) กับอายุและช่วงเวลาไปพร้อมๆ กันในไดอะแกรมสามมิติ

437

เล็กซิสไดอะแกรม1ใช้กันมากในการแสดงภาพวิธีการสำหรับคำนวณความน่าจะเป็นของการตายและมาตรวัดทางประชากรศาสตร์อื่นๆ ในไดอะแกรมนี้บุคคลทุกคนจะแสดงโดยเส้นชีวิต2ซึ่งเริ่มเมื่อเกิดและสิ้นสุดที่จุดของการตาย3 วิธีการสำหรับการศึกษาเรื่องภาวะการตายเมื่ออายุมากๆ เรียกว่าวิธีการของรุ่นที่หมดไปแล้ว4 เพราะวิธีนี้ใช้ข้อมูลการตายสำหรับรุ่นซึ่งถูกขจัดให้หมดไปแล้วด้วยภาวะการตาย

บทที่ 5 • ภาวะสมรส

501

การศึกษาเกี่ยวกับภาวะสมรส1จะเกี่ยวกับความถึ่ของการแต่งงาน2 นั่นคือการอยู่เป็นคู่3ระหว่างเพศตรงข้ามกันซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิและข้อผูกพันที่กำหนดไว้โดยกฎหมายหรือประเพณี เกี่ยวกับลักษณะของบุคคลอยู่รวมกันในการแต่งงาน และเกี่ยวกับการแยกกันของคู่เช่นนั้น การศึกษาเรื่องนี้อาจขยายต่อไปให้รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับการอยู่เป็นคู่ฉันท์สามีภรรยา (503-8) รูปแบบอื่นๆ เมื่อความถี่ของการอยู่เป็นคู่เช่นนั้นทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องรวมไว้ด้วย การแต่งงาน4 หรือการสมรส4เป็นพิธีการที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือประเพณีซึ่งทำให้การอยู่เป็นคู่ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงเช่นนั้นเรียกว่าคู่ครอง5 ได้แก่สามี6และภรรยา7 คู่ครองที่อยู่ด้วยกันเรียกว่าคู่แต่งงาน8
  1. ผู้ชายเมื่อขณะการแต่งงานเรียกเจ้าบ่าว
  2. ผู้หญิงเมื่อขณะการแต่งงานเรียกเจ้าสาว

502

กฎหมายแต่งงาน1 หรือประเพณีแต่งงาน2แตกต่างกันไปในแต่ละสังคม สังคมที่บุคคลหนึ่งอาจแต่งงานกับบุคคลเพศตรงข้ามได้เพียงคนเดียวเรียกว่าการมีคู่ครองคนเดียว3 สังคมที่บุคคลหนึ่งอาจแต่งงานกับหลายคนพร้อมๆ กันเรียกว่าการมีคู่ครองหลายคน4 มีความแตกต่างระหว่างสังคมการมีสามีหลายคน5ซึ่งผู้หญิคนหนึ่งอาจมีสามีหลายคน กับสังคมการมีภรรยาหลายคน6ซึ่งผู้ชายคนหนึ่งอาจมีภรรยาหลายคน ศัพท์คำว่า"การมีคู่ครองหลายคน"มักใช้ในความหมายของการมีภรรยาหลายคน

503

ในบางประเทศการอยู่เป็นคู่ทางกฎหมายจะทำได้โดยการแต่งงานทางพลเรือน1ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ในบางประเทศการแต่งงานทางศาสนา2ที่เป็นไปตามกฎของศาสนาได้รับว่ามีผลในทางกฎหมาย อาจต้องมีวิธีการยอมรับทางกฎหมายและทางสังคมภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ในแต่ละประเทศเพื่อคู่อยู่กินด้วยกันซึ่งไม่มีพิธีการทางกฎหมายหรือทางศาสนาเคร่งครัดมีความมั่นคงขึ้น ตัวอย่างเช่น การแต่งงานเชิงประเพณี3 หรือการแต่่งงานโดยกฎที่ยอมรับ3ตามประเพณีท้องถิ่น ประเภทของความสัมพันธ์แบบต่างๆ และการยอมรับทางสังคมระดับต่างๆ นัยยะในศัพท์ที่ใช้กับการอยู่เป็นคู่แบบต่างๆ แต่ความสำคัญของคำเหล่านี้ผันแปรแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศ ศัพท์คำว่าการอยู่เป็นคู่แบบสมยอม4มีนัยยะว่าคู่อยู่กินนั้นได้รับการยอมรับทางสังคม ศัพท์คำว่าการแต่งงานฉันท์เพื่อน4ก็มีความหมายคล้ายๆ กันนั้น ศัพท์คำว่าการอยู่เป็นคู่แบบเสรี5 และการอยู่เป็นคู่ชั่วคราว6 ทั้งสองคำนี้มีนัยยะว่าคู่อยู่กินนั้นไม่เป็นการถาวร ซึ่งอาจรวมหรือไม่รวมการอยู่กินด้วยกัน7ไว้ด้วยก็ได้ บุคคลสองคนเพศตรงข้ามกันอยู่ด้วยกันแบบเป็นคู่มั่นคง ไม่ว่าจะตามกฎหมายหรือไม่เรียกว่าคู่8 ศัพท์คำว่าการอยู่เป็นคู่เยี่ยงสามีภรรยา8ใช้โดยนักประชากรศาสตร์เพื่อรวบรวมการอยู่เป็นคู่ทั้งที่ตามกฎหมายและพวกที่อยู่เป็นคู่มั่นคงที่ไม่ตามกฎหมาย
  1. การเป็นภรรยาน้อย (concubinage) การอยู่กินอยางไม่ถูกต้องตามกฎหมายประเภทหนึ่ง ภรรยาน้อยในความหมายที่จำกัดคือผู้หญิงที่มีสถานภาพการแต่งงานที่ยอมรับกันแล้วว่าด้อยกว่าภรรยาที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย โดยเฉพาะในสังคมที่ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคน (polygynous) ในบางสังคม คำว่าภรรยาน้อยบางครั้งใช้อย่างหลวมๆ เพื่อหมายถึงผู้หญิงคนอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาที่อยู่กินกับผู้ชาย ทุกวันนี้นิยมใช้ศัพท์คำว่าเพื่อนใจ หรือเพื่อนมากกว่า

504

ในหลายประเทศอายุแต่งงานต่ำสุด1กำหนดไว้โดยกฎหมาย อายุขั้นต่ำแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและอาจแตกต่างกันระหวางเพศทั้งสอง การแต่งงานในกลุ่มคนที่มีสายเลือดใกล้ชิดกันเรียกว่าเป็นการแต่งงานแบบร่วมสายโลหิตเดียวกัน2 และโดยทั่วไปจะถูกห้ามโดยกฎหมายหรือโดยประเพณี บุคคลผู้ถูกห้ามมิให้แต่งงานกันด้วยเหตุผลนี้กล่าวได้ว่าอยู่ภายในระดับของการร่วมสายโลหิต3ที่ถูกห้าม

505

ในบางประเทศหมายแจ้งการแต่งงาน1 หรือเจตนาแต่งงาน1เป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่จะมีการแต่งงาน (501-4) เป็นการแจ้งต่อสาธารณะให้บุคคลที่สนใจซึ่งอาจคัดค้านการแต่งงานนั้นถ้ามีเหตุผลที่จะทำเช่นนั้น ในหลายประเทศใบอนุญาตแต่งงาน2ต้องได้รับก่อนที่จะมีพิธีแต่งงาน ปรกติใบทะเบียนสมรส3จะนำส่งให้แก่คู่แต่งงานใหม่4หลังจากพิธีกรรม ความสมบูรณ์ของการแต่งงาน5เกิดขึ้น หรือการแต่งงานได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อคู่แต่งงานได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกันแล้ว
  1. ก่อนที่จะมีพิธีแต่งงาน คู่สมรสในอนาคตจะหมั้น หรือทำสัญญา (betrothed) กันไว้ก่อน ศัพท์คำนี้มาจากประเพณีที่มีการหมั้น หรือการทำสัญญาว่าจะแต่งงาน (betrothal) ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการในเรื่องสัญญาที่จะแต่งงานกัน

506

การแต่งงานในกลุ่ม1คงอยู่ในที่ทั้งคู่แต่งงานอยู่ในกลุ่มเดียวกัน (เช่น เผ่า วงศ์ตระกูล) ศัพท์คำนี้ใช้เพื่อหมายถึงความโน้มเอียงที่คู่แต่งงานจะเป็นสมาชิกของกลุ่มพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ หรือกลุ่มสังคมเดียวกัน หรือกลุ่มคนที่แยกออกต่างหาก2 ซึ่งโดยทั่วไปจะมีขนาดจำกัด ลักษณะหรือความโน้มเอียงในทางตรงข้ามเรียกว่าการแต่งงานนอกกลุ่ม3 การแต่งงานผสม4คือการแต่งงานระหว่างบุคคลที่มีสัญชาติต่างกัน เชื้อชาติต่างกัน ศาสนาต่างกัน ฯลฯ เมื่อการแต่งงานเป็นการจับคู่ระหว่างบุคคลที่มีลักษณะเหมือนกันทางสังคม ทางกายภาพ หรือทางจิตใจ จะเรียกว่า การแต่งงานสมลักษณ์5 ตรงข้ามกับคำนี้เรียกว่า การแต่งงานต่างลักษณ์6

510

เมื่อปิดฉากชีวิตแต่งงาน1หรือชีวิตการอยู่เป็นคู่เยี่ยงสามีภรรยา1 การสิ้นสุดการอยู่เป็นคู่2เกิดขึ้นพร้อมกันกับการสูญสลายของการแต่งงาน3 กล่าวคือการแตกสลายของข้อผูกมัดทางกฎหมายอันเป็นผลมาจากสถานะของคู่ครอง รวมทั้งอุปสรรคทางกฎหมายในการแต่งงานใหม่ก็จะถูกถอนออกไป ถ้าการแต่งงานสูญสิ้นลงด้วยการตาย คู่ครองที่ยังมีชีวิตอยู่ที่เป็นผู้ชายจะเรียกว่าพ่อม่าย4 และที่เป็นผู้หญิงเรียกแม่ม่าย5 ผู้เป็นม่าย6 มีชีวิตอยู่ในสภาพของสถานภาพม่าย7

511

เมื่อการหย่า1ได้รับการยอมรับโดยกฎหมาย การสูญสลายของการแต่งงาน (510-3) อาจเกิดขึ้นโดยมีคำสั่งการหย่า2ให้แก่คู่ครองคนหนึ่ง ในบางประเทศคู่ครองฝ่ายหนึ่งอาจถูกบอกปัด3โดยอีกฝ่ายหนึ่ง บุคคลที่การแต่งงานสูญสลายลงด้วยการหย่าเรียกว่าผู้หย่าแล้ว4 คำในภาษาฝรั่งเศสว่าผู้หญิงที่หย่าแล้ว6 (divorcée) หรือ ผู้ชายที่หย่าแล้ว5 (divorcé) บางครั้งใช้ในภาษาอังกฤษ แม้ว่าคำสำหรับคนหย่าแล้วเพศชายจะไม่มีการใช้กันมากนัก

512

ในบางประเทศ หลักการของการแต่งงานที่สูญสลายไม่ได้1จะได้รับการสนับสนุนด้วยกฎหมายหรือประเพณี และการหย่า (511-1)จะไม่อนุญาตให้ทำได้ มีเพียงการตายของคู่ครอง (501-5) ฝ่ายหนึ่งเท่านั้นที่จะนำไปสู่การสูญสลายของการแต่งงาน (510-3) อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎหมายใดๆ การขาดความลงรอยกันอาจนำไปสู่การแยกกัน2ของคู่ครอง ซึ่งอาจอยู่ในรูปของการแยกกันตามพฤตินัย3ไม่ว่าจะโดยความยินยอมพร้อมใจกับของทั้งคู่ หรือโดยการทิ้งร้าง4ฝ่ายหนึ่งโดยอีกฝ่ายหนึ่ง หรืออาจอยู่ในรูปของการแยกกันทางกฎหมาย5 หรือการแยกกันตามการตัดสิน5 การแยกกันตามการตัดสินลบล้างทั้งคู่จากข้อผูกมัดต่างๆ รวมทั้งหน้าที่ของการมีชีวิตอยู่ด้วยกัน หรือการอยู่กินด้วยกัน แต่ไม่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปผูกมัดกับการแต่งงานใหม่ บุคคลซึ่งการแต่งงานของเขาได้สูญสลายลงแล้วด้วยการแยกเรียกว่าผู้แยกกันอยู่6 การแต่งงานซึ่งคู่ครองไม่ได้อยู่ด้วยกันอีกต่อไปแต่ไม่ได้แยกกันทางกฎหมายอาจเรียกว่าการแต่งงานที่แตกสลาย7

513

คำสั่งถอนสมรส1 หรือการเพิกถอนการแต่งงาน1คือคำประกาศของศาลว่าถึงแม้จะมีพิธีการแต่งงานแล้ว แต่ก็ไม่มีการแต่งงานที่ถูกต้อง2 คำว่าการแต่งงานที่สูญสลายไป3มักเป็นที่เข้าใจกันว่ารวมกรณีการเพิกถอนและการแยกของคู่ตามกฎหมาย แม้ว่าในทางกฎหมายแล้วการแต่งงานนั้นจะยังไม่สูญสลายไปก็ตาม ศัพท์คำว่าการสิ้นสุดการอยู่เป็นคู่ (510-2) เหมาะสมมากกว่าคำว่าการสูญสลาย และอาจหมายถึงการอยู่เป็นคู่มากกว่าการแต่งงาน

514

จากมุมมองทางกฎหมาย บุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายหรือประเพณีวางไว้ให้แต่งงานได้ เป็นผู้ที่สามารถแต่งงานได้1 และประชากรที่สามารถแต่งงานได้2ประกอบด้วยบุคคลที่มีคุณสมบัติเช่นนั้น ประชากรที่ไม่สามารถแต่งงานได้3ประกอบด้วยบุคคลที่ไม่มีอิสระที่จะแต่งงานได้ไม่ว่าจะโดยกฎหมายหรือประเพณี ตลาดการแต่งงาน4 วงรอบที่สามารถแต่งงานได้5 หรือกลุ่มของบุคคล5ที่การเลือกคู่6จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดการแต่งงานไม่รวมบุคคลที่สามารถแต่งงานได้ทั้งหมด ผู้เสนอตัวที่จะแต่งงาน7รวมคนที่ถูกตัดออกไปจากตลาดการแต่งงานอย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพอนามัยหรือสถานการณ์อื่นๆ คนที่เป็นม่ายหรือหย่าแล้วอาจแต่งงานใหม่ได้ ดังนั้น จึงมีการแยกความแตกต่างระหว่างการแต่งงานครั้งแรก8กับการแต่งงานลำดับต่อๆ ไป หรือการแต่งงานใหม่9 เพราะลำดับของการแต่งงาน10อาจแตกต่างระหว่างคู่ครองทั้งสองคน ศัพท์คำว่า "การแต่งงานครั้งแคก" จึงไม่ชัดเจนนอกเสียจากว่าได้ระบุลงไปว่าหมายถึงเจ้าบ่าว (501-6*) หรือเจ้าสาว (501-7*) หรือทั้งสองฝ่าย หรือระบุไว้เป็นอย่างอื่นว่าหมายถึงการแต่งงานระหว่างชายโสด (515-3) กับหญิงโสด (515-4)

515

ประชากรอาจแบ่งเป็นกลุ่มแตกต่างกันตามสถานภาพการเป็นสามีภรรยา1 สถานภาพสมรส1 หรือเงื่อนไขการสมรส1 คนโสด2ประกอบด้วยชายโสด3 และหญิงโสด4 คือบุคคลที่ไม่เคยแต่งงาน บางครั้งเรียกว่าเป็นกลุ่มไม่เคยแต่งงาน2 กลุ่มของคนแต่งงานแล้ว5 ผู้ชายแต่งงานแล้ว6 และผู้หญิงแต่งงานแล้ว7ประกอบด้วยคนที่แต่งงานแล้วและการแต่งงานยังไม่สูญสลายไป (513-3) ทุกคนยกเว้นคนโสดคือบุคคลเคยแต่งงาน8

520

ความถี่การแต่งงานเชิงสัมพัทธ์วัดได้ด้วยอัตราการแต่งงาน1 หรืออัตราสมรส1 ซึ่งรวมอัตราการแต่งงานอย่างหยาบ2ที่ให้อัตราส่วนของจำนวนรวมของการแต่งงานทั้งหมดต่อจำนวนประชากรทั้งหมดในช่วงเวลาหนึ่ง ภาวะสมรสชาย3และภาวะสมรสหญิง4มีความแตกต่างกัน และสามารถศึกษาแยกจากกัน ศัพท์คำว่าภาวะสมรสชาย3และภาวะสมรสหญิง4ใช้สำหรับความถึ่การแต่งงานของเพศต่างกัน อัตราแต่งงานรายเพศ5คำนวณได้ด้วยการใช้ประชากรที่เหมาะสมของแต่ละเพศเป็นฐาน เป็นเรื่องปรกติที่จะแยกความแตกต่างระหว่างอัตราการแต่งงานครั้งแรก6 ซึ่งโยงจำนวนของชายโสดหรือหญิงโสด (515-3 และ 4) ที่แต่งงานไปยังจำนวนรวมของชายโดและหญิงโสดตามลำดับ และอัตราการแต่งงานใหม่7ซึ่งโยงจำนวนการแต่งงานใหม่ไปยังจำนวนรวมของคนที่เป็นม่ายหรือหย่าแล้ว อัตราคล้ายๆ กันสามารถคำนวณได้เป็นรายอายุหรือรายกลุ่มอายุของสามี หรือภรรยา เมื่อจำแนกประเภทการแต่งงานโดยอายุแต่งงาน8ของคู่ครองแต่ละคน อัตราเช่นนั้นเรียกว่าอัตราแต่งงานรายอายุ9 การทำตารางไขว้ของคู่ครองโดยอายุที่แต่งงานทำให้สามารถคำนวณอายุแต่งงานเฉลี่ย10 หรืออายุเฉลี่ยเมื่อแต่งงาน10สำหรับปีหนึ่งหรือช่วงเวลาหนึ่ง ความแตกต่างของอายุระหว่างคู่ครอง11สามารถวิเคราะห์ได้จากการจำแนกประเภทของอายุรวมกัน12ของคู่ครอง
  1. บางครั้งอัตราการแต่งงานอย่างหยาบได้มาจากการเชื่อมโยงจำนวนของผู้แต่งงานใหม่ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด
  2. คำว่าความถี่การแต่งงาน และความถี่การแต่งงานครั้งแรก บางครั้งนำไปใช้เพื่อเชื่อมโยงอัตราส่วนของจำนวนการแต่งงานหรือการแต่งงานครั้งแรกที่อายุใดอายุหนึ่งต่อจำนวนประชากรทั้งหมดที่อายุนั้น โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพสมรสของเขาเหล่านั้น ความถี่การแต่งงานสะสม และความถี่การแต่งงานครั้งแรกสะสม นำมาใช้ในการศึกษาเชิงรุ่น

521

ความชุกของการแต่งงานในรุ่นผู้ชายหรือผู้หญิงรุ่นหนึ่งวัดได้จากสัดส่วนไม่เคยแต่งงาน1 ปรกติสัดส่วนนี้เท่ากับสัดส่วนคนที่ยังเป็นโสด2 ณ อายุหนึ่ง เช่น อายุ 50 หลังจากอายุนั้นแล้วการแต่งงานครั้งแรกจะเกิดขึ้นได้ยาก สัดส่วนคนที่ยังเป็นโสดที่แต่ละอายุในคนรุ่นหนึ่งสามารถคำนวณได้จากความน่าจะเป็นของการแต่งงานครั้งแรก3 นั่นคือสัดส่วนของคนโสด ณ อายุที่แน่นอน x ที่จะแต่งงานก่อนครบอายุแน่นอน x + 1 โดยสมมุติว่าไม่มีภาวะการตาย อย่างไรก็ตาม เพื่อวัตถุประสงค์ในทางปฏิบัติ ปรกติสัดส่วนคนที่ยังเป็นโสดจะได้จากข้อมูลสำมะโนที่เป็นสัดส่วนโสด4 ณ อายุนั้นในรุ่นที่สอดคล้องกัน เมื่อมีข้อมูลการจำแนกประเภทของการแต่งงานครั้งแรกโดยอายุของคู่ครอง อายุเฉลี่ยเมื่อแต่งงานครั้งแรก5 อายุมัธยฐานเมื่อแต่งงานครั้งแรก6 และอายุฐานนิยมเมื่อแต่งงานครั้งแรก7 ก็สามารถคำนวณได้ทั้งหมด ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเวลาของการแต่งงาน ก็ยังเป็นไปได้ที่จะคำนวณอายุโสดเฉลี่ยเมื่อแรกสมรส8จากข้อมูลสำมะโนรายการสัดส่วนโสดตามอายุ

522

ตารางสมรส1คล้ายตารางชีพ และประกอบด้วยฟังก์ชันภาวะสมรสต่างๆ ตารางสมรสรวม1มีฟังก์ชันรายอายุ คือความน่าจะเป็นของการแต่งงานครั้งแรก (521-3) และสัดส่วนคนที่ยังเป็นโสด (521-2) เช่นเดียวกับจำนวนของการแต่งงานครั้งแรก2ในรุ่นหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะสมรสที่เป็นอยู่บนข้อสมมุติที่ว่าไม่มีภาวะการตาย ตารางสมรสให้จำนวนคนที่ยังอยู่เป็นโสด3 ณ อายุต่างๆ ตารางสมรสสุทธิ4นำเอาภาวะการตายและภาวะสมรสมาพิจารณาด้วยกัน และนับว่าเป็นตารางแบบลดลงสองทาง (153-4) ตารางเช่นนั้นมีผู้รอดชีพโสด5 ผู้รอดชีพเคยแต่งงาน6 ความน่าจะเป็นของการรอดชีพที่ยังโสด7 และความคาดหมายของชีวิตที่ไม่แต่งงาน8

523

อัตราหย่า1สามารถคำนวณได้หลายทาง อัตราหย่าอย่างหยาบ2ให้อัตราส่วนของจำนวนการหย่าต่อประชากรเฉลี่ยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อัตราส่วนของการหย่าต่อจำนวนของคู่แต่่งงานบางครั้งคำนวณได้และอาจเรียกว่าอัตราหย่าสำหรับคนแต่งงานแล้ว3 ถ้านำการหย่ามาทำตารางไขว้กับอายุของคนที่หย่าแล้ว หรือกับระยะเวลาของการแต่งงาน ก็สามารถคำนวณอัตราหย่ารายอายุ4 และอัตราหย่ารายช่วงเวลา5ได้ อีกดัชนีหนึ่งของความถี่ของการหย่าได้จากการคำนวณจำนวนของการหย่าต่อการแต่งงานใหม่6
  1. นี้เป็นการวัดช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงการหย่าในหนึ่งปี ไม่ว่าจะกับการแต่งงานของปีนั้น หรือกับค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของการแต่งงานหลายๆ ปี ในการวิเคราะห์เชิงรุ่น เป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงการหย่าในปีที่ต่อเนื่องกันกับรุ่นแต่งงานเริ่มต้นเพื่อคำนวณสัดส่วนการหย่าสะสม

524

เมื่อมีข้อมูลพื้นฐานที่ต้องการ ความน่าจะเป็นของการสูญสลายการแต่งงาน1 ก็อาจคำนวณได้เพื่อแสดงสำหรับแต่ละอายุ ความน่าจะเป็นของการแต่งงานที่จะสลายไปโดยการตายหรือการหย่าตามระยะเวลาของการแต่งงาน2 ตารางการสูญสลายการแต่งงานเป็นการประยุกต์ตารางชีพแบบลดลงสองทาง ตารางการแต่งงานใหม่สำหรับคนเป็นม่ายหรือหย่าแล้วสามารถคำนวณได้ แต่ดัชนีที่ใช้กันมากที่สุดของการแต่งงานใหม่คือ ความถึ่สัมพัทธ์ของการแต่งงานใหม่3 ได้แก่ สัดส่วนของคนเป็นม่าย หรือหย่าแล้วที่แต่งงานใหม่ ซึ่งมักแสดงโดยอายุเมื่ออยู่ในสภาพม่ายหรือหย่า และโดยช่วงห่างระหว่างสภาพม่ายหรือหย่ากับการแต่งงานใหม่ ข้อมูลเกี่ยวกับการแต่งงานใหม่เหล่านี้ช่วยให้เราคำนวณช่วงห่างเฉลี่ยระหว่างสภาพม่ายกับการแต่งงานใหม่4 และช่วงห่างเฉลี่ยระหว่างการหย่ากับการแต่งงานใหม่5

บทที่ 6 • ภาวะเจริญพันธุ์

601

การศึกษาทางประชากรศาสตร์เรื่องภาวะเจริญพันธุ์1เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่เชื่อมกับการมีบุตร2หรือการสืบทอดพันธุ์2ของมนุษย์ คำว่าภาวะการเกิด1บางครั้งใช้แทนคำว่าภาวะเจริญพันธุ์ ศัพท์ทั้งสองคำนี้หมายถึงความถี่ของการเกิดขึ้นของการเกิด3 หรือกล่าวให้เจาะจงลงไปคือการเกิดมีชีพ4 — ภายในประชากรหรือประชากรกลุ่มย่อย การเกิดเป็นกระบวนการของการคลอดบุตร การเกิดมีชีพหรือการเกิดของเด็กเกิดมีชีพ5แตกต่างจากการตายตัวอ่อนระยะหลัง (cf. 411-5) โดยหลักฐานของการมีชีวิตอย่างเช่นการหายใจ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ หรือการเต้นของหัวใจของเด็กหลังจากการคลอดหรือการขับออก ศัพท์คำว่าภาวะเจริญพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ6 ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้เพื่อชี้ว่าการตายตัวอ่อนระยะหลังไม่ได้ถูกนับรวมไว้ในจำนวนรวมของการเกิด หมายถึงการเกิดซึ่งไม่รวมการตายของทารกหรือเด็กเข้าไว้ด้วย คำว่า ภาวะเจริญพันธุ์อย่างหยาบ7ควรหมายถึงการเกิดทั้งหมดที่รวม "ตายคลอด" (411-5) หรือการตายตัวอ่อนเข้าไว้ด้วย คำว่าภาวะเจริญพันธุ์ที่แตกต่าง8แสดงดึงความแตกต่างของภาวะเจริญพันธุ์ระหว่างกลุ่มย่อยๆ ของประชากร
  1. ความหมายของคำว่าภาวะเจริญพันธุ์ในประชากรศาสตร์ ให้ดู § 623
  2. บ่อยครั้งที่การสืบทอดพันธุ์หมายถึงความสมดุลย์ของการเกิดและการตาย (เช่นใน § 711) มากกว่าที่จะเป็นกระบวนการของการมีบุตรหรือการให้กำเนิด
  3. คำว่าการเกิดปัจจุบันใช้กันโดยทั่วไปว่าหมายถึงการเกิดมีชีพ
  4. เกิดมีชีพ ใช้เป็นคำนามเพื่อหมายถึงทารกเกิดมีชีพด้วย

602

การปฏิสนธิ1เป็นผลจากการผสมพันธุ์2ของไข่3โดยสเปิร์ม4 หรือเซลล์สเปิร์ม4 และขีดเส้นเริ่มต้นของการตั้งครรภ์5 หรือการครองครรภ์5สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้ ในช่วงเวลาของพัฒนาการผลิตผลของการปฏิสนธิ6จะเรียกว่าตัวอ่อน7 แล้วต่อมาเรียกตัวอ่อนระยะหลัง7 ขณะเวลาที่ตัวอ่อนกลายเป็นตัวอ่อนระยะหลังไม่มีการกำหนดไว้แน่นอนว่าเมื่อไร นักวิทยาศาสตร์บางคนให้ค่าไว้ที่เมื่อสิ้นสุด 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือนของชีวิตในมดลูก แม้ว่าขั้นตอนพัฒนาการต่อมาหลังจากสัปดาห์ที่ 8 ก็มักเรียกว่าตัวอ่อนระยะหลังหลังอยู่บ่อยๆ การฝังตัวของไข่8หมายถึงการฝังตัวของไข่ในผนังของมดลูก9 หรือครรภ์9ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้น 2-3 วันหลังจากการผสมพันธุ์
  1. การผสมเทียม : การผสมพันธุ์ซึ่งทำโดยการฉีดเชื้อเทียมด้วยกระบวนการนอกเหนือไปจากการมีเพศสัมพันธุ์ (627-2).
  2. ไข่ที่ถูกผสมแล้วเรียกว่าไซโกต
  3. นักวิทยาศาสตร์บางคนพิจารณาว่าการตั้งครรภ์เริ่มขึ้นเมื่อเวลาของการฝังตัว (602-8)ของไข่
  4. Embryology : ศาสตร์ที่เกี่ยวกับพัฒนาการของตัวอ่อน

603

กล่าวได้ว่าตัวอ่อนไม่มีชีวิต2ในช่วงแรกๆ ของการตั้งครรภ์และจะมีชีวิต1หลังจากนั้น การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนเริ่มมีความสามารถที่จะอยู่ได้โดยอิสระนอกครรภ์มารดา ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อระยะเวลาการครองครรภ์3 หรือช่วงเวลาของการตั้งครรภ์3เกินกว่า 28 สัปดาห์ ถ้าการตั้งครรภ์ยาวนานกว่านี้ การขับตัวอ่อนออก (มีชีพหรือตาย) เกิดขึ้นในช่วงของการคลอดบุตร4 การขับตัวอ่อนออกก่อนโดยสัมพันธ์กับการตายตัวอ่อนระยะแรกเรียกว่าการแท้ง5 (cf. § 604) ระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์หลังจากการคลอด (ในช่วงที่มดลูกปรกติจะกลับคืนสู่ขนาดเดิมและเป็นช่วงที่ความน่าจะเป็นของการปฏิสนธิต่ำ) เรียกว่าช่วงหลังคลอด6
  1. ช่วงเวลาขั้นต่ำที่กำหนดการมีชีวิตอยู่นั้นแตกต่างกันระหว่าง 20 และ 28 สัปดาห์ ในแต่ละประเทศ แต่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ใช้ 28 สัปดาห์เป็นมาตรฐาน โดยทั่วไป ช่วงเวลาของการตั้งครรภ์คำนวณจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ช่วงเวลานี้ประกอบขึ้นเป็นช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ตามปรกติธรรมดา ซึ่งตรงข้ามกับช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ที่แท้จริงที่คำนวณจากระยะเวลาปฏิสนธิ
  2. กระบวนการขับตัวอ่อนระยะหลังออกจากครรภ์เรียกว่าการคลอด หรือการให้กำเนิด ซึ่งเป็นการสิ้นสุดของระยะเวลาของการคลอดลูก การคลอดบุตรจะหมายรวมถึงการขับดันหรือเอารก หรือสิ่งหลังคลอดออก
  3. คนทำแท้ง คือบุคคลที่ประกอบการทำแท้ง ในภาษาพูดประจำวัน คำว่าการแท้งมักจะหมายถึงการทำแท้ง (604-2) มากกว่าที่หมายความว่าการแท้งเอง (604-1)

604

การแท้งจากการตายภายในมดลูกโดยไม่มีการกระทำให้เกิดขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อก่อนการขับออกมาก เรียกว่าการแท้งเอง1หรือการแท้งโดยธรรมชาติ1 ตรงข้ามกับการแท้งโดยตั้งใจ2 หรือการทำแท้ง2 การแท้งเพื่อการบำบัดรักษา3เป็นการทำแท้งด้วยเหตุผลทางการแทพย์ กฎหมายของบางประเทศอนุญาตให้ทำแท้งเพื่อเหตุผลด้านสุขภาพหรือเหตุผลอื่น เรียกว่าเป็นการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย4 การทำแท้งซึ่งขัดต่อกฎหมายเรียกว่าการทำแท้งที่ผิดกฎหมาย5 หรือการทำแท้งที่เป็นอาชญากรรม5 ในด้านเทคนิคการทำแท้งที่ใช้ มีการทำแท้งโดยการขูดมดลูก6 การทำแท้งโดยการดูดสุญญากาศ7 การทำแท้งโดยการถ่างและขจัดออก7 การผ่ามดลูก8 (เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเข้าไปในมดลูก) และการทำแท้งโดยวิธีการใช้ยาขับ9
  1. เรียกอีกอย่างว่าเป็นการทำแท้งโดยการถ่างและขูดมดลูก (เขียนย่อๆ เป็น D&C)
  2. เรียกอีกอย่างว่าเป็นการทำแท้งโดยการดูด เมื่อขั้นตอนนี้ทำขึ้นโดยเร็วหลังจากเชื่อว่ามีการปฏิสนธิจะเรียกว่าการปรับประจำเดือน
  3. ขั้นตอนเช่นนี้เกี่ยวพันกับการแลกเปลี่ยนน้ำคร่ำ เช่นตัวอย่างของการทำแท้งโดยการฉีดน้ำเกลือ หรือการใช้ยาโพรสตาแกลนดินส์

605

การคลอดครบกำหนด1เกิดขึ้นเมื่อการตั้งครรภ์เป็นเวลาอย่างน้อย 37 สัปดาห์ วัดโดยช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ตามปรกติ (603-3*) การตั้งครรภ์ที่สิ้นสุดลงก่อนระยะเวลาปรกติเรียกว่าการคลอดก่อนกำหนด2 หรือการคลอดบุตรก่อนเวลา2 หรือการเกิดก่อนเวลา2 และผลิตผลของการคลอดเช่นนี้เรียกว่าทารกก่อนกำหนด4 การเกิดซึ่งไม่ก่อนกำหนดเรียกว่าการเกิดตามกำหนด3 หรือการเกิดครบกำหนด3 คำว่าก่อนกำหนด5 ใช้เพื่อหมายถึงปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงกับการคลอดก่อนกำหนด การจำแนกประเภทของการเกิดโดยขั้นตอนของพัฒนาการที่ไม่ขึ้นอยู่กับการประมาณระยะเวลาของการครองครรภ์ใช้อยู่ในหลายประเทศ ในการจำแนกประเภทเช่นนี้ ทารกเกิดมีชีพด้วยน้ำหนักแรกเกิด6 2,500 กรัม (5 1/2 ปอนด์) หรือต่ำกว่านั้นกล่าวว่าไม่ครบกำหนด8 ภาวะไม่ครบกำหนด7มักจะรวมกับอาการอ่อนเพลีย9ซึ่งเป็นภาวะผิดปรกติของความอ่อนแอ

606

การคลอดบุตรส่วนมากจะเป็นการเกิดเดี่ยว1 หรือการคลอดเดี่ยว1 แต่บางกรณีเป็นการเกิดมากกว่าหนึ่ง2 หรือการคลอดมากกว่าหนึ่ง2 เด็กสองคนที่เกิดในช่วงการคลอดบุตรครั้งเดียวกันเรียกว่าแฝด3 และเราอาจแยกความแตกต่างระหว่างแฝดไข่ใบเดียวกัน4 หรือแฝดเหมือน4ประเภทหนึ่งกับแฝดไข่สองใบ5อีกประเภทหนึ่ง การเกิดเป็นเด็กหลายคนด้วยไข่ใบเดียวกันเกิดขึ้นเมื่อไข่แยกตัวหลังจากการผสมพันธุ์ เด็กที่เป็นผลจากการที่ไข่แยกตัวเช่นนั้นต้องเป็นเพศเดียวกันเสมอ การเกิดจากไข่หลายใบเนื่องมาจากการสุกพร้อกันของไข่สองใบหรือมากกว่าให้ผลเป็นเด็กแฝดคลอดออกมาอาจมีเพศที่ต่างกัน
  1. ศัพท์ทางการของอังกฤษ คำว่าการเป็นมารดาใช้เพื่อแสดงการคลอดที่มีผลเป็นการเกิดของบุตร 1 คนหรือมากกว่า อาจคำนวณจำนวนของการเกิดต่อการเป็นมารดาได้
  2. เมื่อการคลอดครั้งหนึ่งออกมาเป็นบุตร 3 คน เรียกว่าแฝดสาม คลอดออกมา 4 คน เรียกว่าแฝดสี่ 5 คนเรียกว่าแฝดห้า โดยทั่วไป ศัพท์คำว่าฝาแฝด แฝดสาม ฯลฯ เรียกตามจำนวนบุตรที่คลอดออกมาทั้งหมดในระหว่างการคลอดครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การคลอดบุตรคราวละหลายคนจะแยกประเภทตามจำนวนบุตรที่เกิดมีชีพเท่านั้น

610

การเกิดจำแนกออกตามความถูกต้องตามกฎหมาย1 เด็กที่ถูกต้องตามกฎหมาย2อาจนิยามอย่างเคร่งครัดว่าหมายถึงเด็กที่บิดาและมารดาแต่งงานกันในเวลาที่ปฏิสนธิ แต่ในทางปฏิบัติ การจำแนกเช่นนั้นขึ้นอยู่กับสถานภาพสมรสของมารดา ณ เวลาของการเกิด หรือ หลังจากการสูญสลายของการแต่งงาน (510-3) ก็ขึ้นอยู่กับสถานภาพสมรสของมารดา ณ เวลาของการปฏิสนธิ การเกิดที่ถูกต้องตามกฎหมาย3เป็นการคลอดของเด็กที่ถูกต้องตามกฎหมาย การเกิดอื่นนอกจากนั้นเป็นการเกิดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย4 เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วไปที่จะพิจารณาว่าเด็กที่เป็นผลมาจากการปฏิสนธิก่อนแต่งงาน5 หรือการปฏิสนธิก่อนสมรส5 (ได้แก่การปฏิสนธิที่เกิดขึ้นก่อนการแต่งงาน) เป็นเด็กถูกต้องตามกฎหมายถ้าบิดามารดาของเด็กนั้นแต่งงานกัน ณ เวลาของการเกิด เด็กที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย6 หรือเด็กเกิดนอกสมรส6อาจทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย8 หรือทำให้ชอบด้วยกฎหมาย8โดยการแต่งงานของบิดามารดาในเวลาต่อมา กระบวนการของการทำให้ชอบด้วยกฎหมาย9ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อาจให้สิทธิทางกฎหมายบางอย่างหรือสิทธิทั้งหมดซึ่งเด็กที่ถูกต้องตามกฎหมายพึงมีแก่เด็กที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ในระบบกฎหมายบางระบบ เป็นไปได้ที่บิดาจะให้การยอมรับ7 หรือการรับรู้7บุตรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายของเขา กล่าวคือ ยอมรับในรูปแบบทางกฎหมายว่าตนเป็นบิดาของเด็ก
  1. มีการใช้คำว่าท้องก่อนแต่งด้วยเช่นกัน
  2. คำว่าลูกไม่มีพ่อก็มีการใช้ด้วยเช่นกัน ตามกฎหมายของบางประเทศ เด็กจะถือว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายถ้าเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ผิดกฎหมาย หรือ ความสัมพันธ์นอกสมรส ซึ่งได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงที่แต่งงานแล้วกับชายที่มิใช่เป็นสามี แต่การเกิดเช่นนั้นอาจไม่จดทะเบียนว่าเป็นเด็กที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเสมอไป

611

การเกิดอาจจำแนกออกตามลำดับการเกิด1 เช่น การเกิดลำดับแรก การเกิดลำดับที่สอง ฯลฯ ปรกติลำดับการเกิดกำหนดได้โดยดูจากลูกคนก่อนๆ ที่เกิดกับแม่3 และบางครั้งดูเพียงลูกที่เกิดในการแต่งงานครั้งปัจจุบัน2 โดยทั่วไปลำดับการเกิดจะนับเฉพาะการเกิดมีชีพเท่านั้น แต่บางครั้งก็นับการตายตัวอ่อนระยะหลังเอาไว้ด้วย การจำแนกประเภทของผู้หญิงโดยลำดับการคลอดบุตร4ทำได้ในวิธีเดียวกันกับการเกิด โดยการนับครรภ์ทั้งหมดที่มีอายุอย่างน้อย 28 สัปดาห์ และนับการเกิดลูกแฝดเป็นการคลอดบุตร (cf. 603-4) ครั้งเดียว ในทำนองเดียวกัน การจำแนกประเภทลำดับการตั้งครรภ์5ทำได้โดยการนับการตั้งครรภ์ที่รู้ทั้งหมด ในทางการแพทย์เรียกผู้หญิงว่า หญิงไม่เคยตั้งครรภ์6 ถ้าผู้หญิงคนนั้นไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน ศัพท์คำว่าท้องแรก7 และตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้ง8 ใช้สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก และเคยตั้งครรภ์มาก่อนตามลำดับ ยังมีการจำแนกประเภทผู้หญิงออกตามจำนวนบุตร9 โดยปรกตินับจากจำนวนบุตรที่เกิดมีชีพ แม้ว่าในวรรณกรรมทางชีววิทยา ศัพท์คำนี้จะหมายถึงจำนวนของการคลอดบุตรก็ตาม และผู้หญิงที่ไม่เคยคลอดบุตรมาก่อนเลยเรียกว่า หญิงไม่เคยคลอดบุตร10 ในทำนองเดียวกัน ผู้หญิงจะเรียกเป็น หญิงคลอดบุตรครั้งแรก11 เมื่อคลอดบุตรครั้งแรก และเป็น หญิงคลอดบุตรมาแล้วหลายครั้ง12 เมื่อมีการคลอดบุตรครั้งต่อๆ มา
  1. การเกิดลำดับสูงกว่าเป็นการเกิดหลังจากการเกิดลำดับสุดท้ายที่ระบุ เช่น การเกิดลำดับที่ห้าและลำดับสูงกว่า
  2. ผู้หญิงที่ไม่เคยให้กำเนิดบุตรเลยเรียกว่า สตรีลำดับบุตรศูนย์ สตรีลำดับบุตรหนึ่งหมายถึงสตรีที่ให้กำเนิดบุตร 1 คนและไม่มีบุตรอีกเลย และต่อๆ ไป

612

การศึกษาเรื่องเวลาการเกิด1เกี่ยวข้องกับความยาวนานของช่วงห่างระหว่างการเกิด2 ช่วงเวลานี้รวมถึงช่วงห่างระหว่างการแต่งงานและการเกิดบุตรคนแรก3 และช่วงห่างระหว่างการเกิดบุตรคนต่อๆ มา4 ช่วงห่างระหว่างการเกิดกับวันเวลาที่กำหนดไว้อย่างเช่นวันเวลาของสำมะโน (202-1 *) หรือของการสำรวจ (203-4) เรียกว่าช่วงห่างระหว่างการเกิดเปิด5 ช่วงห่างที่เริ่มก่อนและจบลงหลังจากวันเวลาที่กำหนดไว้เรียกว่าช่วงคร่อม6 ช่วงห่างระหว่างการแต่งงานกับการเกิดลำดับที่ N7ก็มีการใช้ในการศึกษาเวลาของการเกิด
  1. การเว้นระยะการมีบุตร แม้บางครั้งจะมีความหมายของเวลาการเกิดตามที่กล่าวข้างต้น แต่จะใช้คำนี้เพื่อหมายถึงความพยายามของคู่สมรสที่จะเลื่อนเวลาของการมีบุตรออกไป
  2. เรียกว่าช่วงห่างของบุตรคนแรกก็ได้ ช่วงห่างของบุตรคนที่สองคือช่วงเวลาระหว่างการเกิดครั้งแรกและการเกิดครั้งที่สอง และต่อๆ ไป
  3. ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของสำมะโนหรือการสำรวจ ช่วงห่างระหว่างการเกิดบุตรคนต่อๆ ไปที่บันทึกไว้จะเรียกว่าช่วงห่างการเกิดปิด

613

ในการคิดระยะเวลาของการเปิดสู่ความเสี่ยงของการปฏิสนธิ1จำเป็นต้องพิจารณาถึงช่วงห่างระหว่างครรภ์2 ช่วงห่างระหว่างการแต่งงานกับครรภ์แรกเป็นการยืดเวลาปฏิสนธิ3หรือช่วงห่างของครรภ์แรก3 ระยะเวลาระหว่างการสิ้นสุดของครรภ์หนึ่งกับการเริ่มต้นของครรภ์ต่อไปเป็นช่วงห่างระหว่างครรภ์4 ถ้าลบเวลาเมื่อที่ผู้หญิงไม่มีกิจกรรมทางเพศออกไป ก็จะได้ช่วงห่างระหว่างครรภ์สุทธิ5 ระยะเวลาระหว่างการสิ้นสุดของครรภ์สุดท้ายกับวันเวลาของการสำรวจเรียกว่าช่วงห่างระหว่างครรภ์เปิด6

620

ช่วงเวลาสืบทอดพันธุ์1 (หรือช่วงเวลามีบุตร1ในสตรี) เริ่มที่วัยสามารถผสมพันธุ์ได้2 การมีระดู3การปรากฏขึ้นของประจำเดือน4 หรือเมน4ในสตรี — เริ่มที่วัยสามารถผสมพันธุ์ได้ ประจำเดือนแรกเรียกการเริ่มแรกมีระดู5 และการมีประจำเดือนหยุดลงเมื่อถึงวัยหมดระดู6 ซึ่งบางครั้งเรียกว่าช่วงระยะหมดระดู6 ในทางปฏิบัติ ช่วงเวลาสืบทอดพันธุ์มักจะกำหนดว่าให้เริ่มที่อายุ 15 ปี หรืออายุต่ำสุดที่จะแต่งงาน (504-1) และมักจะให้สิ้นสุดลงที่อายุ 45 หรือ 50 ปี การไม่มีประจำเดือนชั่วคราวทั้งที่เป็นปรกติหรือเกิดจากความเจ็บป่วยเรียกว่าภาวะขาดระดู7 ภาวะขาดระดูจากการตั้งครรภ์8เกิดขึ้นหลังจากการปฏิสนธิ และภาวะขาดระดูหลังคลอด9เกิดขึ้นหลังจากการคลอดบุตร
  1. ใช้ศัพท์คำว่าวัยเจริญพันธุ์ หรือวัยตั้งครรภ์ได้ด้วยเช่นกัน
  2. คำพูดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงของชีวิตใช้ในความหมายเดียวกับวัยหมดระดูในภาษาพูด

621

สมรรถนะของผู้ชาย ของผู้หญิง หรือของคู่อยู่กินที่จะผลิตลูกที่มีชีวิตได้เรียกความสามารถมีบุตร1 การขาดความสามารถเช่นนั้นเรียกความไม่สามารถมีบุตร2หรือการเป็นหมัน2 ความไม่สามารถตั้งครรภ์3และความไม่สามารถให้กำเนิด10 เป็นสาเหตุหลักแต่ไม่ใช่สาเหตุเดียวของการเป็นหมัน เมื่อใช้คำว่าการเป็นหมันคำเดียวโดดๆ จะให้ความหมายถึงการเป็นหมันถาวรที่ไม่อาจคืนกลับมาได้ แต่บ่อยครั้งที่มีการใช้คำว่าความไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิสนธิชั่วคราว4และการเป็นหมันชั่วคราว5เพื่อให้แตกต่างจากความไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิสนธิถาวร6และการเป็นหมันถาวร7 ในสตรี เราแยกความแตกต่างระหว่างการเป็นหมันปฐมภูมิ8เมื่อผู้หญิงไม่เคยสามารถมีบุตรเลย กับการเป็นหมันทุติยภูมิ9ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากให้กำเนิดลูกหนึ่งคนหรือมากกว่านั้น
  1. ความหมายอีกอย่างหนึ่งของศัพท์คำนี้ แสดงถึงความสามารถที่จะมีบุตรมากกว่าความสามารถที่จะผลิตบุตรที่มีชีพ คำว่าด้อยความสามารถมีบุตรมีความหมายว่าความสามารถที่จะผลิตบุตรมีชีพมีต่ำกว่าปรกติหรือมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะเกิดการปฏิสนธิ

622

คำว่าการเป็นหมันชั่วคราว (621-5) ใช้แม้กระทั่งในกรณีที่ความไม่สามารถตั้งครรภ์ของผู้หญิงไม่ได้เป็นผลมาจากสภาพความเจ็บป่วย กล่าวได้ว่าผู้หญิงมีช่วงเวลาเป็นหมัน1ในแต่ละรอบประจำเดือน2 เพราะโดยทั่วไปการปฏิสนธิจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาสองสามวันใกล้ๆ เวลาของการตกไข่3เท่านั้น ช่วงเวลาของการเป็นหมันที่ขยายต่อจากการปฏิสนธิ (602-1) ไปจนถึงการกลับมาของการตกไข่อีกครั้งหลังจากการคลอดซึ่งนับรวมเวลาของการตั้งครรภ์ (602-5) และผลของระยะเวลาในการให้นมบุตร4เรียกว่าช่วงเวลาที่ไม่ไวรับ5 โดยเฉพาะใช้ในแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการสืบทอดพันธุ์ การเป็นหมันชั่วคราวใช้เพื่อหมายถึงการเกิดขึ้นของรอบเวลาที่ไม่มีการตกไข่6 (ได้แก่รอบประจำเดือนซึ่งการตกไข่ไม่เกิดขึ้น) หรือช่วงเวลาผิดปรกติของภาวะขาดระดู ความด้อยความสามารถมีบุตร7ของผู้หญิงอายุน้อยมากๆ เรียกกันว่าการเป็นหมันวัยรุ่น8 น่าจะดีกว่าถ้าจะพูดว่าความด้อยความสามารถมีบุตรของวัยรุ่น8
  1. ระยะเวลาระหว่างการคลอดกับการตกไข่อีกครั้งมักเรียกว่าระยะเวลาเป็นหมันหลังคลอด
  2. เรียกว่ารอบไม่ตกไข่ด้วย

623

ภาวะเจริญพันธุ์1 และภาวะไม่เจริญพันธุ์2หมายถึงพฤติกรรมสืบทอดพันธุ์มากกว่าสมรรถนะ และคำทั้งสองนี้ใช้เพื่อแสดงว่ามีบุตรเกิดขึ้นมาจริงๆ หรือไม่ในช่วงเวลาที่ศึกษา เมื่อคำนึงถึงช่วงเวลาสืบทอดพันธุ์สมบูรณ์ คำว่าภาวะไม่เจริญพันธุ์รวม3อาจนำมาใช้ในขณะที่ภาวะไม่เจริญพันธุ์ถาวร4อาจขยายจากอายุหนึ่งหรือจากช่วงเวลาการแต่งงานไปถึงจุดสิ้นสุดของช่วงเวลาของการมีบุตร ภาวะไม่เจริญพันธุ์โดยสมัครใจ5ใช้เมื่อไม่มีการสืบทอดพันธุ์ที่สอดคล้องเป็นไปตามการตัดสินใจของคู่อยู่กิน (503-8) ขอให้สังเกตว่าในประเทศที่พูดภาษาละติน คำว่าภาวะเจริญพันธุ์และความสามารถมีบุตรใช้ในความหมายที่ตรงข้ามกับคำในภาษาอังกฤษ ฉะนั้นคำว่า fécondité ในภาษาฝรั่งเศส และ fecundidad ในภาษาสเปนจะแปลว่า fertility และคำว่า fertilité และ fertilidad แปลว่า fecundity

  1. ไร้บุตร หมายถึงสภาวะที่ผู้หญิง ผู้ชาย หรือคู่อยู่กินยังไม่มีบุตรเลย

624

ภาวะเจริญพันธุ์ (623-1) ของคู่อยู่กินจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการสืบทอดพันธุ์1ของเขา มีความแตกต่างระหว่างผู้วางแผน2ซึ่งหมายถึงคู่อยู่กินที่พยายามกำหนดจำนวนหรือเว้นระยะ (612-1*) ของการเกิด กับผู้ไม่วางแผน3ซึ่งหมายถึงคู่อยู่กินที่ไม่มีความพยายามดังกล่าวเลย การวางแผนครอบครัว4มีความหมายกว้างกว่าการจำกัดขนาดครอบครัว4ซึ่งหมายถึงความพยายามที่จะมีลูกไม่เกินจำนวนบุตรที่ต้องการ5 ศัพท์คำว่าการคุมกำเนิด6หรือการกำหนดภาวะเจริญพันธุ์6ไม่่จำกัดอยู่กับกิจกรรมของคนที่แต่งงานแล้วเท่านั้น
  1. การจำแนกประเภทตามสถานภาพตามการวางแผนครอบครัวแยกคู่อยู่กินที่ไม่พยายามกำหนดหรือเว้นระยะการมีบุตรของตนออกจากคู่อยู่กินที่พยายามกระทำการดังกล่าว
  2. การเกิดที่ไม่ต้องการ หรือการเกิดที่ไม่ตั้งใจคือการเกิดที่เกิดขึ้นหลังจากคู่อยู่กินมีบุตรตามจำนวนที่ปรารถนาแล้ว ศัพท์คำนี้ต่างจากคำว่าการเกิดที่ไม่วางแผนซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจและบางทีเป็นการเกิดนอกสมรส

625

การวางแผนครอบครัวมีความเกี่ยวโยงถึงพ่อแม่ที่วางแผน1 หรือพ่อแม่ที่รับผิดชอบ1 ได้แก่ ความปรารถนาที่จะกำหนดจำนวนและเว้นระยะของการเกิดให้เป็นเป็นประโยชน์มากที่สุดของคู่อยู่กินหรือของสังคม จำนวนบุตรที่คู่อยู่กินคาดว่าจะมีอาจแตกต่างจากจำนวนบุตรที่ปรารถนา2 หรือจำนวนบุตรที่ตั้งใจ2 ที่คู่อยู่กินให้ข้อมูลในการสำรวจ แม้ว่าจำนวนบุตรที่เป็นเป้าหมายเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลง คู่อยู่กินก็อาจมีบุตรเกินกว่าจำนวนเหล่านั้นอันเป็นผลมาจากความล้มเหลวของการคุมกำเนิด3 ความถี่ของความล้มเหลวที่ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด4ซึ่งมีอยู่สองลักษณะ ประสิทธิภาพเชิงทฤษฎี5หรือประสิทธิภาพเชิงสรีรวิทยา5 ชี้ให้เห็นว่าวิธีคุมกำเนิดเชื่อถือได้อย่างไรเมื่อใช้ตลอดเวลาตามคำแนะนำในการใช้ ประสิทธิภาพในการใช้6วัดความเชื่อถือได้เมื่อใช้ในสถานการณ์ประจำวันโดยประชากรหนึ่ง เพื่อเป็นเหตุผลอธิบายศัพท์คำว่าภาวะความสามารถในการมีครรภ์ส่วนที่เหลือ (638-7) ประสิทธิภาพในการใช้ปรกติวัดได้ด้วยอัตราความล้มเหลวของการคุมกำเนิด7ซึ่งโยงจำนวนการปฏิสนธิที่ไม่ตั้งใจไปยังระยะเวลาที่เสี่ยงต่อการปฏิสนธิ
  1. ในศัพท์คำอื่นๆ การเกิดที่คาดหวังแตกต่างจากการเกิดที่ตั้งใจ มีความแตกต่างระหว่างคำว่าขนาดครอบครัวที่ปรารถนาซึ่งหมายถึงจำนวนบุตรที่ผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ชายคนหนึ่ง หรือคู่อยู่กินคู่หนึ่งที่ต้องการที่จะมี กับขนาดครอบครัวในอุดมคติซึ่งผู้หญิง ผู้ชาย หรือคู่อยู่กินมองในมุมว่าควรเป็นขนาดครอบครัวที่เหมาะสมสำหรับคนในสังคม ขนาดครอบครัวที่ตั้งใจอาจต่ำกว่าขนาดครอบครัวที่ปรารถนา
  2. การเกิดที่ไม่ได้วางแผนตรงข้ามกับการเกิดที่วางแผน
  3. 5. และ 6. ในศัพท์คำนี้ ประสิทธิผลมีความหมายเหมือนกับประสิทธิภาพ
  4. อย่าสับสนกับคำว่าประสิทธิภาพทางประชากรของโครงการวางแผนครอบครัว (ดู 626-7) หรือของวิธีคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ในประชากรหนึ่ง

626

โครงการวางแผนครอบครัว1ดำเนินการให้ความรู้และกระจายการคุมกำเนิดในกลุ่มผู้อาจเป็นผู้ใช้2 หรือในประชากรเป้าหมาย2 ทีมของพนักงานภาคสนาม3ซึ่งรวม พนักงานสอบถาม3 พนักงานชักจูงใจ3 และพนักงานจ่ายเครื่องมือคุมกำเนิด3 พยายามเข้าถึงและชักชวนประชากรให้ใช้วิธีคุมกำเนิดหรือการแท้ง ความสำเร็จของโครงการวัดได้ด้วยสัดส่วนของผู้รับบริการรายใหม่4ในประชากรเป้าหมาย หรือวัดโดยอัตรารับบริการ4 สำหรับผู้รับบริการคุมกำเนิด มีการคำนวณอัตราคงใช้5หลังจากช่วงเวลาหนึ่ง อัตราการหยุดใช้6หรืออัตราเลิกใช้6 การคาดประมาณจำนวนและสัดส่วนของการเกิดที่ป้องกันได้7สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพทางประชากร (625-4*) ของโครงการ ความชุกของการคุมกำเนิดในประชากรประมาณได้โดยสัดส่วนของผู้กำลังใช้8ของการคุมกำเนิดจากประชากรที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่นสตรีที่แต่งงานแล้วในวัยสืบทอดพันธุ์
  1. การสำรวจความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติการคุมกำเนิด เรียกโดยใช้อักษรย่อว่า KAP อัตราคุมกำเนิด (contraceptive prevalence rate) หมายถึงร้อยละของสตรีวัยมีบุตรที่แต่งงานแล้วและยังอยู่กินกับสามีที่กำลังใช้วิธีคุมกำเนิดชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่ เป็นดัชนีที่ชี้ความสำเร็จของโครงการวางแผนครอบครัวอีกดัชนีหนึ่ง

627

การป้องกันการปฏิสนธิ1หมายถึงมาตรการซึ่งใช้เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดผลการปฏิสนธิจากการมีเพศสัมพันธ์2หรือการร่วมประเวณี2 ศัพท์คำนี้ครอบคลุมการทำหมัน (631-1)เพื่อคุมกำเนิด วิธีคุมกำเนิด3ใช้ในความหมายที่กว้างกว่าวิธีป้องกันการปฏิสนธิ3 เพื่อรวมการทำแท้ง (604-2) การงดเว้น4จากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการงดเว้นร่วมเพศเป็นระยะ ๆ (628-4) มักจะรวมอยู่ในวิธีป้องกันการปฏิสนธิหรือวิธีคุมกำเนิด

628

มักแยกความแตกต่างระหว่างวิธีที่ใช้อุปกรณ์1ของการป้องกันการปฏิสนธิ กับวิธีที่ไม่ใช้อุปกรณ์2 วิธีที่ไม่ใช้อุปกรณ์ในการป้องกันการปฏิสนธิหลักวิธีหนึ่งคือการหลั่งภายนอก3 หรือการถอนออก3 วิธีที่ไม่ใช้อุปกรณ์ในการป้องกันการปฏิสนธิอีกวิธีหนึ่งคือการงดเว้นร่วมเพศเป็นระยะ ๆ4หรือวิธีการนับระยะปลอดภัย4ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงการร่วมเพศในช่วงที่เชื่อว่าผู้หญิงมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ และจะร่วมเพศในช่วงที่เรียกว่าระยะปลอดภัย5ของรอบประจำเดือนเท่านั้น วิธีการวัดอุณหภูมิร่างกาย6หมายถึงวิธีที่ผู้หญิงคอยติดตามวัดอุณหภูมิร่างกายของตนเองเพื่อหาระยะปลอดภัย
  1. วิธีที่ใช้อุปกรณ์มีทั้งที่เป็นวิธีใช้สิ่งกั้นขวางซึ่งใช้เพื่อป้องกันการพบกันของสเปิร์มและไข่ และวิธีที่ใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดอื่นๆ อย่างเช่น ห่วงอนามัย (629-10) และการคุมกำเนิดประเภทอื่น เช่นยาเม็ด (630-4)
  2. ศัพท์คำว่าวิธีวางแผนครอบครัวตามธรรมชาติหมายรวมถึงวิธีนับระยะปลอดภัย วิธีวัดอุณหภูมิร่างกาย และเทคนิคอื่นๆ ที่พยายามระบุขั้นตอนของรอบการตกไข่ของสตรี

629

วิธีการใช้สิ่งกั้นขวางซึ่งใช้กันมากทั้งใช้วิธีเดียวโดดๆ หรือผสมกับวิธีอื่นมีถุงยาง1หรือปลอก1ที่ใช้โดยผู้ชาย และหมวกครอบปากมดลูก2 หรืออุปกรณ์ยันมดลูก2 ไดอะแฟรม3 แทมปอน4หรือฟองน้ำ4 เจลลี่คุมกำเนิด5 ยาเหน็บช่องคลอด6 ยาเม็ดฟองฟู่7 และน้ำยาฉีดล้าง8 ทั้งที่มีและไม่มียาฆ่าสเปิร์ม9ที่ใช้โดยผู้หญิง นอกจากนั้นยังมีห่วงอนามัย10 (เรียกย่อๆ ว่าไอยูดี10) (IUD) อีกหลายประเภท เช่นแบบขมวด10 ขดลวด10 ขดทองแดงรูปตัวที10 ฯลฯ

630

การป้องกันการปฏิสนธิทางปาก1เป็นวิธีการป้องกันการปฏิสนธิด้วยฮอร์โมน2 หรือการป้องกันการปฏิสนธิด้วยสเตอรอยด์3 วิธีเหล่านี้ป้องกันไม่ให้ไข่สุกโดยนำเข้าสู่ร่างกายทางปากของเม็ดยาคุม4 หรือโดยการฉีดยา หรือโดยการฝังใต้ผิวหนัง

631

การทำหมัน1เป็นผลจากการผ่าตัดวิธีต่างๆ การทำหมันชายคือมีการตัดท่อน้ำเชื้อ2 หรือการปิดท่อน้ำเชื้อ3 ซึ่งเป็นการผูกและตัดท่อนำเชื้ออสุจิ การทำหมันหญิงมีการผูกท่อนำไข่4 และการตัดท่อนำไข่5 ซึ่งเป็นการขัดขวางการทำงานของท่อนำไข่ การตัดมดลูก6 หรือการตัดมดลูกทิ้งก็นับเป็นการทำให้ผู้หญิงเป็นหมันด้วยเช่นกัน
  1. และ 5. มีการใช้วิธีการหลายอย่างที่จะเข้าถึงท่อนำไข่ อย่างเช่น การผ่าท้อง (laparotomy) การผ่าช่องคลอด (colpotomy) หรือการใช้กล้องส่องช่องท้อง (laparoscopy)

632

อัตราเกิด1เป็นศัพท์ทั่วไป หมายถึงอัตราที่คำนวณโดยโยงจำนวนการเกิดมีชีพที่สังเกตได้ในประชากรหรือประชากรกลุ่มย่อยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไปยังขนาดของประชากรหรือประชากรกลุ่มย่อยในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อัตรานี้ปรกติจะเป็นอัตราต่อ 1,000 และช่วงระยะเวลาที่ใช้กันมากที่สุดคือหนึ่งปี เมื่อใช้ศัพท์คำว่าอัตราเกิดโดยไม่มีการขยายความ ก็จะเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นอัตราเกิดอย่างหยาบ2 และการเกิดมีชีพทั้งหมดจะโยงไปสัมพันธ์กับประชากรทั้งหมด บางครั้งมีการคำนวณอัตราเกิดรวม3ที่ใช้จำนวนเกิดมีชีพและการตายตัวอ่อนระยะหลัง อัตราเกิดที่ถูกต้องตามกฎหมาย4และอัตราเกิดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย5คำนวณได้โดยใช้จำนวนเกิดที่ถูกต้องตามกฎหมายและจำนวนเกิดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นตัวตั้ง และจำนวนประชากรที่แต่งงานและไม่แต่งงานในขณะเวลานั้นตามลำดับเป็นตัวหาร อย่างไรก็ตามมีการใช้อัตราส่วนความไม่ถูกต้องตามกฎหมาย6ซึ่งคือจำนวนเกิดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายต่อการเกิด 1,000 ราย กันมากกว่า ในการเปรียบเทียบภาวะเจริญพันธุ์ของประชากรต่างกลุ่มกันอัตราเกิดปรับฐาน7จะใช้เพื่อขจัดอิทธิพลของอัตราเกิดที่เกิดจากความแตกต่างกันบางอย่างในโครงสร้างของประชากร (ส่วนใหญ่เป็นความแตกต่างของโครงสร้างอายุและเพศ) อัตราส่วนเด็ก-สตรี8ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปเป็นจำนวนเด็กอายุ 0 ถึง 4 ปีต่อผู้หญิงในวัยมีบุตร ซึ่งได้แก่ผู้หญิงอายุ 15 ถึง 49 ปี 1,000 คน เป็นดัชนีของภาวะเจริญพันธุ์เมื่อไม่มีสถิติการเกิดที่เชื่อถือได้
  1. ตัวหารของอัตราเกิด อัตราเกิดที่ถูกต้องตามกฎหมายและอัตราเกิดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายบางครั้งใช้จำนวนประชากรรวม
  2. ดูหมายเหตุ 4

633

ศัพท์คำว่าอัตราเจริญพันธุ์1ใช้เมื่อตัวหารของส่วนหนึ่งของอัตราเกิดจำกัดอยู่ที่กลุ่มของบุคคลเพศเดียวกันในวัยสืบทอดพันธุ์ (620-1) ตัวหารนี้โดยทั่วไปเป็นประชากรกลางปีในระยะเวลาที่ระบุไว้ แต่มันอาจจะเป็นจำนวนปีที่มีชีวิตอยู่ของกลุ่มประชากรนั้นในช่วงเวลานั้นหรือขนาดเฉลี่ยของกลุ่มนั้น นอกจากระบุไว้เป็นอย่างอื่น อัตราเจริญพันธุ์เป็นอัตราเจริญพันธุ์สตรี2 และอัตราที่คำนวณสำหรับกลุ่มของสตรีจะใช้จำนวนปีที่มีชีวิตอยู่โดยจำนวนของสตรีในช่วงเวลาหนึ่งเรียกว่าจำนวนของปีสตรี3 อัตราเจริญพันธุ์บุรุษ4คำนวณได้ด้วยวิธีเดียวกันกับของผู้หญิง โดยทั่วไปอัตราเจริญพันธุ์แสดงในรูปจำนวนเกิดต่อพัน (บุคคลในประเภทเหมือนกัน — เพศ อายุ สถานภาพสมรส ฯลฯ — cf. 133-4*) อัตราเจริญพันธุ์สมรส5หรืออัตราเจริญพันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย5โยงจำนวนรวมของการเกิดที่ถูกต้องตามกฎหมาย (610-3) ไปยังจำนวนของสตรีที่แต่งงานแล้วในขณะนั้น อัตราเจริญพันธุ์ไม่สมรส6หรืออัตราเจริญพันธุ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย6โยงจำนวนรวมของการเกิดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (610-4) ไปยังจำนวนของสตรีโสด ม่ายหรือหย่าแล้ว อัตราเจริญพันธุ์ทั้งหมด7ไม่แยกความแตกต่างตามความถูกต้องตามกฎหมาย (610-1) ของการเกิดหรือสถานภาพสมรสของพ่อแม่ อัตราเจริญพันธุ์ทั่วไป8โยงจำนวนรวมของการเกิดไปยังผู้หญิงทั้งหมดในวัยมีบุตรโดยไม่คำนึงถึงสถานภาพสมรส อัตราที่ใช้ พิสัยอายุที่แคบลง (ปรกติหนึ่งปีหรือกลุ่มอายุ 5 ปี) เรียกว่าอัตราเจริญพันธุ์รายอายุ9 หรืออัตราเกิดรายอายุ9
  1. ในศัพท์หลายๆ คำที่ใช้ในย่อหน้านี้ และย่อหน้าต่อๆ ไป อัตราเกิดจะใช้ในความหมายเดียวกับอัตราเจริญพันธุ์
  2. ภาวะเจริญพันธุ์สมรส หรือภาวะเจริญพันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ที่แต่งงานแล้ว (ดู 635-1).
  3. ภาวะเจริญพันธุ์นอกสมรส หรือภาวะเจริญพันธุ์ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ที่ไม่ได้แต่งงาน

634

อัตราเจริญพันธุ์ตามลำดับบุตร1เกี่ยวโยงการเกิดของลำดับที่เฉพาะลำดับหนึ่งไปยังสตรีจำนวนหนึ่ง หรือโยงไปยังจำนวนการแต่งงาน หรือจำนวนเกิดของลำดับก่อนหน้านั้น อัตราเจริญพันธุ์รายจำนวนบุตร2 หรืออัตราเกิดรายจำนวนบุตร2ไม่เพียงจำกัดเฉพาะการเกิดของลำดับที่กำหนดซึ่งเป็นตัวตั้ง แต่ยังจำกัดที่ตัวหารซึ่งคือจำนวนสตรีที่เสี่ยง (134-2) ต่อการมีจำนวนบุตร (611-6) นั้นๆ เช่น การเกิดลำดับที่สองต่อสตรีมีบุตรหนึ่งคน อัตราเช่นนี้โดยปรกติเป็นอัตรารายอายุหรือรายระยะเวลา ในเรื่องความน่าจะเป็นของการเกิดรายจำนวนบุตร3นั้น ตัวตั้งประกอบด้วยจำนวนการเกิดของลำดับ x + 1 ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง และตัวหารประกอบด้วยจำนวนสตรีที่มีบุตร x เมื่อเวลาเริ่มต้นของช่วงเวลาเดียวกันนั้น

635

ในการศึกษาภาวะเจริญพันธุ์สมรส1เป็นไปได้ที่จะจัดข้อมูลตามรุ่นแต่งงาน (116-2) ของมารดา และอัตราเจริญพันธุ์รายระยะเวลาการแต่งงาน2มักจะคำนวณขึ้นเพื่อหาอัตราเจริญพันธุ์สมรสรายอายุ3

636

ศัพท์คำว่าภาวะเจริญพันธุ์รุ่น1หมายถึงพฤติกรรมการสืบทอดพันธุ์ของเฉพาะรุ่นเกิดหรือรุ่นแต่งงาน (116-2) เมื่ออัตราเจริญพันธุ์รายระยะเวลาการแต่งงานหรืออัตราเจริญพันธุ์รายอายุบวกรวมกันจากเมื่อเริ่มต้นความเสี่ยงของรุ่นจนกระทั่งเวลาหลังจากนั้น เราเรียกว่าภาวะเจริญพันธุ์สะสม2 ภาวะเจริญพันธุ์สะสมรายอายุ3 หรือ ภาวะเจริญพันธุ์สะสมรายระยะเวลาการแต่งงาน3 เมื่อวันที่สิ้นสุดเป็นวันของสตรีกลุ่มที่เกิดหรือแต่งงาน (501-4) ภาวะเจริญพันธุ์สัมบูรณ์4 หรือภาวะเจริญพันธุ์ชั่วชีวิต4 เป็นภาวะเจริญพันธุ์สะสมจนกระทั่งถึงวันเวลาที่สมาชิกทั้งหมดของรุ่นนั้นมีอายุพ้นวัยมีบุตร จำนวนรวมของผลคูณของอัตราเจริญพันธุ์ของรุ่นนั้นด้วยความน่าจะเป็นของการรอดชีพของสตรีไปถึงอายุถัดไปเรียกว่าเป็นภาวะเจริญพันธุ์สุทธิสะสม5 ภาวะเจริญพันธุ์สะสมสุทธิรายอายุ6หรือภาวะเจริญพันธุ์สะสมสุทธิรายระยะเวลาการแต่งงาน6 และภาวะเจริญพันธุ์สัมบูรณ์สุทธิ7หรือภาวะเจริญพันธุ์ชั่วชีวิตสุทธิ7 ของสตรีรุ่นนั้น
  1. ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาของการมีบุตร ใช้ศัพท์คำว่าภาวะเจริญพันธุ์ไม่สมบูรณ์หรือภาวะเจริญพันธุ์จนถึงปัจจุบันเพื่อแสดงว่าภาวะเจริญพันธุ์สะสมของคนรุ่นนั้นอาจจะเพิ่มขึ้นได้อีก

637

สำมะโนและการสำรวจอาจให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเจริญพันธุ์เมื่อมีคำถามเกี่ยวกับจำนวนที่เกิดจากสตรีหรือคู่อยู่กินที่แจงนับได้ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงการแต่งงานปัจจุบัน1 หรือการแต่งงานทั้งหมด จำนวนเฉลี่ยของบุตรที่เกิดต่อสตรี2 หรือ จำนวนบุตรที่มีเฉลี่ย2 อาจคำนวณได้ จำนวนของบุตรต่อคู่อยู่กินบางครั้งเรียกว่าขนาดครอบครัวเฉลี่ย3 ทั้งยังเป็นไปได้ที่จะคำนวณจำนวนเฉลี่ยของการเกิดต่อการแต่งงาน4 มีความสนใจเป็นพิเศษต่อการแต่งงานของภาวะเจริญพันธุ์สัมบูรณ์5ซึ่งภรรยาอายุพ้นวัยเจริญพันธุ์ก่อนที่การแต่งงานจะสิ้นสลายลง จำนวนบุตรสุดท้าย6 หรือจำนวนบุตรสัมบูรณ์6 ซึ่งได้แก่จำนวนเฉลี่ยของบุตรต่อสตรีที่ผ่านวัยมีบุตรแล้ว ไม่แตกต่างมากนักจากภาวะเจริญพันธุ์สัมบูรณ์ (636-4) การทำตารางของจำนวนบุตรสุดท้ายหรือภาวะเจริญพันธุ์สัมบูรณ์โดยไขว้กับจำนวนบุตรช่วยให้คำนวณอนุกรมของอัตราส่วนจำนวนบุตรลำดับถัดไป7 ซึ่งเป็นเศษส่วนที่มีตัวหารเป็นจำนวนของผู้หญิงที่มีลูก n คน และตัวตั้งเป็นจำนวนผู้หญิงที่มีลูก n + 1 คน การศึกษาพิเศษให้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อรูปครอบครัว8 และวงจรชีวิตครอบครัว8 ในการศึกษาเหล่านี้ความถี่ของการปฏิสนธิก่อนแต่งงาน9 ช่วงห่างการเกิด (612-1) และอายุเมื่อการเกิดของลูกคนสุดท้าย10สำหรับผู้หญิงที่มีภาวะเจริญพันธุ์สัมบูรณ์แล้วมีความน่าสนใจเป็นการเฉพาะ

638

ประวัติภาวะเจริญพันธุ์1 หรือประวัติการสืบทอดพันธุ์1เป็นรายการเหตุการณ์สำคัญในชีวิตการสืบทอดพันธุ์ของผู้หญิงแต่ละคน อย่างเข่นการแต่งงาน การตั้งครรภ์ การเกิด การตายทารก ฯลฯ และวันเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหล่านั้น ประวัติภาวะเจริญพันธุ์มักได้รับข้อมูลย้อนเวลาจากการสำรวจ รูปแบบครอบครัว1ใช้ในวิชาประชากรศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์ (102-1) ซึ่งกำหนดรูปแบบครอบครัวของคู่อยู่กินและลูกๆ โดยการประกอบสร้างครอบครัวขึ้นใหม่2โดยอาศัยบันทึกเหตุการณ์ชีพ (211-3) ประวัติการตั้งครรภ์3 หรือบันทึกการตั้งครรภ์3ของผู้หญิงคนหนึ่งมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ซึ่งรวมวันเวลาเมื่อแต่ละครรภ์เริ่มต้นและจบลง และผลของการตั้งครรภ์นั้น บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาของภาวะเจริญพันธุ์เช่นนั้นใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ ตัวอย่างเช่น สามารถใช้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเจริญพันธุ์ธรรมชาติ4 ซึ่งได้แก่ภาวะเจริญพันธุ์ที่ไม่มีการจำกัดขนาดครอบครัว (624-4) ข้อมูลเช่นนั้นสามารถใช้ในการประมาณค่าภาวะความสามารถในการมีครรภ์5 ซึ่งหมายถึงความน่าจะเป็นของการปฏิสนธิต่อรอบประจำเดือน (622-2) มีความแตกต่างระหว่างภาวะความสามารถในการมีครรภ์ตามธรรมชาติ6ในกรณีที่ไม่มีการป้องกันการปฏิสนธิ กับภาวะความสามารถในการมีครรภ์ที่เหลือ7ในกรณีตรงกันข้าม ศัพท์คำว่าภาวะความสามารถในการมีครรภ์ที่มีประสิทธิภาพ8แสดงความหมายถึงความสามารถในการมีครรภ์ที่คำนวณได้ในแง่ของการปฏิสนธิซึ่งมีผลเป็นการเกิดมีชีพเท่านั้น อัตราปฏิสนธิ9ในช่วงระยะเวลาของการเปิดต่อความเสี่ยงที่ประมาณอยู่บ่อยๆ โดยใช้ดัชนีเพิร์ล10 (613-1) ใช้เพื่อวัดประสิทธิภาพของการป้องกันการปฏิสนธิในช่วงเวลาของการใช้วิธีการคุมกำเนิด
  1. โดยปรกติประวัติการเกิดจำกัดอยู่ที่การเกิดมีชีวิต
  2. ภาวะความสามารถในการมีครรภ์ เมื่อใช้โดดๆ จะหมายถึงภาวะความสามารถในการมีครรภ์ตามธรรมชาติ

639

ดัชนีสรุปรวมของภาวะเจริญพันธุ์ชั่วเวลา1 ซึ่งได้แก่ภาวะเจริญพันธุ์ของเฉพาะปีหนึ่งหรือชั่วเวลาหนึ่ง คำนวณได้โดยการรวมอนุกรมของอัตราเจริญพันธุ์รายอายุที่แสดงถึงการกระจายอัตราเจริญพันธุ์2 และใช้เป็นมาตรวัดสังเคราะห์ของภาวะเจริญพันธุ์3 เรียกว่าอัตราเจริญพันธุ์รวม4 หรือภาวะเจริญพันธุ์รวม4 ดัชนีภาวะเจริญพันธุ์ชั่วเวลาสรุปรวมอย่างอื่นอาจคำนวณได้ด้วยวิธีเดียวกัน เช่น อัตราเจริญพันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายรวม5ซึ่งก็คือผลรวมของอัตราเจริญพันธุ์รายช่วงเวลาของการแต่งงาน และอัตราเจริญพันธุ์รวมตามลำดับบุตร6ซึ่งก็คือผลรวมของอัตราเจริญพันธุ์รายอายุตามลำดับที่บุตร อัตราส่วนของการเกิดต่อการสมรส7คำนวณได้โดยการโยงจำนวนของการเกิดในปีหนึ่งไปยังจำนวนการแต่งงานของปีนั้น หรือโยงไปยังจำนวนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของการแต่งงานในปีปัจจุบันและในปีก่อนๆ
  1. หรือฟังก์ชันภาวะเจริญพันธุ์
  2. ดัชนีนี้ไม่ใช่อัตราในความหมายของ (133-4) ภาวะเจริญพันธุ์รวมในปีหนึ่งหมายถึงจำนวนเด็กควรเกิดต่อสตรี 1,000 คน ถ้าสตรีเหล่านั้นไม่มีประสบการณ์การตายและมีอัตราเจริญพันธุ์รายอายุเป็นเหมือนที่สังเกตได้ในปีนั้น อัตราสืบทอดพันธุ์รวมชั่วเวลา (ดู 711-4) ซึ่งได้มาจากการคูณอัตราเจริญพันธุ์รวมด้วยสัดส่่วนของการเกิดที่เป็นเพศหญิง มีการใช้อยู่บ่อยๆ ในอตีต แต่ในปัจจุบันนิยมใช้อัตราเจริญพันธุ์รวมเพื่อเป็นดัชนีสรุปรวมของภาวะเจริญพันธุ์ชั่วเวลา
  3. หรือภาวะเจริญพันธุ์สมรสรวม คำนี้ใช้เพื่อพรรณนาผลรวมของอัตราเจริญพันธุ์สมรสรายอายุที่อายุมากกว่า 20 ปี

640

เมื่อการทำแท้ง (604-2) ได้ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็จะสามารถรวบรวมสถิติเกี่ยวกับการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย (604-4) ได้ อัตราการแท้ง1เป็นการวัดความถี่ของการแท้งในประชากรในช่วงเวลาหนึ่ง ปรกติใช้ช่วงเวลาหนึ่งปี การแท้งอาจโยงไปสัมพันธ์กับประชากรรวม หรือกับจำนวนของผู้หญิงในวัยมีบุตร และอาจทำเป็นอัตราเฉพาะอายุ จำนวนบุตร หรือลักษณะอื่นๆ อัตราส่วนการแท้ง2เป็นมาตรวัดความถี่ของการแท้งที่สัมพันธ์กับจำนวนการเกิดมีชีพ (601-4) ในช่วงเวลาเดียวกัน อัตราการแท้งตลอดช่วงชีวิต3เป็นการรวมอัตราการแท้งรายอายุ4 และเป็นมาตรวัดสังเคราะห์ของการแท้งต่อสตรี 1 หรือ 1,000 คน อัตราเหล่านี้เป็นอัตราส่วนของจำนวนการแท้งที่รายงานในแต่ละอายุต่อจำนวนปีที่มีชีวิตอยู่โดยสตรีในกลุ่มอายุเดียวกัน ถ้าสามารถจำแนกสตรีตามสถานภาพสมรส ก็จะได้อัตราการแท้งตามอายุและสถานภาพสมรส5 และมีอยู่บ่อยๆ ที่หารจำนวนการแท้งด้วยจำนวนการปฏิสนธิเพื่อคำนวณความน่าจะเป็นของการแท้งตามอายุและสถานภาพสมรส6

บทที่ 7 • การเพิ่มประชากรและการทดแทน

701

ปฏิกิริยาของภาวะเจริญพันธุ์ ภาวะการตาย และการย้ายถิ่นนำไปสู่การพิจารณาเรื่องการเพิ่มประชากร1 การเพิ่มประชากรเป็นศูนย์10หมายถึงประชากรที่มีขนาดไม่เปลี่ยนแปลง เป็นการสะดวกที่จะพูดว่าการลดลงของประชากร2เป็นการเพิ่มเชิงลบ3 อาจแยกความแตกต่างระหว่างประชากรปิด4ซึ่งเป็นประชากรที่ไม่มีทั้งการย้ายถิ่นเข้าและการย้ายถิ่นออกและการเพิ่มของประชากรนั้นทั้งหมดขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างการเกิดและการตาย กับประชากรเปิด5ซึ่งอาจมีการย้ายถิ่น การเพิ่มของประชากรเปิดประกอบด้วยความสมดุลของการย้ายถิ่น6หรือการย้ายถิ่นสุทธิ6 และการเพิ่มตามธรรมชาติ7ซึ่งเป็นส่วนที่การเกิดมากกว่าการตาย8หรือส่วนที่การเกิดน้อยกว่าการตาย9 บางครั้งเรียกว่าความสมดุลของการเกิดและการตาย8 การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในตัวแปรหนึ่งมีผลต่อการเพิ่มทั้งหมดและโครงสร้างของประชากร ในบริบทเช่นนี้เรียกว่าเป็นผลกระทบทางการเพิ่มประชากร11 และผลกระทบทางโครงสร้าง12

702

อัตราส่วนของการเพิ่มทั้งหมดในช่วงเวลาหนึ่งต่อประชากรเฉลี่ยของช่วงเวลานั้นเรียกว่าอัตราเพิ่ม1 ในบางครั้งอัตรานี้คำนวณด้วยประชากรเมื่อเริ่มต้นของช่วงเวลามากกว่าใช้ประชากรเฉลี่ยเป็นตัวหาร เมื่อศึกษาการเพิ่มประชากรนานกว่าหนึ่งปีปฏิทิน อาจคำนวณอัตราเพิ่มต่อปีเฉลี่ย2 ในการคำนวณอัตรานี้บางครั้งจะสมมุติว่าประชากรเพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มเชิงชี้กำลัง3ในช่วงเวลานั้น และจะถือว่าเวลาเป็นตัวแปรต่อเนื่อง ขนาดของประชากรเชิงชี้กำลัง4จะเพิ่มขึ้นเป็นฟังก์ชันเอ๊กซ์โปเนนเชียลของเวลา อัตราเพิ่มเชิงชี้กำลัง5เท่ากับอัตราฉับพลันของการเพิ่ม5 อัตราส่วนของการเพิ่มตามธรรมชาติ (701-7) ต่อประชากรเฉลี่ยในช่วงระยะเวลาหนึ่งเรียกว่าอัตราอย่างหยาบของการเพิ่มตามธรรมชาติ6 และมีค่าเท่ากับความแตกต่างระหว่างอัตราเกิดอย่างหยาบและอัตราตายอย่างหยาบ ดัชนีชีพ7เป็นอัตราส่วนของจำนวนของการเกิดต่อจำนวนของการตายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ดัชนีนี้ไม่ค่อยมีการใช้กันแล้ว
  1. เมื่อเวลาถูกกระทำให้เป็นตัวแปรไม่ต่อเนื่อง การเพิ่มที่อ้างถึงเป็นการเพิ่มเชิงเรขาคณิต
  2. บางครั้งเรียกว่าประชากรแบบมัลทัส แต่คำนี้ยังกำกวมอยู่ในนัยยะทางสังคมวิทยา (ดู 906-1)

703

สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าเมื่อประชากรปิด (701-4) มีภาวะเจริญพันธุ์รายอายุ และอัตราการตาย (631-8 ; 412-1) คงที่เป็นระยะเวลานานเพียงพอ อัตราต่อปีของการเพิ่มจะกลายเป็นอัตราที่คงที่ อัตราของการเพิ่มที่คงที่นี้เรียกว่าอัตราเพิ่มตามธรรมชาติในตัวเอง1 และประชากรที่ถึงขั้นตอนนี้จะเรียกว่าประชากรคงรูป2 สัดส่วนของคนที่อยู่ในกลุ่มอายุต่างๆ ในประชากรคงรูปจะคงที่ กล่าวคือประชากรจะมีการกระจายอายุคงที่3 การกระจายอายุคงที่นี้เป็นอิสระจากการกระจายอายุเมื่อเริ่มต้น4 และขึ้นอยู่กับอัตราเจริญพันธุ์และอัตราการตายซึ่งคงที่เท่านั้น ในความเป็นจริง ประชากรมนุษย์ไม่เคยถึงขั้นคงที่อย่างแน่นอนเช่นนั้น เพราะอัตราเจริญพันธุ์และอัตราการตายจะเปลี่ยนไปตลอดเวลา แต่การคำนวณประชากรคงรูปอย่างแบบจำลองและการคำนวณอัตราแท้จริงจะให้ดัชนีของศักยภาพการเพิ่ม5ของชุดของอัตราเจริญพันธุ์รายอายุ เกี่ยวโยงกับศักยภาพการเพิ่ม ก็ควรกล่าวถึงแรงเฉื่อยของประชากรชั่วขณะหรือแรงเหวี่ยงทางประชากรศาสตร์11 คำนี้หมายถึงพลวัตที่ซ่อนอยู่ในโครงสร้างประชากรอันเนื่องมาจากการตอบสนองการเพิ่มประชากรที่ล่าช้า มีสาเหตุโดยความจริงที่ว่านับจากเวลาของการเกิดของรุ่น (116-2) หนึ่งจนถึงเวลาเริ่มต้นภาวะเจริญพันธุ์ (620-1) ของรุ่นนั้น มีจำนวนระยะเวลาหนึ่งผ่านไป ด้วยเหตุผลนี้ ประชากรอาจยังคงเพิ่มขึ้นแม้ว่าอัตราเกิดได้ลดลงมานานแล้วก็ตาม กรณีตรงข้ามก็เป็นไปได้ด้วยเช่นกัน แรงเหวี่ยงถูกเปลี่ยนโดยเฉพาะในกรณีของความไม่ต่อเนื่องในวิวัฒนาการของการเกิด (เช่นระหว่างสงคราม) และการย้อนกลับโดยฉับพลันของแนวโน้ม ประชากรคงรูปซึ่งอัตราแท้จริงของการเพิ่มตามธรรมชาติเป็นศูนย์เรียกว่าประชากรคงที่6 ในประชากรคงที่ จำนวนในกลุ่มอายุหนึ่งจะเท่ากับค่าอินทีกรัลของฟังก์ชันการรอดชีพ (431-3) ของตารางชีพระหว่างขีดจำกัดอายุข้างบนและข้างล่างของกลุ่มอายุนั้น คูณด้วยแฟคเตอร์ที่เป็นสัดส่วนเหมือนกันในทุกกลุ่มอายุ ประชากรเสมือนคงรูป7เป็นประชากรคงรูปอย่างที่อธิบายมาแล้วที่มีภาวะเจริญพันธุ์คงที่และภาวะการตายค่อยๆ เปลี่ยนไป ลักษณะประชากรประเภทนี้เหมือนกับประชากรกึ่งคงรูป8 ซึ่งเป็นประชากรปิดและโครงสร้างอายุคงที่ ประชากรลอจิสติค9เป็นประชากรที่กำลังเพิ่มตามกฎลอจิสติค10ของการเพิ่ม ได้แก่ประชากรซึ่งอัตราเพิ่มลดลงเป็นฟังก์ชันเชิงเส้นตรงของประชากรที่มีชีวิตอยู่แล้วและจะลู่เข้าสู่ค่าหนึ่งที่เป็นค่าขีดจำกัดข้างบน
  1. อัตราในตัวเองซึ่งล็อตก้า (Lotka) ผู้คิดแบบจำลองประชากรคงรูปเรียกว่าอัตราแท้จริงของการเพิ่มตามธรรมชาติ เท่ากับความแตกต่างระหว่างอัตราเกิดแท้จริง (หรือ อัตราเกิดคงที่) กับอัตราตายแท้จริง (หรืออัตราตายคงที่)
  2. การวิเคราะห์ประชากรคงรูปใช้คุณสมบัติของประชากรคงรูปเพื่อประมาณลักษณะต่างๆ ของประชากรที่แท้จริง

710

การศึกษาเรื่องการสืบทอดพันธุ์1 หรือการทดแทนประชากร1 เกี่ยวข้องกับกระบวนการธรรมชาติซึ่งประชากรจะแทนที่จำนวนตัวเอง ทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังในความหมายทางคณิตศาสตร์ของศัพท์นี้ มองประชากรเป็นเสมือนทรัพยากรที่ทำให้เกิดใหม่ได้2 มีความแตกต่างระหว่างการสืบทอดพันธุ์รวม3หรือการทดแทนรวม3ที่ไม่ได้คิดรวมภาวะการตายก่อนการสิ้นสุดของระยะเวลาการสืบทอดพันธุ์ (620-1) กับการสืบทอดพันธุ์สุทธิ4หรือการทดแทนสุทธิ4ซึ่งนำเอาภาวะการตายมาพิจารณาด้วย
  1. เขียนว่า reproductivity ก็ได้ ความหมายอย่างอื่นของการสืบทอดพันธุ์ ดู 601-2

711

ในการศึกษาเรื่องการทดแทนนี้ ดัชนีที่ใช้คืออัตราการทดแทน1 หรืออัตราสืบทอดพันธุ์1 โดยทั่วไปอัตราสืบทอดพันธุ์เป็นอัตราสืบทอดพันธุ์สตรี2 หรืออัตราสืบทอดพันธุ์มารดา2 อัตราสืบทอดพันธุ์สุทธิ3ของผู้หญิงนิยามว่าเป็นจำนวนเฉลี่ยของลูกสาวที่ยังมีชีวิตอยู่ที่เกิดจากรุ่นเกิด (116-2) ของผู้หญิงที่สมมุติขึ้นรุ่นหนึ่งซึ่งมีอัตราเจริญพันธุ์รายอายุ (631-8) และอัตราการตาย (401-2)ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อัตราสืบทอดพันธุ์รวม4ของผู้หญิงคำนวณได้ด้วยวิธีเดียวกันโดยมีข้อสมมุติว่าภาวะการตายก่อนสิ้นสุดอายุสืบทอดพันธุ์เป็นศูนย์ อัตราสืบทอดพันธุ์บุรุษ5 หรืออัตราสืบทอดพันธุ์บิดา5คำนวณได้ด้วยวิธีเดียวกันโดยใช้การเกิดเป็นเพศชายและรุ่นเกิดของผู้ชาย และอัตราสืบทอดพันธุ์ร่วม6ประเภทต่างๆ ก็คำนวณได้โดยนำเอาการเกิดและรุ่นเกิดทั้งสองเพศมาใช้ในการคำนวณ เมื่อประสบการณ์การมีบุตรของรุ่นเกิดจริงๆ นำมาใช้ในการคำนวณอัตราสืบทอดพันธุ์ ก็จะได้อัตราสืบทอดพันธุ์ตามรุ่น7 หรืออัตราสืบทอดพันธุ์ตามรุ่นวัย7 ภาวะการตายและภาวะเจริญพันธุ์ที่ใช้ในการคำนวณอัตราเหล่านี้จะอ้างถึงช่วงเวลาที่ต่างกัน ในกรณีที่ไม่มีสถิติภาวะเจริญพันธุ์รายอายุ อาจนำดัชนีที่เรียกว่าดัชนีการทดแทน8มาใช้ อัตราส่วนนี้โยงผลหารของประชากรเด็กในกลุ่มอายุหนึ่ง (เป็นกฎว่าใช้อายุ 0-4 ปี) ต่อจำนวนของผู้หญิงในวัยมีบุตรในประชากรจริง ไปยังผลหารเช่นเดียวกันในประชากรคงที่ (703-6)

712

ดัชนีการทดแทนอื่นๆ ก็คำนวณได้ ตัวอย่างเช่น อัตราสืบทอดพันธุ์สุทธิแยกออกเป็นส่วนประกอบที่ถูกต้องตามกฎหมาย1 และส่วนประกอบที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย2 ในเรื่องนี้ สามารถคำนวณอัตราสืบทอดพันธุ์สมรส3 แสดงจำนวนลูกสาวที่ถูกต้องตามกฎหมายที่จะเกิดกับผู้หญิงเกิดใหม่ถ้าอัตราปัจจุบันของภาวะการตาย ภาวะเจริญพันธุ์ ภาวะสมรส และการสิ้นสลายของการแต่งงานยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง โดยทั่วไปจะใช้อัตราเหล่านั้นของผู้หญิง แต่การคำนวณอัตราเหล่านั้นสำหรับผู้ชายก็ทำได้

713

อัตราสืบทอดพันธุ์สุทธิ (711-3) และอัตราแท้จริงของการเพิ่มตามธรรมชาติ (703-1) สัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด อัตราสืบทอดพันธุ์สุทธิวัดการเพิ่มขึ้นในประชากรคงรูป (703-2) ที่มีอัตราเจริญพันธุ์รายอายุและอัตราการตายแบบหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเท่ากับระยะเวลาเฉลี่ยระหว่างรุ่นวัย1 หรือช่วงห่างเฉลี่ยระหว่างรุ่นวัย1 ความยาวของชั่วคนผู้หญิงนี้มีค่าเท่ากับอายุเฉลี่ยของมารดา2ที่ให้กำเนิดบุตรสาวที่มีชีวิตด้วยอัตราเจริญพันธุ์รายอายุและอัตราตายที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อัตราสืบทอดพันธุ์ช่วงเวลาเป็นดัชนีปัจจุบัน (cf. 152) ซึ่งโยงไปยังรุ่นสมมุติ3 หรือรุ่นสังเคราะห์3
  1. อายุเฉลี่ยของภาวะเจริญพันธุ์ ได้แก่อายุเฉลี่ยของอัตราเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นเพียงค่าประมาณระยะเวลาเฉลี่ยของชั่วคน ระยะเวลาเฉลี่ยของชั่วคนผู้ชายก็คล้ายๆ กัน คือ เท่ากับอายุเฉลี่ยของบิดาเมื่อเกิดบุตรของตน

720

การฉายภาพประชากร1เป็นการคำนวณซึ่งแสดงพัฒนาการของประชากรในอนาคต โดยตั้งข้อสมมุติบางประการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประชากรในอนาคต ปรกติข้อสมมุติเหล่านั้นจะเกี่ยวกับภาวะเจริญพันธุ์ ภาวะการตาย และการย้ายถิ่น โดยทั่วไปการฉายภาพประชากรเป็นการคำนวณเพื่อแสดงผลตามข้อสมมุติที่ตั้งขึ้น การพยากรณ์ประชากร2เป็นการฉายภาพประชากรชุดที่ข้อสมมุติต่างๆ ได้รับการพิจารณาว่าจะให้ภาพที่ใกล้ความเป็นจริงของพัฒนาการของประชากรในอนาคตที่น่าจะเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าระยะเวลาการฉายภาพ3จะยาวนานเท่าไรก็ได้ แต่เป็นกฎว่าการพยากรณ์ช่วงสั้น4จะดีกว่า เพราะระดับของความผิดพลาดของการพยากรณ์จะเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อความยาวของระยะเวลาของการพยากรณ์เพิ่มขึ้น วิธีการฉายภาพประชากรที่ใช้กันมากที่สุดคือวิธีส่วนประกอบ5 หรือวิธีส่วนประกอบรุ่นอายุ5 ซึ่งนำประชากรที่กระจายตามอายุและเพศ ณ วันฐาน6 และคำนวณไปข้างหน้าแต่ละรุ่นวัยบนพื้นฐานแยกกันระหว่างผลของภาวะเจริญพันธุ์ ภาวะการตาย และการย้ายถิ่น เมื่อแมตริกซ์พีชคณิตใช้สำหรับการฉายภาพส่่วนประกอบ วิธีนั้นจะเรียกว่าวิธีแมตริกซ์ของการฉายภาพ7
  1. การฉายภาพทำได้ในแง่ของลักษณะทางการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม การฉายภาพย้อนหลังซึ่งอาจจะถูกต้องมากกว่าถ้าจะเรียกว่าการฉายภาพย้อนอดีต (retrojection) ใช้วิธีการอย่างเดียวกับในการย้อนรอยวิวัฒนาการของประชากรในอดีต

721

การคาดประมาณประชากร1โดยขนาดและส่วนประกอบ ณ วันเวลาต่างๆ ในอดีตและปัจจุบันอาจทำได้ด้วยหลายวิธี รวมทั้งวิธีที่ใช้สำหรับการฉายภาพประชากร (720-1) การคาดประมาณทางประชากรศาสตร์2รวมการคาดประมาณประชากรและการคาดประมาณลักษณะต่างๆ อย่างเช่นภาวะเจริญพันธุ์ (601-1) ภาวะการตาย (401-1) ฯลฯ การเทียบค่านอกช่วงรายปีของประชากร5จากสำมะโนครั้งสุดท้ายทำขึ้นบนพื้นฐานของสำมะโนครั้งสุดท้ายและสถิติชีพในปีต่อๆ มา วิธีประมาณการระหว่างช่วงสำมะโน3โยงไปยังวันเวลาระหว่างกลางของสำมะโน (202-1) สองครั้งหรือมากกว่า และนำผลของสำมะโนเหล่านี้มาพิจารณา ความคลาดเคลื่อนของค่าปิด4เป็นความแตกต่างระหว่างขนาดของประชากรที่แจงนับได้ในสำมะโนครั้งใหม่กับประชากรที่คาดประมาณ ณ วันสำมะโนครั้งใหม่นั้นโดยใช้มูลจากสำมะโนครั้งก่อนเป็นฐาน บวกด้วยจำนวนเกิดที่มากกว่าจำนวนตาย และการย้ายถิ่นสุทธิ (805-2) ในช่วงเวลาระหว่างสำมะโนทั้งสอง ความแตกต่างนี้แสดงความสมดุลของความคลาดเคลื่อนในข้อมูลการเกิด การตาย และการย้ายถิ่นสุทธิ และความครอบคลุมของสำมะโนทั้งสอง
  1. การคาดประมาณหลังสำมะโนนำผลของสำมะโนครั้งก่อนๆ มาพิจารณา แต่ไม่ใช่ผลของสำมะโนครั้งต่อไป

730

แบบจำลองทางประชากรศาสตร์1ประกอบด้วยแนวคิดเชิงทฤษฎีที่แสดงวิวัฒนาการของประชากร (ของบุคคล คู่อยู่กิน ครอบครัว ครัวเรือน ฯลฯ) และโครงสร้างของประชากรนั้นที่เริ่มจากฐานของประชากร ณ จุดเริ่มต้นบวกผลของตัวแปรทางประชากรทั้งหลาย (อย่างเช่น ภาวะเจริญพันธุ์ โอกาสปฏิสนธิ ภาวะการตาย ฯลฯ) ในแบบจำลองเชิงสถิตย์2ตัวแปรเหล่านี้จะอยู่คงที่ ในแบบจำลองเชิงพลวัต3จะปล่อยให้ตัวแปรเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา มีความแตกต่างมากไปกว่านั้นระหว่างแบบจำลองเชิงตัวกำหนด4ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างค่าแน่นอนของตัวแปรเหล่านั้นเสมือนว่าประชากรที่ศึกษามีขนาดใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด กับแบบจำลองสโตคาสติก5 หรือแบบจำลองเชิงความน่าจะเป็น5ซึ่งพิจารณาความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคคลในช่วงเวลาของกระบวนการที่ศึกษา แบบจำลองอาจสร้างขึ้นมาในรูปของสูตรทางคณิตศาสตร์ หรือในรูปของการกระทำเลียนแบบ6เมื่อค่าเฉพาะของตัวแปรต่างๆ ถูกรวมเข้าไปในระบบของความสัมพันธ์ การกระทำเลียนแบบมหภาค7เป็นตัวอย่างของการฉายภาพประชากรด้วยวิธีส่วนประกอบ (720-5) ในการกระทำเลียนแบบจุลภาค8 เหตุการณ์ทำให้เกิดขึ้นอย่างสุ่มกับบุคคลหรือกลุ่มตลอดเวลาตามอนุกรมของความน่าจะเป็นที่กำหนดให้กับตัวแปรในแบบจำลอง
  1. คำว่าแบบจำลองใช้เป็นคุณศัพท์ด้วย เช่นในตารางแบบจำลอง

บทที่ 8 • การเคลื่อนย้ายเชิงพื้นที่

801

การศึกษาการเคลื่อนย้ายเชิงพื้นที่1 หรือการเคลื่อนย้ายเชิงภูมิศาสตร์1เกี่ยวข้องกับแง่มุมเชิงปริมาณของการย้าย2ของบุคคลในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ลักษณะแตกต่างของการย้ายถิ่น3อยู่ที่การเคลื่อนย้ายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในสถานที่อยู่ปรกติ (310-6*) และมีนัยยะว่าเป็นการเคลื่อนย้ายข้ามเขตการบริหาร หน่วยการบริหารที่ผู้ย้ายถิ่นจากมาเป็นถิ่นเดิม4 หรือถิ่นที่จากมา4 หน่วยที่ผู้ย้ายถิ่นเคลื่อนย้ายเข้าไปเป็นถิ่นปลายทาง5 หรือถิ่นที่มาถึง5 แนวความคิดเรื่องการย้ายถิ่นมักไม่ใช้กับการเคลื่อนย้ายที่ทำโดยบุคคลที่ปราศจากสถานที่อยู่อาศัยแน่นอน ตัวอย่างเช่นคนเร่ร่อน จะไม่นับว่าเป็นผู้ย้ายถิ่น ในทางปฏิบัติ บางครั้งยากที่จะแยกความแตกต่างระหว่างการย้ายถิ่น ซึ่งมีนัยความหมายว่าเป็นการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยค่อนข้างถาวร กับการเคลื่อนย้ายชั่วคราว6 ยกเว้นบนพื้นฐานของเกณฑ์เรื่องระยะเวลาของการไม่อยู่7จากถิ่นเดิมหรือระยะเวลาของการอยู่8ที่ถิ่นปลายทาง โดยทั่วไป การเคลื่อนย้ายเชิงภูมิศาสตร์ไม่รวมการเดินทางระยะสั้นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนที่อยู่ปรกติ ถึงแม้ว่าการเคลื่อนย้ายเช่นนั้นอาจควรค่ากับการศึกษาเพราะว่ามีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคม การเดินทางไปกลับ9เกี่ยวข้องกับการเดินทางประจำวันหรือทุกสัปดาห์จากสถานที่อยู่อาศัยไปยังสถานที่ทำงานหรือที่เรียนหนังสือ การเคลื่อนย้ายตามฤดูกาล10เป็นการเคลื่อนย้ายเป็นช่วงๆ ในแต่ละปี การย้ายผ่าน11ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายข้ามเขตแดนหนึ่งเพื่อไปถึงจุดหมายปลายทางไม่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นในแง่ของเขตแดนที่ข้ามมา การเดินทางท่องเที่ยว12 หรือการพักผ่อน12ก็ไม่รวมอยู่ในการเคลื่อนย้ายเชิงภูมิศาสตร์เช่นกัน
  1. การเคลื่อนย้ายเชิงพื้นที่แตกต่างกับการเคลื่อนย้ายทางสังคม (920-4) และการเคลื่อนย้ายทางอาชีพ (921-3)
  2. คำว่าการย้ายถิ่น หมายถึงกระบวนการที่จะอธิบายการเคลื่อนย้ายบางประเภท นักวิชาการบางท่านมองว่าการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย (803-6) เป็นการย้ายถิ่น อย่างไรก็ตามการย้ายถิ่นจะต้องเกี่ยวข้องกับการข้ามพรมแดนและหน่วยการบริหารซึ่งเรียกว่าพื้นที่นิยามการย้ายถิ่น
  3. จะใช้คำว่าประเทศที่มาถึง และประเทศที่รองรับเมื่อการย้ายถิ่นระหว่างประเทศเป็นหัวข้อที่ศึกษา
  4. ผู้เดินทางไปกลับคือผู้ที่เดินทางเป็นประจำจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยของตนไปยังพื้นที่ที่ตนทำงาน ศัพท์คำว่าการเดินทางไปทำงานก็มีการใช้กันเพื่ออธิบายการเดินทางประเภทนี้
  5. การเคลื่อนย้ายตามฤดูกาลมีความถูกต้องมากวาคำที่ใช้กันบ่อยๆ คือการย้ายถิ่นตามฤดูกาลเนื่องจากการเคลื่อนย้ายประเภทนี้จะไม่ค่อยเกี่ยวกับการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยปรกติ

802

เมื่อมีข้อมูลการย้ายถิ่นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เราจะสามารถเปรียบเทียบสถานที่อยู่อาศัย ณ วันเวลาในอดีตที่ระบุไว้1 หรือสถานที่อยู่อาศัยครั้งสุดท้าย2 กับสถานที่อยู่ปัจจุบัน3 บุคคลซึ่งมีหน่วยการบริหารของที่อยู่อาศัยแตกต่างกันเมื่อเริ่มต้นและเมื่อสิ้นสุดของช่วงเวลาหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นผู้ย้ายถิ่น4 ผู้ย้ายถิ่นอาจจำแนกออกเป็นผู้ย้ายถิ่นออกนอกประเทศ5 หรือผู้ย้ายถิ่นออก5เมื่อมองจากมุมของถิ่นเดิม และเป็นผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศ6 หรือผู้ย้ายถิ่นเข้า6เมื่อมองจากมุมของถิ่นที่อยู่ปัจจุบัน เมื่อสำมะโนหรือการสำรวจได้รวมคำถามเกี่ยวกับสถานที่อยู่อาศัยก่อน2 ข้อมูลจะทำให้เกิดความคิดเกี่ยวกับการย้ายถิ่นครั้งหลังสุด7 หรือการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยครั้งหลังสุด7ไม่ว่าจะเมื่อใด ผู้ย้ายถิ่นคือบุคคลใดก็ตามที่มีที่อยู่อาศัยก่อนหน้าในหน่วยการบริหารที่แตกต่างจากที่อยู่อาศัยปัจจุบันของเขา อย่างเช่นบุคคลหนึ่งอาจพิจารณาได้ว่าได้ย้ายถิ่นไปยัง8ที่อยู่ปัจจุบัน และย้ายถิ่นออก9จากที่อยู่ก่อน ผู้ย้ายถิ่นเกิด11คือบุคคลที่มีสถานที่เกิด10อยู่ในหน่วยการบริหารที่แตกต่างจากที่อยู่อาศัยปัจจุบันของเขา ในกรณีเฉพาะบางกรณี ผู้ย้ายถิ่นอาจมีคุณสมบัติเป็นผู้ย้ายถิ่นออกนอกประเทศด้วยเหตุผลทางการเมือง ศาสนา หรือจริยธรรม12 หรือเป็นผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศด้วยเหตุผลทางการเมือง ศาสนา หรือจริยธรรม13
  1. กล่าวอย่างเคร่งครัด ภายใต้แนวความคิดนี้ ผู้ย้ายถิ่นต้องเกิดก่อนขณะเริ่มต้นของช่วงเวลานิยามการย้ายถิ่นและต้องมีชีวิตอยู่จนกระทั่งสิ้นสุดช่วงเวลานั้น คำนิยามนี้บางครั้งขยายไปรวมถึงบุตรที่เกิดระหว่างช่วงเวลาที่จัดให้อยู่ในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของแม่ ณ ขณะเริ่มต้นของช่วงเวลา จำนวนผู้ย้ายถิ่นที่บันทึกไว้ไม่จำเป็นต้องเท่ากับจำนวนของการเคลื่อนย้ายซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลาสำหรับบุคคลเหล่านี้ เพราะบุคคลหนึ่งอาจเคลื่อนย้ายหลายครั้งในช่วงเวลานั้น หรือแม้กระทั่งย้ายกลับมายังที่อยู่เดิม เมื่อมีการทำสำมะโนหรือสำรวจ
  2. ปรกติสถานที่เกิดนิยามว่าเป็นสถานที่อยู่อาศัยของแม่ ณ ขณะเวลาของการเกิด แม้นว่าประเพณีหรือจุดที่ให้บริการการคลอดบุตรอาจทำให้การคลอดบุตรอาจไปทำ ณ สถานที่อื่นก็ตาม

803

ประชากรของประเทศอธิปไตย (305-3) อาจมีการย้ายถิ่นภายในประเทศ1เมื่อทั้งถิ่นที่จากมา (801-4) และถิ่นปลายทาง (801-5) อยู่ภายในประเทศนั้นเอง หรือมีการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ2ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการข้ามเขตแดนของชาติ ศัพท์คำว่าการย้ายถิ่นภายนอกประเทศ3บางครั้งใช้ในความหมายเดียวกับการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ การย้ายถิ่นระหว่างประเทศเรียกว่าเป็นการเข้าเมือง4 หรือการออกเมือง5 ตามประเทศที่ศึกษาว่าเป็นประเทศปลายทางหรือประเทศต้นทาง เมื่อประเทศแบ่งออกเป็นพื้นที่ย่อย การเคลื่อนย้ายภายในเขตแดนของพื้นที่ย่อยแต่ละแห่งจะเป็นการเคลื่อนย้ายท้องถิ่น6 และทำให้เกิดศัพท์คำว่าการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย6 ในขณะที่การเคลื่อนย้ายระหว่างพื้นที่ย่อยจะเรียกว่าการย้ายถิ่นเข้า7 หรือการย้ายถิ่นออก8ขึ้นอยู่กับพื้นที่ย่อยนั้นจะพิจารณาว่าเป็นถิ่นต้นทางหรือถิ่นปลายทางของผู้ย้ายถิ่นนั้น กระแสการย้ายถิ่น9เป็นกลุ่มของผู้ย้ายถิ่นที่มีถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทางเดียวกัน กระแสที่ใหญ่กว่าระหว่างพื้นที่ย่อยสองแห่ง เรียกว่ากระแสหลัก10 และกระแสที่เล็กกว่าเรียกกระแสทวน11
  1. คำนิยามของการย้ายถิ่นในย่อหน้านี้สามารถขยายออกไปรวมผู้ย้ายถิ่นที่เกี่ยวข้อง ความแตกต่างระหว่างการย้ายถิ่นภายในประเทศและระหว่างประเทศไม่แน่นอนตายตัวเสมอไป โดยเฉพาะเมื่ออาณาเขตภายในประเทศหนึ่งถูกกำหนดขึ้นอย่างอิสระโดยประเทศนั้นเอง
  2. การเดินทางไปกลับข้ามพรมแดนของประเทศเรียกว่าเป็นการข้ามพรมแดน ซึ่งไม่ควรใช้สับสนกับการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ

804

เมื่อบุคคลหนึ่งย้ายถิ่นหลายครั้งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การเคลื่อนย้ายของเขาอาจแยกออกตามลำดับของการย้ายถิ่น1 ระยะเวลาของการอยู่อาศัย2หรือระยะเวลาของการพักอาศัย2หมายถึงช่วงเวลาระหว่างการมาถึงสถานที่นั้นและการจากไปในเวลาต่อมาไปยังจุดหมายปลายทางอีกแห่งหนึ่ง หรือหมายถึงช่วงเวลาตั้งแต่การเคลื่อนย้ายครั้งล่าสุด การย้ายถิ่นกลับ3เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายกลับไปยังพื้นที่เริ่มต้นหรือไปยังสถานที่อยู่ก่อน การย้ายถิ่นซ้ำ4หรือการย้ายถิ่นเรื้อรัง4หมายถึงแนวโน้มที่จะย้ายถิ่นหลาย ๆ ครั้งในช่วงเวลาค่อนข้างสั้น การย้ายถิ่นชนบทสู่เมือง5บางครั้งมีรูปแบบเป็นการย้ายถิ่นอนุกรม6 การย้ายถิ่นเป็นขั้นตอน6หรือการย้ายถิ่นเป็นขั้น6 เมื่อผู้ย้ายถิ่นมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนย้ายไปยังเมืองใหญ่เป็นถิ่นปลายทางสุดท้ายด้วยการย้ายระยะทางสั้น ๆ เป็นอนุกรม ย้ายไปยังสถานที่ระหว่างกลางก่อนจะถึงเมืองใหญ่ หรือย้ายไปยังเมืองขนาดใหญ่ขึ้น ๆ เป็นลำดับ การย้ายถิ่นอนุกรมหลายครั้ง7ระหว่างอนุกรมของเมืองที่มีขนาดแตกต่างกัน บางครั้งใช้เมื่อการย้ายถิ่นสุทธิของแต่ละเมืองมีค่าเป็นบวกและเป็นผลมาจากการย้ายถิ่นเข้าจากภาคชนบทและเมืองที่เล็กกว่าที่มีมากกว่าการย้ายถิ่นออกไปสู่เมืองที่ใหญ่กว่า
  1. บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นกลับเรียกว่าผู้ย้ายถิ่นกลับ
  2. เมื่อการย้ายถิ่นซ้ำเกี่ยวข้องไปยังการเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ใหม่ นักวิชาการบางคนเรียกว่าการย้ายถิ่นทุติยภูมิ และผู้ย้ายถิ่นทุติยภูมิเพื่อให้แตกต่างจากคำว่าการย้ายถิ่นปฐมภูมิซึ่งเกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นลำดับแรกหรือผู้ย้ายถิ่นปฐมภูมิ ตรงนี้เป็นที่มาของความสับสนเนื่องจากปรกติศัพท์เหล่านี้มีความหมายเหมือนกับ 806-4

805

สิ่งที่การย้ายถิ่น (801-3) ให้แก่การเพิ่มประชากร หรือการเพิ่มประชากรเนื่องจากการย้ายถิ่น1 (701-1) ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับการย้ายถิ่นสุทธิ2 ซึ่งได้แก่ความแตกต่างระหว่างจำนวนของผู้มาถึง3 กับจำนวนของผู้จากไป4 การย้ายถิ่นสุทธิสามารถมีได้ทั้งเครื่องหมายบวกและลบ การย้ายถิ่นเข้าประเทศสุทธิ5หรือการย้ายถิ่นเข้าสุทธิ5ใช้เมื่อผู้มาถึงมีมากกว่าผู้จากไป และการย้ายถิ่นออกประเทศสุทธิ6หรือการย้ายถิ่นออกสุทธิ6เมื่อเป็นกรณีตรงข้าม จำนวนรวมของผู้มาถึงและผู้จากไปในประเทศหนึ่งสามารถใช้เพื่อวัดปริมาณของการย้ายถิ่น7 แนวความคิดที่คล้ายๆ กันที่นำไปใช้กับพื้นที่ย่อยของประเทศคือการหมุนเวียน8ของการย้ายถิ่น กระแสสุทธิ9หรือการแลกเปลี่ยนสุทธิ9ของการย้ายถิ่นระหว่างสองพื้นที่นิยามได้ว่าเป็นความแตกต่างระหว่างกระแสหลัก (803-9) กับกระแสทวน (803-11) ในขณะที่การแลกเปลี่ยนการย้ายถิ่นรวม10เป็นผลรวมของกระแสและกระแสทวน
  1. คำนี้อาจเรียกว่าเป็นสมดุลของการย้ายถิ่น หรือสมดุลการย้ายถิ่น ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์อย่างเช่น "ผู้ย้ายถิ่นสุทธิ" และควรใช้วลีอย่างเช่น จำนวนสุทธิของผู้ย้ายถิ่นจะดีกว่า

806

การย้ายถิ่นตามธรรมชาติ1 การย้ายถิ่นแบบสมัครใจ1 หรือ การย้ายถิ่นเสรี1เป็นผลจากการตัดสินใจและการเลือกอย่างเสรีของผู้ย้ายถิ่น ในกรณีที่ไม่มีการย้ายถิ่นที่กระทำร่วมกัน การเคลื่อนย้ายนั้นจะหมายถึงการย้ายถิ่นส่วนบุคคล2 เมื่อทั้งครอบครัวย้ายไปด้วยกันบางครั้งใช้ศัพท์คำว่าการย้ายถิ่นครอบครัว3 การย้ายถิ่นทุติยภูมิ4หรือการย้ายถิ่นแบบช่วยเสริม4เป็นการย้ายถิ่นที่ช่วยทำให้เกิดขึ้นโดยคนอื่น เช่นเมื่อเด็กๆ ย้ายตามหัวหน้าครอบครัวไป ตัวอย่างของการย้ายถิ่นประเภทนี้คือการรวมสมาชิกครอบครัว9ซึ่งเป็นเรื่องการย้ายถิ่นของสมาชิกครอบครัว รวมทั้งลูกๆ ที่ไปอยู่รวมกันกับหัวหน้าครอบครัว การเคลื่อนย้ายของคนงานหรือของสมาชิกของแรงงานตามโอกาสในการจ้างงานเรียกว่าเป็นการย้ายถิ่นแรงงาน5 การเคลื่อนย้ายที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการแต่งงานและเมื่อบุคคลเกษียณจากแรงงานเรียกว่าการย้ายถิ่นเพราะแต่งงาน6 หรือ การย้ายถิ่นเพราะออกจากการทำงาน7ตามลำดับ การย้ายถิ่นแบบลูกโซ่8หรือการย้ายถิ่นแบบเชื่อมโยง8หมายถึงแบบแผนของการย้ายถิ่นไปยังถิ่นปลายทางเฉพาะแห่ง ที่ที่ซึ่งผู้ย้ายถิ่นมีญาติพี่น้อง (114-3*) หรือเพื่อนซึ่งอยู่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว และเต็มใจที่จะให้ข้อมูลและความช่วยเหลือ
  1. แม้ศัพท์นี้บางครั้งจะใช้ในความหมายที่ต่างกัน (cf. 804-4*) ผู้ย้ายถิ่นปฐมภูมิคือบุคคลที่จะตัดสินใจย้ายถิ่นตัวจริงในขณะที่ผู้ย้ายถิ่นทุติยภูมิคือบุคคลเช่นเด็กอายุน้อยที่การย้ายถิ่นของเขาเป็นผลจากการตัดสินใจของบุคคลอื่น

807

เมื่อกลุ่มของบุคคลหรือครอบครัวตัดสินใจที่จะย้ายถิ่นไปด้วยกัน ก็จะเกิดการย้ายถิ่นแบบกลุ่มรวม1 หรือการย้ายถิ่นกลุ่ม1 การย้ายถิ่นแบบมวลชน2เป็นการย้ายถิ่นที่มีผู้ย้ายถิ่นเป็นจำนวนมาก ศัพท์คำว่าการหลั่งไหลของคนหมู่มาก3อาจใช้สำหรับการย้ายถิ่นแบบมวลชนที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือภัยพิบัติบางอย่าง

808

การย้ายถิ่นแบบสมัครใจ (806-1) ตรงข้ามกับการขยายถิ่นแบบบังคับ1ซึ่งบุคคลถูกบังคับโดยผู้มีอำนวจของรัฐให้เคลื่อนย้าย การส่งกลับ2เป็นการบังคับให้บุคคลกลับคืนสู่ประเทศเดิมของตน อีกตัวอย่างหนึ่งของการย้ายถิ่นแบบบังคับคือการขับออก3จากสถานที่พักอาศัยทั้งที่ขับออกเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มคนหมดทั้งกลุ่ม คำว่าการอพยพ4โดยทั่วไปใช้สำหรับการเคลื่อนย้ายประชากรทั้งหมดเพื่อที่จะป้องกันภัยจากภัยพิบัติบางอย่าง เช่นแผ่นดินไหว อุทกภัย ปฏิบัติการสงคราม หรือภัยอย่างอื่น ปรกติผู้ลี้ภัย5จะย้ายถิ่นโดยความตั้งใจของตนเอง แม้ว่าจะมีความกดดันอย่างแรงที่ทำให้ต้องย้ายออกเพราะว่าหากยังขืนอยู่ในประเทศของเขาต่อไปก็อาจเกิดอันตรายจากการถูกข่มเหง ผู้พลัดถิ่น6คือบุคคลที่ถูกเคลื่อนย้ายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจากถิ่นเดิมของตน การเคลื่อนย้ายนี้อาจเกิดขึ้นโดยเป็นผลมาจากการพลัดถิ่นของประชากร7ขนาดใหญ่ หรือการเคลื่อนย้ายประชากร7 หรือการแลกเปลี่ยนประชากร8
  1. ผู้ถูกขับไล่คือคนที่ถูกขับไล่ออกไป ศัพท์คำว่าการส่งตัวกลับใช้สำหรับการขับไล่บุคคลออกจากประเทศที่เขาอาศัยอยู่เพราะว่าการยังคงอยู่ในที่อาศัยเดิมของเขาไม่เป็นที่ต้องการของรัฐนั้น
  2. ผู้อพยพ คือบุคคลผู้ถูกอพยพ

809

กระบวนการซึ่งผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขต่างๆ ในพื้นที่ปลายทางจัดอยู่ในหลายประเภท การโอนสัญชาติ (331-1) คือการร้องขอให้ตนได้เป็นราษฎรตามกฎหมาย การซึมซับ1คือการเข้าสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลผลิต การกลมกลืน3คือการบูรณาการเข้าสู่โครงสร้างทางสังคมในแง่ของความเสมอภาค และการดูดซึมทางวัฒนธรรม2คือการรับเอาประเพณีและค่านิยมของประชากรในถิ่นปลายทาง

810

เมื่อผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศจากเขตแดนหนึ่งไม่ผสานกลมกลืนในประเทศที่เข้าไปอยู่ใหม่ หากแต่ยังคงประเพณีของถิ่นเดิม (801-3) ของตนไว้ จะเรียกว่าพวกอาณานิคม1 เมื่อประเทศปลายทางมีคนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ก็จะเกิดปัญหาของการอยู่ร่วมกัน2ระหว่างประชากรต่างกลุ่มกัน ปัญหาเหล่านี้อาจแก้โดยการหลอมรวม3ของประชากรเหล่านั้น ได้แก่ด้วยการทำให้ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดหายไป หรือด้วยการบูรณาการ4ของประชากรกลุ่มหนึ่งเข้าไปสู่ประชากรกลุ่มอื่นๆ การแบ่งเขต5มีอยู่ในดินแดนที่ประชากรสองกลุ่มหรือมากกว่านั้นอาศัยอยู่แต่แยกจากกันโดยอุปสรรคขัดขวางที่เกิดขึ้นโดยประเพณีหรือโดยอำนาจของกฎหมาย
  1. การจัดตั้งอาณานิคมใช้ในความหมายในการจัดตั้งดินแดนใหม่ด้วย
  2. ในกรณีสุดโต่ง ความขัดแย้งอาจส่งผลให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คือความพยายามโดยประชากรกลุ่มหนึ่งที่จะทำลายล้างประชากรกลุ่มอื่น

811

นโยบายการย้ายถิ่น1เป็นด้านหนึ่งของนโยบายประชากร (105-2) ประเทศส่วนมากใช้กฎหมายตรวจคนเข้าประเทศ2จำกัดการเข้ามาของคนต่างชาติ กฎหมายเหล่านี้มักมีช่องว่างไว้สำหรับการเข้าประเทศที่คัดสรร3ของบุคคลที่มีคุณลักษณะเฉพาะบางอย่าง บางประเทศวางระบบโควต้า4ซึ่งกำหนดจำนวนคนเข้าประเทศตามชาติกำเนิด5 มาตรการที่ออกแบบให้มีอิทธิพลต่อการกระจายตัวใหม่ของประชากร6ภายในประเทศหนึ่งโดยผ่านทางการย้ายถิ่นภายในประเทศ (803-1) ปรกติจะมีลักษณะค่อนไปทางอ้อม

812

สถิติการย้ายถิ่น1รวบรวมไว้เพื่อแสดงให้เห็นปริมาณของการย้ายถิ่น ทิศทางของการเคลื่อนย้ายถิ่น และลักษณะของผู้ย้ายถิ่น ความถูกต้องของข้อเท็จจริงแต่ละชนิดเหล่านี้ขึ้นอยู่กับวิธีในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งสถิติการย้ายถิ่นส่วนมากประกอบด้วยการประมาณและค่าคาดประมาณมากกว่าจะมาจากการวัดที่แม่นยำ การวัดโดยตรงของการย้ายถิ่น2ต้องการระบบบันทึกเมื่อเกิดการเคลื่อนย้ายขึ้น สถิติการย้ายถิ่นที่สมบูรณ์มากที่สุดพัฒนาจากการจดทะเบียนประชากรซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยทั้งหมดได้ถูกบันทึกไว้ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้มีมาตรวัดของการย้ายถิ่นระหว่างประเทศและการย้ายถิ่นภายในประเทศ แต่มาตรวัดการย้ายถิ่นภายในประเทศเป็นที่น่าพอใจมากกว่า ในประเทศที่ไม่มีการจดทะเบียนประชากร ระบบบันทึกทางการบริหารซึ่งไม่ครอบคลุมประชากรทั้งหมดสามารถนำมาใช้ได้เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างได้บ้าง ฉะนั้นหลักฐานการจดทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง3 หลักฐานความมั่นคงทางสังคม4 หลักฐานผู้เสียภาษี5 หรือหลักฐานที่อยู่อาศัย6 อาจให้ข้อมูลเกี่ยวกับการย้ายถิ่นภายในประเทศ ในกรณีของการย้ายถิ่นจากต่างประเทศ สถิติอาจได้จากบัญชีผู้โดยสาร7 หรือรายชื่อผู้โดยสาร7ของเรือเดินสมุทรและเครื่องบิน การนับบุคคลที่ข้ามพรมแดนของประเทศให้เพียงข้อมูลหยาบมากๆ ในพื้นที่ที่มีการจราจรข้ามพรมแดน (803-2*)มาก จะต้องมีขั้นตอนเฉพาะเพื่อแยกผู้ย้ายถิ่นออกจากผู้เดินทาง8ที่ไม่ได้เปลี่ยนสถานที่อยู่อาศัย และบุคคลที่ย้ายผ่าน 801-11) จำนวนของวีซ่า9 หรือใบอนุญาตเข้าประเทศ9 และจำนวนของใบอนุญาตที่อยู่อาศัย10 หรือใบอนุญาตแรงงาน11 ที่ออกให้อาจใช้เป็นเครื่องชี้วัดการย้ายถิ่นของชาวต่างประเทศได้ด้วยเช่นกัน
  1. ในบางประเทศราษฎรที่ต้องการจะเดินทางไปต่างประเทศต้องมีใบอนุญาตออกนอกประเทศ หรือวีซ่าขาออก ซึ่งบันทึกการออกนอกประเทศไว้เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการย้ายถิ่น

813

ข้อมูลที่รวบรวมไว้ในสำมะโนและการสำรวจทำให้มีการพัฒนาสถิติเกี่ยวกับผู้ย้ายถิ่น1ได้ การพัฒนาเช่นนี้ขึ้นอยู่กับคำถามที่ถาม ปรกติจะรวมสถิติผู้ย้ายถิ่นเข้า2 สถิติผู้ย้ายถิ่นออก2 และสถิติสถานที่เกิด3 วิธีการนี้มีข้อจำกัดสำหรับการศึกษาเรื่องการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ เราไม่สามารถศึกษาผู้ย้ายถิ่นออกนอกประเทศได้ ในขณะที่เราจะทราบเกี่ยวกับผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศไม่ว่าเขาจะมาจากประเทศต้นทางใด

814

เมื่อเป็นไปไม่ได้ที่จะกำหนดจำนวนการย้ายถิ่นโดยตรง การประมาณทางอ้อมของการย้ายถิ่นสุทธิอาจทำได้โดยวิธีส่วนที่เหลือ1 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในประชากรระหว่างสองเวลานำมาเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงที่เนื่องมาจากการเพิ่มตามธรรมชาติ ความแตกต่างระหว่างตัวเลขทั้งสองจะเกิดจากการย้ายถิ่น วิธีสถิติชีพ2ประกอบด้วยการคำนวณความแตกต่างระหว่างการเปลี่ยนแปลงประชากรทั้งหมดที่คำนวณได้จากสำมะโนสองครั้งกับการเพิ่มตามธรรมชาติ (701-7) ในช่วงระยะเวลาระหว่างสำมะโนนั้น วิธีอัตราส่วนรอดชีพ3ใช้กันทั่วไปเพื่อประมาณการย้ายถิ่นสุทธิรายอายุ วิธีนี้ไม่ต้องใช้สถิติการตายจริงๆ อัตราส่วนรอดชีพอาจได้จากตารางชีพหรือจากการเปรียบเทียบสำมะโนสองครั้งติดต่อกัน และนำอัตราส่วนนี้ไปใช้กับประชากรกลุ่มย่อยในสำมะโนหนึ่งเพื่อได้จำนวนที่คาดหมายรายอายุ ณ เวลาของอีกสำมะโนหนึ่ง การเปรียบเทียบระหว่างประชากรที่สังเกตได้กับประชากรที่คาดหมายอาจใช้เพื่อประมาณความสมดุลของการย้ายถิ่นตามรายอายุสำหรับประชากรกลุ่มย่อย เมื่อมีสถิติสถานที่เกิด4 (813-3) รายอายุและที่อาศัยอยู่ปัจจุบันในสำมะโนสองครั้งติดต่อกัน จะเป็นไปได้ที่จะคาดประมาณกระแสการย้ายถิ่นทางอ้อม
  1. สมการที่แสดงว่าความแตกต่างระหว่างการเปลี่ยนแปลงประชากรทั้งหมดกับการเพิ่มตามธรรมชาติเท่ากับการย้ายถิ่นบางครั้งเรียกชื่อว่าสมการสมดุล ในการใช้สมการนี้เพื่อคาดประมาณการย้ายถิ่นสุทธิ เราต้องมีข้อสมมุติว่าการละเว้น (230-3) และการนับซ้ำ (230-5) เท่ากันในสำมะโนทั้งสองครั้ง
  2. ความแตกต่างหลักของกระบวนการนี้เรียกว่าวิธีอัตราส่วนรอดชีพตารางชีพ กับวิธีอัตราส่วนรอดชีพสำมะโนระดับประเทศ ในวิธีรอดชีพไปข้างหน้า ประชากรเมื่อเริ่มต้นของช่วงเวลาระหว่างสำมะโนจะใช้เพื่อประมาณประชากรที่คาดว่าจะมีเมื่อสิ้นสุดของช่วงเวลา และกระบวนการจะย้อนกลับหลังในวิธีอัตราส่วนรอดชีพย้อนหลัง วิธีอัตรส่วนรอดชีพเฉลี่ยจะรวมสองวิธีนี้เข้าด้วยกัน

815

ศัพท์ทั่วไปว่าอัตราการย้ายถิ่น1หมายถึงอัตราใดๆ ก็ตามที่วัดความถี่สัมพัทธ์ของการย้ายถิ่นภายในประเทศหนึ่ง นอกจากจะระบุไว้เป็นอย่างอื่น อัตราเหล่านี้จะถือเป็นอัตราการย้ายถิ่นต่อปี2 อัตราเหล่านี้อาจคำนวณได้เป็นอัตราส่วนของจำนวนเฉลี่ยในปีหนึ่งของการเคลื่อนย้ายในช่วงระยะเวลาหนึ่งต่อประชากรเฉลี่ยของระยะเวลานั้น อัตราต่อปีของการย้ายถิ่นสุทธิ3 และอัตราต่อปีของการย้ายถิ่นรวม4คำนวณได้ด้วยวิธีเดียวกันโดยการใช้ข้อมูลที่เหมาะสมเกี่ยวกับการย้ายถิ่นสุทธิและการย้ายถิ่นรวม ดัชนีของประสิทธิภาพการย้ายถิ่น5หรือดัชนีประสิทธิภาพ5คำนวณเป็นอัตราส่วนของการย้ายถิ่นสุทธิต่อการย้ายถิ่นเข้าและออกทั้งหมด พิสัยของดัชนีนี้คือจากศูนย์เมื่อผู้มาถึงและผู้จากไปมีจำนวนเท่ากัน และสูงถึงหนึ่งเมื่อการย้ายถิ่นทั้งหมดเป็นไปทางเดียว
  1. ตัวหารอื่นๆ อาจใช้ในการคำนวณอัตรานี้ อย่างเช่นประชากรเมื่อเริ่มต้น หรือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา หรือจำนวนปีคนที่มีชีวิตอยู่โดยประชากรของพื้นที่นั้น
  2. ดัชนีประสิทธิผลการย้ายถิ่น หรือดัชนีประสิทธิผล

816

สัดส่วนของผู้ย้ายถิ่น1ได้จากการโยงจำนวนของผู้ย้ายถิ่นในช่วงระยะเวลาหนึ่งไปยังประชากรที่ผู้ย้ายถิ่นไปอยู่หรือที่จากมา สัดส่วนของผู้ย้ายถิ่นออก2ได้จากการหารจำนวนที่รายงานว่าเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ด้วยประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นเมื่อเริ่มต้นของช่วงเวลา และยังมีชีวิตอยู่เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลานั้น ดัชนีนี้วัดความน่าจะเป็นของการเคลื่อนย้ายสำหรับประชากรที่เสี่ยง และยังมีประโยชน์อีกหลายอย่าง ดัชนีนี้สามารถนำไปใช้ในการฉายภาพประชากรที่การย้ายถิ่นนำมาพิจารณาแยกต่างหาก แต่ในทางปฏิบัติมักนำประชากรอื่นมาใช้เป็นตัวหารเพื่อคำนวณสัดส่วนของผู้ย้ายถิ่น ในทำนองเดียวกัน สัดส่วนของผู้ย้ายถิ่นเข้า3บางครั้งได้มาจากการหารจำนวนของผู้ย้ายถิ่นเข้าในพื้นที่หนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วยประชากรของพื้นที่นั้นเมื่อสิ้นสุดของช่วงเวลานั้น แต่ตัวหารอาจเป็นประชากรเมื่อเริ่มต้นของช่วงเวลานั้น หรือค่าเฉลี่ยของประชากรเมื่อเริ่มต้นและเมื่อสิ้นสุดช่วงเวลานั้นได้ด้วยเช่นกัน สัดส่วนของผู้ย้ายถิ่นเกิดเข้า4สามารถคำนวณได้จากข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เกิด ด้วยการหารจำนวนคนที่เกิดนอกพื้นที่นั้นด้วยประชากรที่แจงนับได้ของพื้นที่นั้น สัดส่วนของผู้ย้ายถิ่นเกิดออก5สามารถคำนวณได้โดยการหารจำนวนของคนในประเทศหนึ่งที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่เกิดของตนด้วยจำนวนรวมของคนที่เกิดในพื้นที่นั้น หรือหารด้วยจำนวนคนที่ยังอาศัยอยู่ที่นั้น เมื่อทราบลักษณะของผู้ย้ายถิ่นอย่างเช่น อายุ (322-1) อาชีพ (352-2) หรือ ระดับการศึกษา (342-1) ดัชนีความแตกต่างของการย้ายถิ่น6ใช้เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของผู้ย้ายถิ่นกับประชากรอื่นในถิ่นปลายทาง ดัชนีนี้เท่ากับสัดส่วนของผู้ย้ายถิ่นในประชากรทั้งหมด ดัชนีความแตกต่างของการย้ายถิ่นมีค่าเท่ากับศูนย์เมื่อประชากรที่มีลักษณะอย่างหนึ่งมีพฤติกรรมการย้ายถิ่นเหมือนกับประชากรอื่นๆ ศัพท์คำว่ากระบวนการคัดสรรของการย้ายถิ่น7แสดงการเปรียบเทียบระหว่างผู้ย้ายถิ่นเข้ากับประชากรที่ผู้ย้ายถิ่นจากมาที่พื้นที่ต้นทาง (801-4) เมื่อเปรียบเทียบลักษณะของผู้ย้ายถิ่นเข้า กับลักษณะของประชากรที่ถิ่นที่มาถึง (801-5) บางที่ใช้ศัพท์ว่าความแตกต่างของการย้ายถิ่น8 หรือความแตกต่างการย้ายถิ่น8
  1. ตัวอย่างเช่น การคัดสรรของการย้ายถิ่นจากเมกซิโกลดลงเพราะว่าความแตกต่างระหว่างคุณลักษณะระหว่างผู้ย้ายถิ่นกับผู้ไม่ย้ายถิ่นเจือจางลงเรื่อยๆ และถิ่นเดิมของชาวเมกซิกันยังหลากหลายมากขึ้น เพราะการแพร่กระจายของเครือข่ายการย้ายถิ่นของชาวเมกซิกันในประเทศสหรัฐอเมริกา

817

การวิเคราะห์การย้ายถิ่นระยะยาว1ต้องการข้อมูลการเคลื่อนย้ายติดต่อกันของบุคคลหนึ่งในเวลาที่ผ่านไป ปรกติข้อมูลเช่นนี้จะได้จากการจดทะเบียนประชากร (213-1) หรือ การสำรวจย้อนเวลา (203-8)เท่านั้น มาตรวัดการย้ายถิ่นอย่างละเอียดหลายอย่างได้จากข้อมูลประเภทนี้ อย่างเช่นความน่าจะเป็นของการย้ายถิ่นครั้งแรก2ซึ่งนิยามว่าเป็นความน่าจะเป็นที่กลุ่มของผู้ไม่ย้ายถิ่น3อายุ x ปี จะไปเกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นเป็นครั้งแรกก่อนที่จะมีอายุ x+n ปี ความน่าจะเป็นเหล่านี้สามารถใช้เพื่อคำนวณตารางผู้ไม่ย้ายถิ่น4 ตารางนี้เมื่อรวมกับตารางชีพ (432-3) จะนำไปสู่อัตราของผู้ไม่ย้ายถิ่น5ในตารางชีพแบบลดลงสองทาง ในทำนองเดียวกันความน่าจะเป็นของการย้ายถิ่นโดยลำดับของการเคลื่อนย้าย6อาจคำนวณได้เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ย้ายถิ่นของลำดับที่ซึ่งไม่มีการเคลื่อนย้ายในลำดับต่อไปภายในช่วงเวลาการย้ายถิ่นที่นิยามไว้ อัตราการย้ายถิ่นทุกลำดับ7เป็นอัตราส่วนของการเคลื่อนย้ายของทุกลำดับในปีหนึ่งต่อขนาดประชากรเฉลี่ยของรุ่น (117-2) ในปีนั้น ค่าสะสมของอัตราเหล่านี้สำหรับคนรุ่นหนึ่งขึ้นไปถึงเวลาหนึ่งให้ค่าประมาณของจำนวนเฉลี่ยของการเคลื่อนย้าย8เมื่อไม่มีภาวะการตาย อัตราการรอดชีพสามารถนำไปรวมกับตารางการย้ายถิ่นทุกลำดับ9รายอายุ เพื่อประมาณจำนวนเฉลี่ยของการเคลื่อนย้ายที่ยังคงอยู่สำหรับบุคคลอายุหนึ่ง เมื่อมีภาวะการตายอย่างที่เป็นอยู่

818

ในการศึกษาผู้ย้ายถิ่นระหว่างสองพื้นที่ในช่วงเวลาหนึ่ง มาตรวัดที่ใช้กันมากคือดัชนีความเข้มของการย้ายถิ่น1ที่ได้จากการหารจำนวนของผู้ย้ายถิ่นจากพื้นที่ A ไปยังพื้นที่ B ด้วยผลคูณของจำนวนผู้อยู่อาศัยใน B เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลานั้น และจำนวนผู้อยู่อาศัยของ A เมื่อเริ่มต้นของช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่เมื่อสิ้นสุดของช่วงเวลานั้น ดัชนีนี้หารด้วยอัตราส่วนของจำนวนรวมของผู้ย้ายถิ่นต่อรากที่สองของประชากรของประเทศ จะได้ดัชนีนิยมการย้ายถิ่น2 เมื่อตัวตั้งจำกัดอยู่ที่กระแสการย้ายถิ่นสุทธิ มาตรวัดที่คำนวณได้เรียกว่าดัชนีความเร็วสุทธิ3 ประสิทธิภาพของกระแสการย้ายถิ่น4วัดได้ด้วยการโยงค่าสัมบูรณ์ของกระแสการย้ายถิ่นสุทธิไปยังการแลกเปลี่ยนการย้ายถิ่นรวม (805-10).
  1. ดัชนีนี้อาจแปลความว่าเป็นความน่าจะเป็นที่เหมือนกันที่บุคคลสองคนที่มีชีวิตอยู่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาจะถูกเลือกขึ้นมาโดยการสุ่ม คนหนึ่งในหมู่คนที่อาศัยในพื้นที่ A เมื่อเริ่มต้นของระยะเวลา และอีกคนหนึ่งในหมู่คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ B เมื่อสิ้นสุดของระยะเวลา ข้อมูลที่หาได้อาจเป็นตัวบังคับให้เลือกตัวหารต่างๆ

819

แบบจำลองการย้ายถิ่น1มีสองประเภทใหญ่ ประเภทแรกโยงกระแสการย้ายถิ่น (803-9) ระหว่างสองพื้นที่ไปยังตัวแปรทางสังคม เศรษฐกิจ หรือประชากร ตัวแปรเหล่านี้มักจะจัดประเภทเป็นปัจจัยผลัก2ที่มีลักษณะการผลักออก2จากถิ่นเดิม และจัดประเภทเป็นปัจจัยดึง3ที่มีผลในการดึงดูด3ให้เข้าสู่ถิ่นปลายทาง และจัดเป็นอุปสรรคแทรกกลาง4ระหว่างพื้นที่ทั้งสอง แบบจำลองที่ธรรมดาที่สุดในหมู่แบบจำลองเหล่านี้คือแบบจำลองแรงดึงดูด5 กระแสระหว่างสองพื้นที่เป็นสัดส่วนโดยตรงกับขนาดของประชากรของพื้นที่ทั้งสอง และเป็นสัดส่วนผกผันกับระยะทาง6ระหว่างพื้นที่ทั้งสองยกกำลังขึ้นไประดับหนึ่ง แบบจำลองอื่นพิจารณาว่ากระแสการย้ายถิ่นเป็นสัดส่วนกับโอกาสในพื้นที่ปลายทางและเป็นสัดส่วนผกผันกับโอกาสแทรกกลาง7ระหวางถิ่นเดิมและถิ่นปลายทาง แบบจำลองในประเภทกว้างๆ ประเภทที่สองคือแบบจำลองสโตคาสติค (730-5) และอ้างถึงตัวบุคคลมากกว่าประชากร แบบจำลองประเภทนี้เชื่อมความน่าจะเป็นของการย้ายถิ่นไปยังลักษณะส่วนตัวบางอย่าง อย่างเช่น อายุ หรือประวัติการย้ายถิ่นก่อนหน้านั้น
  1. หรือแบบจำลองประเภทพาเรโต
  2. ระยะทางอาจวัดด้วยวิธีหลากหลาย เช่น ด้วยเส้นตรง ระยะทางถนน จำนวนพื้นที่ที่อยู่ระหว่างกลาง ฯลฯ

บทที่ 9 • มุมมองด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชากรศาสตร์

901

ส่วนหนึ่งของทฤษฎีทางประชากร (105-1) จะเกี่ยวข้องกับตัวกำหนดและผลที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงประชากร ในอดีตทฤษฎีประชากรส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนรวมประชากรกับทรัพยากร1 ซึ่งได้แก่ วิธีการที่จะทำให้ประชากรดำรงอยู่ได้ หรือผลผลิต2 หรือการสร้างสินค้าและบริการ แต่เมื่อไม่นานมานี้จุดเน้นของทฤษฎีทางประชากรได้เคลื่อนมาอยู่ที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเพิ่มประชากร (701-1) และส่วนประกอบของการเพิ่มนั้น กับความเติบโตทางเศรษฐกิจ (903-1) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการบริโภค3 การออม4 การลงทุน5 และตลาดแรงงาน6

902

การพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างขนาดประชากรและทรัพยากร นำไปสู่แนวความคิดเกี่ยวกับประชากรมากเกิน1 และประชากรน้อยเกิน2 คำเหล่านี้นิยามไว้ที่ ระดับของการพัฒนา3 ที่กำหนดไว้ตายตัวระดับหนึ่ง เมื่อประชากรมีขนาดไม่ใหญ่หรือไม่เล็กไปกว่าที่จะทำให้เกิดข้อได้เปรียบ ก็จะเรียกว่าเป็นขนาดประชากรเหมาะที่สุด4 หรือบางครั้งเรียกสั้น ๆ ว่า ขนาดเหมาะที่สุด4 ข้อได้เปรียบที่เกิดขึ้นจากขนาดที่เหมาะสมที่สุดอาจมีลักษณะในเชิงเศรษฐกิจ และเมื่อเป็นเช่นนั้นจะเรียกว่าเป็นขนาดเหมาะที่สุดทางเศรษฐกิจ5 การอภิปรายขนาดที่เหมาะที่สุดทางเศรษฐกิจ โดยทั่วไปจะกล่าวถึงในแง่ของสวัสดิการทางเศรษฐกิจ แต่ทว่าเรื่องนี้ยากที่จะวัดด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ ดังนั้นบางครั้งจึงนำระดับการครองชีพ6 หรือ มาตรฐานการครองชีพ6 มาใช้แทน ระดับการครองชีพประมาณได้โดยรายได้ประชาชาติต่อหัวที่แท้จริง7 ได้แก่ ปริมาณรวมของสินค้าและบริการที่ผลิตได้ในช่วงเวลาหนึ่ง (หรือมูลค่าเงินรายได้ปรับตามอำนาจซื้อ) หารด้วยจำนวนประชากรรวมในระหว่างช่วงเวลานั้น
  1. นักวิชาการบางท่านใช้แนวความคิดขนาดเหมาะสมที่สุดทางการเมือง และขนาดเหมาะสมที่สุดทางสังคมเช่นเดียวกับขนาดเหมาะสมที่สุดทางเศรษฐกิจ
  2. คำว่า "มาตรฐานการครองชีพ" นักเศรษฐศาสตร์หลายคนจำกัดขอบเขตว่าหมายถึงเป้าหมายที่ยอมรับ หรือชุดความต้องการที่รับรู้กัน ที่แตกต่างจากระดับการครองชีพที่เป็นอยู่จริงๆ บางคนใช้ศัพท์เหล่านี้แทนกันได้
  3. การวัดอื่นๆ อย่างเช่น มีการใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว คำว่า "Per capita" แม้จะผิดหลักไวยากรณ์ แต่ก็ใช้แทนคำว่า "ต่อหัว"

903

นักเศรษฐศาสตร์ได้เน้นความสัมพันธ์ที่เป็นพลวัตระหว่างความเติบโตทางเศรษฐกิจ1 หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ1 กับอัตราเพิ่มประชากรและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทุกวันนี้นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจแนวความคิดที่อยู่นิ่งเกี่ยวกับขนาดเหมาะที่สุด น้อยกว่าแนวความคิดที่เป็นพลวัตในเรื่องอัตราเพิ่มที่เหมาะที่สุด2ของประชากร ได้แก่อัตราเพิ่มประชากรซึ่งจะสอดคล้องกับอัตราเพิ่มของระดับการครองชีพสูงสุด ความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นเรื่องที่เป็นห่วงกันมากในประเทศที่มีระดับการครองชีพต่ำ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นประเทศด้อยพัฒนา3 หรือประเทศกำลังพัฒนา3
  1. ประเทศด้อยพัฒนา หรือ ประเทศรายได้ต่ำ ตรงข้ามกับประเทศพัฒนาแล้ว หรือ ประเทศพัฒนามากกว่า

904

ประชากรมากที่สุด1 ของพื้นที่หนึ่งซึ่งบางครั้งเรียกว่าความสามารถในการรองรับ1 โดยทั่วไปจะสื่อให้เข้าใจว่าหมายถึง จำนวนบุคคลมากที่สุด ที่จะดำรงชีพอยู่ได้ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะอย่างหนึ่ง แต่บางครั้งก็ใช้คำนี้เพื่อแสดงจำนวนคนมากที่สุดที่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในระดับการครองชีพที่สมมุติขึ้นระดับหนึ่ง ในทางกลับกันประชากรน้อยที่สุด2 โดยทั่วไปจะหมายถึงจำนวนบุคคลน้อยที่สุดในพื้นที่หนึ่ง ซึ่งจะไปสอดคล้องการรอดชีพของกลุ่ม3

905

ศัพท์คำว่าความกดดันทางประชากร1 เชื่อมโยงกับแนวความคิดในเรื่องของขนาดประชากรและทรัพยากร (901-1) ที่มีอยู่ การที่จะพูดว่าความกดดันนี้แรงหรืออ่อนในพื้นที่หนึ่ง เท่ากับเสนอว่าประชากรของพื้นที่นั้นอยู่ใกล้หรือไกลจากจุดที่สอดคล้องมากที่สุดกับทรัพยากรที่มีอยู่ตามทฤษฎีประชากรแนวมัลทัส2ที่เรียกกันต่อมาภายหลังจากผู้เริ่มแนวคิดนี้คือ โทมัส มัลทัส จะต้องเกิดแรงกดดันทางประชากรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อปัจจัยในการดำรงชีพ3 การเปลี่ยนแปลงปริมาณปัจจัยในการดำรงชีพเมื่อใดก็ตามจะทำให้เกิดการเพิ่มประชากร (701-1) จนกระทั่งความสมดุลทางประชากร4เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อระดับการครองชีพขึ้นไปถึงระดับการดำรงชีพ5 ซึ่งได้แก่ระดับที่เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ความสมดุลนั้นจะคงอยู่ได้ด้วยการกำจัดประชากรส่วนเกิน10 ออกไป ไม่ว่าจะโดยการยับยั้งเชิงทำลาย6 ซึ่งบางครั้งเรียกว่าการยับยั้งแบบมัลทัส6 (ความอดอยาก โรคระบาด และสงคราม) หรือโดยการยับยั้งเชิงป้องกัน7 ด้วยการประพฤติตามหลักศีลธรรม8 ซึ่งประกอบด้วยการเลื่อนอายุแต่งงาน9ควบคู่ไปกับการงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน
  1. และ 7. คำว่าการยับยั้งเชิงทำลาย (positive check) และการยับยั้งเชิงป้องกัน (preventive check) ในภาษาอังกฤษโดยทั่วไปใช้เมื่ออ้างถึงหลักการของมัลทัสเท่านั้น

906

ถึงแม้ศัพท์คำว่าคตินิยมแนวมัลทัส1 จะเริ่มจากการอ้างถึงทฤษฎีของมัลทัส แต่ทุกวันนี้คำนี้แสดงถึงแนวความเชื่อที่ว่า การควบคุมอัตราของการเพิ่มประชากรเป็นสิ่งที่จำเป็นคตินิยมแนวมัลทัสใหม่2 จะยอมรับความจำเป็นในการควบคุมการเพิ่มประชากรด้วยการใช้วิธีคุมกำเนิด (627-3)
  1. ศัพท์นี้บางครั้งใช้กันผิดๆ เพื่อหมายถึงการทุ่มเทให้กับโครงการวางแผนครอบครัวเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

907

กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ที่ทั้งภาวะเจริญพันธุ์และภาวะการตายอยู่ในระดับสูง มาเป็นสถานการณ์ที่ภาวะทั้งสองอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสังเกตได้ว่าเกิดขึ้นในหลายๆประเทศเรียกว่าการเปลี่ยนผ่านทางประชากร1 หรือการเปลี่ยนผ่านประชากร1 ในกระบวนการเคลื่อนจากขั้นตอนก่อนการเปลี่ยนผ่าน2 ไปสู่ขั้นตอนหลังการเปลี่ยนผ่าน3 จะเกิดช่องว่างระหว่างการลดลงของภาวะการตายกับภาวะเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการเติบโตช่วงเปลี่ยนผ่าน4ของประชากร นักเศรษฐศาสตร์ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงในผลิตภาพ5 ซึ่งได้แก่ ผลิตผลต่อสมาชิกของกำลังแรงงาน หรือ ต่อหัวประชากร ที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้
  1. บางครั้งเรียกการปฏิวัติชีพ มีความแตกต่างระหว่างการเปลี่ยนผ่านภาวะเจริญพันธุ์ และการเปลี่ยนผ่านภาวะการตาย ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทางประชากรนำเอาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอัตราชีพไปสัมพันธ์กับการเปลี่ยนรูปแบบทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดในกระบวนการของอุตสาหกรรมาภิวัตน์และนคราภิวัตน์

910

ในสุพันธุศาสตร์1 สาขาวิชาซึ่งหาทางปรับปรุงคุณภาพของประชากร จะให้ความสนใจโดยตรงกับบทบาทของกรรมพันธุ์2 การถ่ายทอดลักษณะทางกรรมพันธุ์3 อย่างเช่น สีของตาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ลักษณะที่ได้รับมา4ไม่สามารถถ่ายทอดได้ดังประสงค์ โดยทั่วไปฆาตลักษณ์5จะนำไปสู่การตายตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนในช่วงแรกๆ

911

การถ่ายทอดคุณลักษณะทางกรรมพันธุ์ดำเนินการผ่านยีน1 ซึ่งถ่ายจากพ่อแม่ไปสู่ลูก พันธุศาสตร์2 เป็นวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดปัจจัยทางพันธุกรรมและผลที่เกิดขึ้น โครโมโซม3เป็นเส้นใยยาวของดีเอ็นเอ (DNA deoxyribonucleic acid) ซึ่งอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์จะเป็นตัวนำพายีน ตำแหน่งของยีนบนโครโมโซมเรียกว่าโลคัส4 ยีนที่มีโลคัสเหมือนกันมีผลทำให้เกิดคุณลักษณะอย่างเดียวกัน แม้ว่าผลนั้นจะเป็นไปได้ด้วยวิธีต่างๆ ตามอัลลีน5ที่แตกต่างกันของยีนในโลคัสเดียวกันนี้ เซลล์ใหม่ซึ่งก่อรูปขึ้นโดยการรวมตัวของเซลล์สืบพันธุ์6สองเซลล์ในระหว่างกระบวนการของการปฏิสนธิ (602-1) เรียกว่าตัวอ่อน7
  1. ยีนทั้งหมดในตัวบุคคลรวมเรียกว่าสมรรถภาพทางยีนของบุคคลนั้น

912

ชุดยีนสองตัวของบุคคลหนึ่งที่อยู่ในโลคัสเดียวกัน เรียกว่าลักษณะทางพันธุกรรม1 ลักษณะทางพันธุกรรมจะเรียกว่าเป็นพันธุ์แท้2 ถ้าอัลลีนที่โลคัสหนึ่งเหมือนกัน และถ้าอัลลีนในโลคัสไม่เหมือนกันจะเรียกว่าเป็นพันธุ์ผสม3 ลักษณะที่ปรากฏ4ที่เป็นลักษณะที่เห็นได้จะถูกกำหนดโดยลักษณะทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ถ้าบุคคลพันธุ์ผสม (AA’) ไม่สามารถแยกจากบุคคลพันธุ์แท้ (AA) อัลลีน A กล่าวได้ว่าเป็นลักษณะเด่น5เหนืออัลลีน A’ และ A’ จะกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะด้อย6 ยีนสามารถที่จะเปลี่ยนไปได้อย่างไม่มีกฎเกณฑ์โดยฉับพลันและชัดเจนที่เรียกว่าการกลายพันธุ์7 การจับคู่แบบเปิดกว้าง8 หรือการจับคู่แบบสุ่ม8 จะช่วยประกันการกระจายตัวของยีนอย่างมีรูปแบบของประชากร

913

มักมีการแยกความแตกต่างของนโยบายเกี่ยวกับการคัดเลือกพันธุ์มนุษย์อยู่เสมอระหว่างสุพันธุกรรมเชิงบวก1 ซึ่งมุ่งเพิ่มจำนวนของคนที่เชื่อว่ามีคุณลักษณะที่ต้องการ และสุพันธุกรรมเชิงลบ2 ซึ่งมุ่งจำกัดการสืบทอดพันธุ์ของบุคคลที่คาดว่าจะถ่ายทอดลักษณะไม่พึงประสงค์ หรือมีความบกพร่องทางกรรมพันธุ์3 มีความสนใจอย่างมากในการอภิปรายเกี่ยวกับการทำหมันเพื่อคัดเลือกพันธุ์4 ได้แก่ การทำหมันบุคคลที่น่าจะถ่ายทอดลักษณะไม่พึงประสงค์ไปสู่ทายาท ข้อคัดค้านต่อวิธีการนี้จะอยู่ที่เหตุผลด้านศีลธรรมและเหตุผลเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่ค่อนข้างต่ำในการลดความถี่ของยีนที่มีลักษณะด้อย (912-6) ในวิธีการต่างๆที่เสนอสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ การตรวจสอบก่อนสมรส5 เป็นวิธีหนึ่งซึ่งจะให้คู่ที่จะแต่งงานกันได้รับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับคุณภาพของลูกที่จะเกิดมา เพื่อให้คู่ที่จะแต่งงานไม่มีการแต่งงานแบบเสื่อมพันธุ์6 กล่าวคือให้มีการเตือนเรื่องผลผลิตจากการแต่งงานที่จะมีข้อบกพร่อง

914

ความน่าจะเป็นซึ่งบุคคลในวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่งจะเติบโตจนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ขึ้นอยู่กับลักษณะทางพันธุกรรม (912-1) ของเขา ความแตกต่างของการสืบทอดพันธุ์เรียกว่าการคัดสรร1 ค่าคัดสรร2 หรือค่าสมรรถภาพของร่างกาย2ของลักษณะทางพันธุกรรม เป็นจำนวนลูกของบุคคลที่มีลักษณะทางพันธุกรรมซึ่งจะรอดชีพไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์ ค่าคัดสรรเฉลี่ย3หรือค่าสมรรถภาพของร่างกายเฉลี่ย3ของประชากรหนึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยของค่าคัดสรรสำหรับลักษณะทางพันธุกรรมของสมาชิกประชากรนั้น น้ำหนักทางพันธุกรรม4ของประชากรคือการลดลงของค่าเฉลี่ยของสมรรถภาพของร่างกายอันเป็นผลจากการมีลักษณะทางพันธุกรรมที่หลากหลาย การขึ้นๆ ลงๆ ของความถี่ของยีนเฉพาะประเภทหนึ่งที่พบในคนรุ่นต่างๆ กันของประชากรถือเป็นการกระเพื่อมทางพันธุกรรม5 โครงสร้างยีน6 ของประชากรหนึ่งหมายถึงการกระจายตัวของความถี่ของอัลลีน (911-5) ต่างๆ ในโลคัส (911-4) หนึ่งภายในสมาชิกของประชากร โครงสร้างลักษณะทางพันธุกรรม7 ของประชากร หมายถึงการกระจายตัวของลักษณะพันธุกรรมที่แตกต่างกันในโลคัสเดียวกัน

915

ในกรณีของบุคคลที่มีเลือดชิด ซึ่งได้แก่บุคคล ซึ่งมีพ่อแม่ บรรพบุรุษคนเดียวกัน กล่าวได้ว่ายีนทั้งสองตัวเป็นยีนที่เหมือนกัน1โดยการสืบสายพันธุ์ ถ้าทั้งสองมาจากบรรพบุรุษคนเดียวกันและอยู่ในโลคัสเดียวกัน ความน่าจะเป็นที่บุคคลคนหนึ่งถูกเลือกอย่างไม่จงใจในประชากรหนึ่งให้นำยีนสองตัวที่เหมือนกันโดยการสืบสายพันธุ์คือค่าสัมประสิทธิ์ของการมีเลือดชิด2ของประชากร ค่าสัมประสิทธิ์ของวงศาคณาญาติ3 ของประชากรคือความน่าจะเป็นที่คนสองคนในประชากรนั้นจะถูกเลือกโดยไม่จงใจให้นำยีนที่เหมือนกันมาอยู่ในโลคัสเดียวกันโดยการสืบพันธุ์

920

ในการศึกษาจำนวนมากประชากรจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มสถานภาพทางสังคม1 หรือแบ่งเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจสังคม1 ตามอาชีพ รายได้ การศึกษา หรือ ตัวชี้วัดสถานภาพทางเศรษฐกิจอย่างอื่น คำว่าชนชั้นทางสังคม2 มีความหมายทางสังคมวิทยาซึ่งเป็นเพียงการประมาณโดยแบบของการรวมกลุ่มที่ใช้ในงานทางด้านประชากรศาสตร์ทั่วๆ ไป การแบ่งสังคมออกเป็นกลุ่มเช่นนั้น เรียกว่าการแบ่งชั้นทางสังคม3 การเคลื่อนย้ายระหว่างกลุ่มสถานภาพทางสังคมที่ต่างกัน เรียกว่าการเคลื่อนย้ายทางสังคม4 ซึ่งมีความแตกต่างกันระหว่างการเคลื่อนย้ายขึ้นสูง5 และการเคลื่อนย้ายลงต่ำ6 ในลำดับชั้นทางสังคม การเคลื่อนย้ายของประชากรเด็กในแง่ของชนชั้นทางสังคมของพ่อแม่เรียกว่าการเคลื่อนย้ายทางสังคมระหว่างรุ่น7
  1. วรรณะเป็นกลุ่มสังคมปิดซึ่งสถานะและตำแหน่งทางสังคมในลำดับชั้นทางสังคมเป็นไปโดยกำเนิด
  2. การเคลื่อนย้ายทางสังคมโดยบุคคลหนึ่งในช่วงชีวิตของเขาเรียกว่าการเคลื่อนย้ายทางสังคมภายในชั่วคน (intra-generational social mobility)

921

การเคลื่อนย้ายแรงงาน1 เป็นศัพท์ทั่วไปซึ่งครอบคลุมไม่เพียงการเปลี่ยนอาชีพ2 ของบุคคลหนึ่งภายใต้ชื่อการเคลื่อนย้ายด้านอาชีพ3 แต่ยังรวมถึงการเคลื่อนย้ายงาน4 หรือการเปลี่ยนแปลงนายจ้าง และการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรม5 หรือการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม

922

ความสนใจในปัญหาเกี่ยวกับบุคคลสูงอายุ (324-8) และภาวะสูงวัย (326-3) ทำให้เกิดสาขาวิชาเฉพาะเรียกว่าพฤฒวิทยา1 ซึ่งรวมสาขาทางด้านการแพทย์เฉพาะที่เรียกว่าพฤฒเวชศาสตร์2

930

นโยบายประชากร (105-2) เป็นชุดของมาตรการต่างๆ ที่องค์กรสาธารณะสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะให้มีอิทธิพลต่อแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงประชากร หรือหลักการต่างๆ ที่เสนอขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นฐานสำหรับมาตรการเหล่านั้น มีความแตกต่างระหว่างนโยบายส่งเสริมประชากร1 ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประชากร หรือเพื่อเร่งอัตราการเติบโตของประชากร หรือเพื่อต่อต้านแนวโน้มที่ประชากรจะลดลง หรือการลดลงของประชากร2 และนโยบายการควบคุมประชากร3 เพื่อที่จะต่อต้านการเพิ่มประชากร หรือลดอัตราการเพิ่มประชากร ในกลุ่มนโยบายส่งเสริมประชากรนั้น นโยบายส่งเสริมการเกิด4 ซึ่งพยายามเพิ่มอัตราเกิด (332-1) มีความสำคัญเป็นพิเศษ ตรงกันข้ามกับนโยบายส่งเสริมการเกิด มีนโยบายต่อต้านการเกิด5 ซึ่งออกแบบเพื่อลดจำนวนเกิด นโยบายประชากรอาจรวมส่วนประกอบของนโยบายการกระจายตัวของประชากร6 ซึ่งออกแบบเพื่อให้มีอิทธิพลต่อการกระจายตัวของประชากรตามพื้นที่ รวมทั้งส่วนประกอบของนโยบายการย้ายถิ่น7 นโยบายสุขภาพ8 ซึ่งมุ่งที่จะลดภาวะเจ็บป่วย (420-1) และภาวะการตาย (401-1) เป็นอีกส่วนประกอบหนึ่งของนโยบายประชากร
  1. เรียกว่าเป็นนโยบายมัลทูเซียนก็ได้ ดู 906-1

931

ในหลายประเทศมีการให้เงินช่วยเหลือประจำ1 ผลประโยชน์1 หรือเงินทุน2 แก่พ่อแม่ของเด็ก โดยทั่วไปเงินช่วยเหลือประจำเป็นจำนวนเงินซึ่งจ่ายประจำตามระยะเวลา ในขณะที่เงินทุนจะจ่ายตามโอกาสเพียงครั้งเดียว เงินช่วยเหลือประจำครอบครัว3 หรือเงินช่วยเหลือประจำของเด็ก3 หมายถึงจำนวนเงินที่จ่ายเป็นประจำให้แก่พ่อแม่ตามจำนวนลูกที่ระบุไว้ ในระบบงบบประมาณจำนวนมาก ได้มีระบบการคืนภาษี4 สำหรับเด็กที่พ่อแม่ต้องเลี้ยงดู ผลประโยชน์ทางการเงินที่จ่ายในบางประเทศ เช่น การให้เงินทุนมารดา5 หรือเงินทุนการเกิด5 จ่ายเมื่อมีการเกิดของเด็ก เงินช่วยเหลือก่อนเกิด6 จ่ายให้แก่ผู้ที่จะเป็นมารดาในช่วงตั้งครรภ์ และเงินกู้เพื่อการสมรส7 ที่ให้แก่คู่แต่งงานใหม่เพื่อที่จะช่วยในการสร้างครอบครัว

932

มาตรการสาธารณะอื่นๆ หลายอย่าง เช่น โครงการเคหะ หรือ มาตรการในสาขาของการสาธารณสุข1 อาจมีผลกระทบต่อปรากฏการณ์ทางประชากร การจัดสรรบริการให้สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ อย่างเช่น คลินิกก่อนคลอด2 และสตรีที่ให้กำเนิดบุตร (603-4*) อาจช่วยในการลดการตายในครรภ์ การตายทารก และ การตายมารดา (cf. 410 411 413 และ 424-5) บริการซึ่งออกแบบมาช่วยมารดา เรียกว่าบริการมารดา3 บริการเพื่อช่วยเด็กเป็นบริการสวัสดิการทารก4 หรือบริการสวัสดิการเด็ก4

933

โครงการประชากร1ที่ออกแบบเพื่อลดภาวะเจริญพันธุ์ในประเทศกำลังพัฒนาจะรวมการให้การศึกษาเรื่องวางแผนครอบครัว2และบริการวางแผนครอบครัว3 ทั้งโครงการที่ทำเป็นเอกเทศหรือร่วมกับโครงการสุขภาพอนามัย4 และโครงการสวัสดิการสังคม5 โดยเฉพาะโครงการอนามัยแม่และเด็ก6ซึ่งออกแบบเพื่อลดภาวะการตาย บางประเทศพยายามที่จะจัดให้มีสิ่งจูงใจ7 และสิ่งตัดทอนใจ8ประเภทต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ใช้วิธีการจำกัดขนาดครอบครัว การใช้แรงกดดันทางสังคม9 และการลงโทษ10ทางกฎหมายต่อพฤติกรรมการเจริญพันธุ์ที่ไม่เป็นที่ยอมรับก็มีการใช้กัน ศัพท์คำว่า"ประชากรศึกษา11" ไม่มีการแปลไว้ในบางประเทศโดยเฉพาะในประเทศเยอรมัน คำนี้หมายถึงการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ (ในโรงเรียนและนอกโรงเรียน) เกี่ยวกับผลกระทบของพฤติกรรมการสืบทอดพันธุ์ของบุคคลต่อสังคม

ดัชนี

A

B

C

E

G

P

R

S

U